จากเหตุระเบิดกลางสี่แยกราชประสงค์ ยังมีอีกหนึ่งมิตินอกเหนือจากการควานหามือวางระเบิด หรือผลกระทบในแง่ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่แม้แต่สื่อต่างชาติยังสัมผัสได้ นั่นก็คือ น้ำใจคนไทยที่หลั่งไหลให้ความช่วยเหลือเกื้อหนุนกันในยามทุกข์ยาก จนได้รับเสียงชื่นชมจากอารยประเทศ
นอกจากความมีน้ำใจที่คนไทยมีให้แก่กันและกัน นั่นก็คือ ความห่วงใยต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งหน่วยงานที่ประชาชนให้ความสนใจ และคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างมากในขณะนี้ คือ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือผู้ที่ใส่ชุดเกราะ “บอมบ์สูท” หนาเตอะ น้ำหนักมาก ยืนประชิดวัตถุอันตรายที่ใครก็ต่อใครในพื้นที่ต้องหนีห่างให้ไกลที่สุด
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับแหล่งข่าวนายตำรวจที่เคยมีประสบการณ์เก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดมาอย่างยาวนาน ตามมาด้วย พ.ต.ทรงพล เอี่ยมบุญฤทธิ์ อดีตนายทหารนักวิจัยกรมสรรพาวุธ กองทัพบก และเจ้าของโครงการ “เสื้อเกราะบางระจัน” เกี่ยวกับความสามารถของชุดบอมบ์สูท ชุดที่เขาว่ากันว่าเป็น “ชุดศพสวย” แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ มาร่วมกันค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
กว่าจะมาเป็น EOD หน่วยกล้าท้าระเบิด!
แหล่งข่าวผู้มีประสบการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิด เล่าถึงกระบวนการกว่าจะมาเป็นเจ้าหน้าที่อีโอดีว่า เจ้าหน้าที่อีโอดีทุกคนจะต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและจะต้องมีการทบทวน ปฏิบัติเหมือนจริง แต่ที่สำคัญที่จะทำให้อีโอดีมีความชำนาญ คือ ได้ปฏิบัติกับสถานการณ์จริง เพราะว่าจะต้องมีการควบคุม สั่งการ และปฏิบัติอย่างรัดกุมที่สุด
อดีตผู้เชี่ยวชาญการเก็บกู้วัตถุระเบิด อธิบายถึงหน้าที่ของอีโอดีว่า 1. ถ้าเจอวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด อีโอดีจะต้องเก็บกู้ทำให้ปลอดภัย 2. เมื่อเกิดการระเบิดเกิดขึ้นแล้วจะต้องเข้าที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสถานที่เกิดเหตุ ดูร่องรอยการระเบิด ดูหลุมระเบิด ดูความเสียหายที่เกิดขึ้น อีโอดีจะต้องเข้าไปให้ถึงที่เกิดเหตุ เพื่อสืบทราบว่าผู้ไม่ประสงค์ดีลอบวางระเบิดแบบไหนอย่างไร รวมทั้งหาวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ รวมทั้งสภาพแวดล้อมของการระเบิดที่เกิดขึ้น ที่สำคัญอีกประการคือ เจ้าหน้าที่อีโอดีจะต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะมีระเบิดลูกที่ 1 ลูกที่ 2 ลูกที่ 3 เกิดขึ้นได้เสมอ โดยก่อนเข้าไปยังที่เกิดเหตุจะต้องมี แจมเมอร์ หรือ เครื่องตัดสัญญาณการสื่อสารทั้งหมดในบริเวณดังกล่าว
