บางรายถึงขั้นทำร้ายตัวเอง-ดับชีวิต จี้ครูผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรม
นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน (ฉก.ชน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ฉก.ชน.ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สพฐ.ทำการสำรวจติดตามข้อมูลที่เกี่ยวกับงานคุ้มครองเด็กนักเรียนช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาใน 4 ด้าน ทั้งเรื่องละเมิดทางเพศ ซึ่งพบ 200-300 คน ความรุนแรง 100-200 คน ความไม่เป็นธรรม เช่น ถูกครูกลั่นแกล้งให้ ติด ร หรือ มส หรือไม่ให้จบการศึกษา 100 คน และกรณีอื่นๆ เช่น ตั้งครรภ์ระหว่างเรียนพบว่ามีตัวเลข 200-300 คน ทั้งที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งเด็กบางคนท้องเพราะถูกละเมิด ขณะที่บางคนท้องเพราะพลาดพลั้งจากการสมยอม นอกจากนี้ยังพบกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางจิตเวชหรือมีภาวะทางจิตอีกนับหมื่นคน ทั้งที่เป็นโรคซึมเศร้า ชอบทำร้ายตัวเอง เป็นโรคไบโพล่าหรือแม้แต่เป็นเด็กไฮเปอร์ เป็นต้น
“กลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางจิต ถือเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากมีเป็นจำนวนมากซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่พบเด็กในกลุ่มวัยเรียนมีปัญหาทางจิตถึงร้อยละ 20 และจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะบางรายมีปัญหาหนักชอบทำร้ายตัวเอง และนำไปสู่การฆ่าตัวตายตามมาในที่สุด จึงเป็นเรื่องที่ทุกโรงเรียนครู อาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องติดตามพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับผู้ปกครอง หากพบสิ่งผิดปกติและรู้แน่ชัดว่าเด็กนักเรียนกำลังมีปัญหาทางจิตจะได้เข้าไปดูแลและนำไปบำบัดรักษาต่อไป ซึ่งขณะนี้ สพฐ.มีความร่วมมือกับ สธ.เพื่อดูแลปัญหาอยู่แล้ว” หัวหน้า ฉก.ชน.กล่าว
นายธีร์กล่าวต่อไปว่า การติดตามสำรวจข้อมูลของ ฉก.ชน.ครั้งนี้ได้วิเคราะห์และสังเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลเป็นรายเดือน และย้อนเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆมาด้วย ทำให้เห็นชัดว่าแต่ละเดือนช่วงเวลาไหนมักจะเกิดปัญหาอะไรกับเด็กนักเรียน เช่น ช่วงเปิดเทอมใหม่จะมีปัญหาการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตนได้จัดทำเป็นรายงานเสนอ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปแล้ว และอาจจะเสนอที่ประชุม กพฐ.ได้ทราบด้วย จากนั้นจะนำเผยแพร่เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลนักเรียนต่อไป.
...