มายรัม ประเทศไทย เผยผลวิจัยชีวิตยุคดิจิตอลผ่านแอพฯ Digital Life Survey พบผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนในแต่ละวันสูงมาก เฉลี่ยเปิดใช้แอพพลิเคชั่นทุก 5 นาที โดยใช้ ไลน์ เฟซบุ๊ก และเกมต่างๆ โดยเปิดใช้บ่อยสุดช่วง 16.00-20.00 น.

มายรัม ประเทศไทย เผยนวัตกรรมการตลาดวิจัยชีวิตยุคดิจิตอลผ่านแอพพลิเคชั่น Digital Life Survey ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ครั้งแรกในวงการการตลาดไทย ด้วยโครงการนำร่องสำรวจพฤติกรรมคนกรุงกับการใช้งานสมาร์ทโฟน พบว่าเราใช้สมาร์ทโฟนในแต่ละวันมากกว่าที่คิด แอพพลิเคชั่นที่ทำให้เกิดการสัมผัสหน้าจอมากที่สุด ได้แก่ “Line”, “Facebook” และ “Game” และเฉลี่ยเปิดใช้แอพพลิเคชั่นทุก 5 นาที หลังการศึกษาข้อมูลเจาะลึกนี้ ทำให้ มายรัม ประเทศไทย ดิจิตอลเอเยนซี่ในเครือ WPP เผยเตรียมเปิดแอพพลิเคชั่นในวงกว้างเพื่อนำร่องในกลุ่มมายรัมทั่วโลก


นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลโซลูชั่นส์ บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาโปรแกรมและรายละเอียดของการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานมือถือของคนไทยในครั้งนี้ว่า มายรัมได้สร้างสรรค์และออกแบบแอพพลิเคชั่น Digital Life Survey ของระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ โดยพร้อมแชร์ผลสำรวจให้กับนักการตลาดไทยครั้งแรก เนื่องจากผลสำรวจหลายแห่งระบุสมาร์ทโฟน คือ อุปกรณ์สำคัญในการเข้าอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคไทยทุกกลุ่ม จำนวนมากกว่า 44.6 ล้านคน ขณะที่ ไอดีซี ระบุถึงตลาดสมาร์ทโฟนของไทยว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน นับเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สมาร์ทโฟนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์สื่อสารในปัจจุบัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยกลับมีข้อมูลด้านพฤติกรรมเชิงลึก ของผู้บริโภคกับสมาร์ทโฟนยังมีอยู่ไม่มาก ด้วยเหตุนี้ มายรัม จึงทำโครงการนำร่องสำรวจพฤติกรรมคนกรุงกับการใช้งานสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่น Digital Life Survey ขึ้น

...

ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลโซลูชั่นส์ บ.มายรัม ประเทศไทย กล่าวต่อว่า ด้วยการออกแบบแอพพลิเคชั่นเก็บการใช้งานสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ได้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับอายุ เพศ อาชีพและลักษณะการใช้งานประจำวัน เป็นผลดีกับการวางแผนการสื่อสารในยุคดิจิตอลได้แม่นยำมากขึ้น มากกว่าข้อมูลที่ได้จากการกรอกแบบสอบถามหรือสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ถือได้ว่า นับเป็นครั้งแรกของการนำร่องสำรวจเจาะลึกให้การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด ที่เป็นผลดีกับการวางแผนการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายที่เน้นการสร้างสรรค์งานดิจิตอลโซลูชั่นส์ใหม่ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวาระครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง ธอมัสไอเดีย ก่อนเป็น มายรัม (ประเทศไทย) ที่พร้อมต่อยอดโครงการนำร่องนี้สู่สมาชิกเครือข่ายของกลุ่มมายรัมดิจิตอลเอเยนซี่ระดับโลกเครือข่าย WPP อีก 17 ประเทศทั่วโลก 

ผลที่ได้จากการเก็บข้อมูลการใช้งานจริงผ่านแอพพลิเคชั่น Digital Life Survey คือ การติดตามการใช้งานของผู้บริโภค จำนวน 197 คนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงอายุ 15 – 45 ปี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบนี้ สร้างโปรแกรมติดตามการใช้งานจริงของผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ พบว่า


• การใช้งานสมาร์ทโฟน ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ 14 วัน มีมากถึง 461,252 ครั้ง แสดงว่าใน 1 วัน
กลุ่มตัวอย่างเปิดใช้งานสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 176 ครั้ง/คน/วัน หรือเปิดใช้แอพพลิเคชั่นทุก 5 นาที

• ช่วงเวลาที่มีการเปิดใช้สมาร์ทโฟนบ่อยที่สุดคือ ช่วง 16.01 – 20.00 น. เฉลี่ย 49 ครั้ง/คน/วัน

• กลุ่มตัวอย่างมีการปลดล็อกหน้าจอเพื่อเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟน เฉลี่ย 47 ครั้ง/คน/วัน

• กลุ่มวัยรุ่น Teen GEN ZC มีความถี่ในการสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนเฉลี่ยสูงถึง 8,508 ครั้ง/คน/วัน


• กลุ่มพ่อแม่สมัยใหม่นิยมใช้งานสมาร์ทโฟนสูงสุดในช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น.

• แอพพลิเคชั่นที่ทำให้เกิดการสัมผัสหน้าจอมากที่สุด ได้แก่ Line, Facebook และ Game

นางสาวอุไรพร กล่าวอีกว่า แอพพลิเคชั่น Digital Life Survey เป็นการสำรวจแบบเรียลไทม์ ที่ผู้ร่วมโครงการใช้ตัวตนจริงในการให้ข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น โดยให้ระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์และการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เช่น Line, Facebook, Youtube ฯลฯ และกลุ่มตัวอย่างส่งข้อมูลการใช้งานมายังเซิร์ฟเวอร์ วิธีดังกล่าวทำให้เราได้ข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือได้ และสามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้มากมาย ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคปัจจุบันของไทยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศ และอาชีพ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานประจำวัน

...


ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลโซลูชั่นส์ บ.มายรัม ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า จากการสำรวจยังพบว่า 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้งานบนสมาร์ทโฟน ได้แก่ 1. การติดต่อสื่อสาร 2. โซเชียลมีเดีย 3. การใช้งานด้านอื่นๆ 4. เกม และ 5. อินเทอร์เน็ต ทำให้เราได้ข้อมูลเจาะลึกของผู้คนในมุมต่างๆ และขยายผลการสำรวจนี้ให้แก่ผู้ที่สนใจ ไม่เพียงแต่นักการตลาดเท่านั้น มายรัมยินดีมากที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากโครงการนำร่องครั้งนี้ ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคการศึกษาและสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางวางแผนกลยุทธ์สื่อสารที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและรวดเร็วที่สุด ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลฉบับเต็มได้ฟรี ที่ mirum.co.th/PAPER.