'บวรศักดิ์' แจงสื่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใหม่แนะประชาชนยึด 3 หลักเกณฑ์พิจารณาโหวตรธน. ชูใช้ คปป.เป็นประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่านใช้เป็นเครื่องมือยับยั้งวิกฤติรอบใหม่ บอกให้รออีก 5 ปี ได้ประชาธิปไตยเต็มที่...

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำโดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ จัดกิจกรรมพบสื่อมวลชน เพื่อสรุปสาระสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามประเด็นที่มีความสงสัย

นายบวรศักดิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ประชาชนควรรับร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ประชาชนใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ คือ 1. สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้หรือไม่ 2. มีความก้าวหน้ามากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 หรือไม่ 3. ก่อให้เกิดการปฏิรูปและปรองดองตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้องไม่ใช่จบแค่วาทกรรม ขอให้ผู้มีสิทธิออกเสียงพิจารณาภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญให้ดีด้วยตนเองเปรียบเหมือนการดูผู้หญิงหรือผู้ชายต้องดูทั้งตัว อย่าไปดูเฉพาะบางส่วน ควรดูในภาพรวม

เมื่อถามว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ให้คำนิยามที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยไว้อย่างไร ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในรอบ 10 ปี ประเทศไทยฉีกรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง ต้องอยู่ภายใต้การรัฐประหารในปี 49 และปี 57 สภาพสังคมไทยเป็นแบบนี้มาเป็น 10 ปี ซึ่งระบอบรัฏฐาธิปัตย์คงจะไปไม่ได้ตลอด เนื่องจากไม่เป็นสากล ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ แม้จะยอมรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะรู้ว่า เข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ แต่จะให้รัฐบาลอยู่ต่อไปก็ไม่ได้

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันผู้นำของทั้งสองพรรค ก็ออกมาพูดภาษาเดิมๆอีก เหลียวไปทางซ้ายเจอระบอบรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับ แลไปทางขวา เจอประชาธิปไตยเต็มที่ก็จะเกิดความขัดแย้งอีกเช่นเดิม ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จึงสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเต็มที่เมื่อพ้น 5 ปีไปแล้ว แต่ระหว่างนี้ต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มี ส.ส. 450 คน มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และมีคปป.มากำหนดยุทธศาสตร์ชาติและกำกับการปฏิรูป สร้างความปรองดอง คู่ขนานไปกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยให้อำนาจพิเศษกรณีเกิดความขัดแย้งรุนแรงจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 ดังนั้น คปป.จึงเป็นองค์กรชั่วคราว หากพ้น 5 ปี ก็สิ้นผลองค์กรนี้ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่แต่อย่างใด

...

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า สถานการณ์บ้านเมือง ในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ เป็นวิกฤติขั้นสูงสุด ประชาชนแบ่งแยกความคิดเห็นเป็นสองฝ่าย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องร่างเพื่อเป็นเครื่องมือและมีกลไกเพื่อยุติวิกฤติ ไม่ให้วัฏจักรความขัดแย้งกลับมาซ้ำรอยเดิมอีก หากร่างรัฐธรรมนูญแบบเดิมๆ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เนื่องจากรากฐานของวิกฤติคือความเหลื่อมล้ำ ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า หัวใจสำคัญที่สุดของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการกำหนดให้มีบทบัญญัติในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองและกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นกลไกพิเศษที่จะทำงานคู่ขนานไปกับรัฐบาลปกติที่จะมาจากการเลือกตั้ง มีอายุการทำงาน 5 ปี ส่วนการกำหนดอำนาจพิเศษของ คปป.ในมาตรา 280 เพื่อเป็นหลักป้องกันและยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.57.