กรมป่าไม้เผยผลสำรวจป่ากรุงเทพฯ ป่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 298.48 หรือเกือบ 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน จากปี 2556 มีแค่ 805 ไร่ ขยายเป็น 3,211 ไร่ในปีนี้ ขณะที่ระยอง สงขลา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บึงกาฬ แชมป์ป่าลดลง เหตุถูกบุกรุกปลูกยางพารา ขณะเดียวกัน จัดกิจกรรมสืบสานปณิธานสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิตครบ 25 ปี 1 ก.ย. 2558 ร่วมมือป่าชุมชนกว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศ กว่าแสนคน ออกลาดตระเวนดูแลพื้นที่ป่า
เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปี การเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ว่า กรมป่าไม้จะจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานปณิธานสืบ นาคะเสถียร โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับป่าชุมชนกว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศรวมกว่าแสนคน ออกลาดตระเวนดูแลพื้นที่ป่าทั่วประเทศและร่วมกับมูลนิธิสืบฯ และหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาป่าชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ที่เป็นแนวรอยต่อพื้นที่ชุมชนด้านนอกหรือป่ากันชนฝั่งตะวันออก โดยจะมีการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มอีก 25 แห่ง รวมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1 พันไร่
อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมป่าไม้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สำรวจพื้นที่ป่าล่าสุด พบว่าจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่จังหวัดเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 87.12 อันดับ 2 ตาก มีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 72.05 อันดับ 3 ลำปาง มีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 70.84 อันดับ 4 เชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 70.13 และอันดับ 5.กาญจนบุรี มีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 62.50 ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 298.48 หรือเกือบ 3 เท่า สมุทรปราการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.02 สมุทรสาคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.21 สมุทรสงคราม เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.49 และพิจิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.43 ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าลดลงมากที่สุด 5 อันดับ คือ ระยอง ลดลงร้อยละ 10.23 สงขลา ลดลงร้อยละ 7.52 ศรีสะเกษ ลดลงร้อยละ 5.84 สุรินทร์ ลดลงร้อยละ 4.61 และบึงกาฬ ลดลงร้อยละ 4.01
...
นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีแนวเขตติดต่อกัน พื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนและการปลูกป่า โดยในกรุงเทพฯ นั้น ปี 2556 สำรวจพบป่าชายเลน 805 ไร่ แต่ล่าสุดพบ 3,211 ไร่ สมุทรปราการ ปี 2556 พบ 8,642 ไร่ ล่าสุดพบ 14,866 ไร่ สมุทรสาคร ปี 2556 พบ 13,541 ไร่ ล่าสุดพบ 23,048 ไร่ สาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของป่าชายเลน คือ ประสิทธิภาพในการสำรวจดีขึ้น ละเอียดมากขึ้น รวมกับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าดีขึ้น ทั้งนี้ลักษณะเฉพาะของต้นไม้ในป่า ชายเลน โดยเฉพาะโกงกาง เสม็ด ลำพู โปรง นั้น หากไม่มีใครไปรุกรานทำลายแล้ว ไม้พวกนี้ค่อนข้างจะโต และขยายพื้นที่ได้เร็ว
อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าที่มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูงนั้น เปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าที่มีอยู่เดิม และพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดนั้นๆ ด้วย เมื่อคิดออกมาเป็นจำนวนไร่แล้ว อาจจะไม่มากนัก แต่ถือว่าดีที่ปริมาณเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายพื้นที่ของประเทศที่พื้นที่ป่าลดลงจากการบุกรุกทำลายโดยเฉพาะการบุกรุกเข้าไปทำสวนยางพารา เช่น จ.ระยอง เดิมปี 2556 พบพื้นที่ป่า 55,254 ไร่ แต่ล่าสุดพบ 49,733 ไร่ เป็นต้น
นายธีรภัทรกล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ยอมรับว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องการทวงคืนผืนป่า เพราะภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล เข้าไปครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกยางพาราค่อนข้างมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากและยากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเข้ายึดคืนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกให้ได้ภายในปีนี้ 100,000 ไร่ แต่ที่ผ่านมาสามารถยึดคืนได้แค่ 6,750 ไร่เท่านั้น หลังจากนี้อาจจะต้องวางแผนการเข้าพื้นที่ใหม่ โดยขอกำลังสมทบจากกองทัพภาคที่ 4 เข้าร่วมทำงานเพิ่มขึ้นด้วย