ทนความร้อน ทนระเบิด (ขนาดไม่ใหญ่) เปิดสมรรถนะ “บอมบ์สูท”
พ.ต.ทรงพล เอี่ยมบุญฤทธิ์ อดีตนายทหารนักวิจัยกรมสรรพาวุธ กองทัพบก ขยายความกรรมวิธีในการผลิตบอบม์สูท ไว้ว่า ผู้ผลิตจะนำเส้นใยที่เหนียวมากๆ มาถักทอด้วยเครื่องพิเศษและตัดเป็นชุด ซึ่งเส้นใยจะเหนียวมากและวางเป็นชั้นๆ โดยปกติถ้าทำเสื้อป้องกันวัตถุระเบิดใช้ประมาณ 60 ชั้น แต่หากทำเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนจะใช้ประมาณ 25 ชั้นก็สามารถป้องกันได้แล้ว ซึ่งบอมบ์สูทจะหุ้มทั้งตัวยกเว้นมือ เนื่องจากว่า หุ้มมือจะไม่สะดวกในการทำงาน ฉะนั้น ถ้าเกิดระเบิดขึ้นมามือจะขาดแน่นอน อย่างไรก็ดี บอมบ์สูท เป็นชุดที่ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา จะป้องกันระเบิดขนาดไม่ใหญ่ อย่างเช่น ระเบิดมือ M67 ยังพอไหว แต่ไม่ว่าอย่างไรมือก็ขาดไม่รอดแน่นอน เพราะฉะนั้น บอมบ์สูท จะกำหนดไว้เลยว่าป้องกันระเบิดไม่ใหญ่เกินเท่าใด
...
ส่วนคุณสมบัติบอมบ์สูทจะต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1. ผ้าต้องกันเปลวไฟ 2. วัสดุภายในกันการทะลุทะลวงของสะเก็ดทุกชนิด และ 3. สามารถกันแรงกระแทกได้ โดยวัสดุที่ใช้ในการทำ บอมบ์สูท คือ เคฟลาร์เป็นเส้นใยโพลิเมอร์ประเภทพารา-อะรามีด (para-aramide) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ดูปองท์ สหรัฐอเมริกา และเป็นวัสดุชนิดเดียวกับเสื้อเกราะกันกระสุนหรือเกราะอ่อน คุณสมบัติเด่นของเคฟลาร์ คือ เป็นวัสดุที่มีความหนาแน่นต่ำ, มีความแข็งแรงต่อแรงดึงในทิศระนาบสูง, ทนทานต่อการกระแทก, ทนต่อการขัดถู, ทนต่อสารเคมี, ทนต่อการสลายตัวที่อุณหภูมิสูงได้ดี เคฟลาร์มีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
ในส่วนที่เป็นแผ่นหน้าหมวกของชุดบอมบ์สูท เป็นแผ่นโพลีคาร์บอเนต ลักษณะโปร่งใส หากมีความหนาประมาณ 20 มิลลิเมตร สามารถป้องกันกระสุนได้ แผ่นโพลีคาร์บอเนต ถ้าโดนรังสียูวีมากอายุการใช้งานก็จะลดลง อยู่ได้ประมาณ 3-4 ปี ส่วนหมวกของชุดบอมบ์สูท ทำมาจากเคฟลาร์อัดแข็ง มีลักษณะแบบเดียวกับหมวกทหาร แต่มีความหนากว่ามาก ด้านในจะมีระบบวิทยุไร้สาย หูฟัง แต่ทั้งหมดนี้จะใส่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีระบบหล่อเย็น คือ สารเคมีที่เป็นของเหลวอยู่ข้างในวิ่งวนรอบชุดเพื่อไม่ให้ร้อนจนกระทั่งคนใส่ไม่ได้ เนื่องจากภายในบอมบ์สูทร้อนยิ่งกว่าการใส่เสื้อโค้ทพร้อมหมวกเอสกิโมมาเดินตากแดดเมืองไทย ขณะที่ วัสดุบริเวณคอของบอมบ์สูท จะมีแผ่นสูงขึ้นมาคล้ายกับเสื้อคอตั้ง เพราะรอยต่อระหว่างหมวกกับเสื้อคือจุดอ่อนอีกจุดหนึ่ง จึงต้องมีแผ่นนี้บังไว้ บอมบ์สูทจะมีแผ่นบังจุดสำคัญทั้งหน้าอก เป้า คอ หัว สำหรับน้ำหนักของบอมบ์สูท ไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม
...
ราคาล้านอัพ! เช็กราคาบอมบ์สูท ชุดกันระเบิด ป้องชีวิต
แหล่งข่าวผู้มีประสบการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิด ให้คำตอบถึงราคาของชุดบอมบ์สูทว่า “ไม่สามารถตอบเป็นตัวเลขกลมๆ ได้ เนื่องจากไม่ทราบว่ามีการจัดซื้อชุดบอมบ์สูทมาในราคาเท่าไร แต่เบื้องต้นเชื่อว่า ราคาหลักล้าน”
สำหรับราคาบอมบ์สูทโดยทั่วไปนั้น พ.ต.ทรงพล กล่าวว่า “ราคาบอมบ์สูทอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ซื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศที่ผลิตได้ เนื่องจากวัสดุต้องนำเข้าทั้งนั้น ใยสังเคราะห์ประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ก็ต้องนำเข้าของดูปองท์มา พวกนี้เอาวัตถุดิบนำเข้ามาแล้วก็มาตัดเสื้อทำไม่ยาก ถ้าถามว่าทำได้ไหมทำได้ สำนักงานที่ทำคือกรมวิทยาศาสตร์กลาโหมก็เคยทำวิจัยอยู่”
อย่างไรก็ตาม บอมบ์สูทโดยทั่วไป จะมีอายุการใช้งาน ประมาณ 5-7 ปี ยกเว้นว่าขาดแคลนชุด ถ้าเกิน 7 ปี จะเก็บไว้สำหรับการฝึก ขณะที่ ชุดที่หมดอายุการใช้งาน ไม่ได้หมายความว่าชุดไม่สามารถป้องกันได้ แต่การป้องกันก็จะลดลงในระดับหนึ่ง
“ชุดอีโอดีเป็นชุดที่ร้อน ทำงานยาก และไม่มีความคล่องตัว แต่ต้องเข้าใจว่า อะไรก็ตามที่ความสะดวกสบายสูง ความปลอดภัยยิ่งต่ำ” พ.ต.ทรงพล อดีตนายทหารนักวิจัยกรมสรรพาวุธ กองทัพบก ระบุ
...
เสี่ยงตาย กู้ระเบิด พิสูจน์หลักฐาน! ชีวิต EOD ทำงานอย่างไร?
แหล่งข่าวผู้มีประสบการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิด อธิบายถึงวิธีการเก็บกู้วัตถุระเบิด โดยขั้นตอนแรกนั้น จะต้องประเมินสถานการณ์และวางแผนของหัวหน้าชุด รวมถึงมีการใช้กล้อง เครื่องเอกซเรย์และหุ่นยนต์เข้าไปตรวจสอบก่อนว่า เป็นวัตถุระเบิดหรือไม่ เมื่อพิสูจน์แล้วว่าเป็นวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่อีโอดีจะต้องกันพื้นที่ในระยะไม่น้อยกว่า 200 เมตร เพื่อทำการกอบกู้ระเบิด จะใช้วิธีกอบกู้ด้วยมือหรือใช้เครื่องมือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และหากประเมินแล้วทราบว่า เป็นแรงระเบิดสูง มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่จะไม่ใช้วิธีการใส่บอมบ์สูทเข้าไป แต่จะใช้วิธีการกอบกู้ในระยะไกล โดยการใช้แรงดันน้ำ เพื่อตัดวงจรจุดระเบิดแทน
“กรณีที่สามารถกอบกู้ระเบิดได้ เจ้าหน้าที่อีโอดีจะนำหลักฐานที่เก็บได้ไปพิสูจน์หลักฐาน เช่น ตรวจดีเอ็นเอจากรอยนิ้วมือคนร้าย สามารถรู้ได้ว่าประกอบแบบใด ใช้วัสดุอะไรมาใช้ประกอบ รวมถึงมีการสืบสวนข้อมูลเชิงลึก ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้” อดีตผู้เชี่ยวชาญการเก็บกู้วัตถุระเบิด กล่าว
ระเบิดตู้ม! “บอมบ์สูท” ป้องกันชีวิตได้แค่ไหน?
กรณีที่ระเบิดทำงานขณะเจ้าหน้าที่ EOD กำลังเก็บกู้ บอมบ์สูทจะช่วยชีวิตเจ้าหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใด แหล่งข่าวผู้มีประสบการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิด กล่าวว่า สำหรับพื้นที่โล่งแจ้งกับพื้นที่แคบ แรงระเบิดจะแตกต่างกัน เนื่องจากในพื้นที่กว้างไม่สามารถกำหนดทิศทางการระเบิดได้ เช่น พื้นที่โล่งแจ้ง เมื่อเกิดการระเบิด แรงดันของวัตถุระเบิดจะกระจายไปทุกทิศทาง ใครที่อยู่ไกลจากจุดระเบิดจะได้รับแรงดันน้อย ส่วนคนที่อยู่ใกล้จุดระเบิดจะได้รับแรงดันเต็มๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ซึ่งภายในรัศมีที่มีการระเบิด 5-10 เมตร จะเรียกว่า รัศมีการระเบิด มีโอกาสได้รับแรงกระแทกจากระเบิดสูง ส่งผลให้เกิดการฉีกขาดของร่างกายหรือมีสภาพเสียหาย
“ต้องเข้าใจว่าความเร็วของสะเก็ด หรือความเร็วของการแตกตัวของชิ้นส่วนก็คือเปลือกที่ห่อหุ้มดินระเบิดเมื่อเกิดการระเบิดขึ้น ถ้ามีสะเก็ด สะเก็ดระเบิดที่บรรจุไว้มันก็จะกระเด็นออกมาทุกทิศทาง ตัวที่เป็นเปลือกห่อหุ้มก็จะกลายเป็นสะเก็ดไปด้วย ส่วนความเร็วที่พุ่งออกรุนแรงเทียบเท่ากระสุนปืน ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในที่ห้อมล้อมหรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง” แหล่งข่าวคนเดิมระบุเพิ่มเติม
อดีตนายทหารนักวิจัยกรมสรรพาวุธ วิเคราะห์ว่า การสวมชุดบอมบ์สูท ไม่ได้หมายความว่าพอใครสวมใส่แล้วจะรอดชีวิตจากระเบิด ซึ่งความเข้าใจข้างต้นเป็นความเข้าใจที่ผิด การที่บอมบ์สูทจะป้องกันได้นั้น ลูกระเบิดต้องไม่มีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักมาก บอมบ์สูทจึงจะสามารถป้องกันได้ อย่างเช่น ระเบิดปิงปอง ระเบิดมือ M26 M67 สะเก็ดระเบิดต้องไกลตัว ไม่ใช่ใกล้ตัว รวมทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับระยะด้วยว่าอยู่ห่างแค่ไหน แต่ถ้าเป็นระเบิดชนิด TNT หนัก 1 กิโลกรัมแล้วยิ่งอยู่ในระยะใกล้ตัวเจ้าหน้าที่ อาจทำให้เสียชีวิตได้
“บอมบ์สูท หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ชุดศพสวย หมายความว่า หากใส่บอมบ์สูทขณะที่ต้องเผชิญกับระเบิดที่มีอานุภาพแรงก็ไม่รอด แต่อวัยวะของร่างกายก็ยังพอเป็นรูปร่างหน้าตาได้ อย่างน้อยที่สุดถ้าเสียชีวิต ศพก็ยังสวยอยู่” พ.ต.ทรงพล กล่าว.