วันนี้ (4 ส.ค. 2558) พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 บังคับใช้อย่างเป็นทางการวันแรก หลังจากที่เหล่าผู้สร้างสรรค์ผลงานรอคอยกันมานาน โดย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่นี้ มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกประเภทที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่มีอัตราการใช้งานสูงขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากผลงานเหล่านั้นไม่น้อยทีเดียว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอต่อสายตรงไปยังบุคคลผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายคอมพิวเตอร์เรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เพื่อพูดคุยถึงเรื่อง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ ว่ามีข้อควรระวังในการแชต การแชร์ บนโซเชียลมีเดียอย่างไรบ้าง

‘มาอย่างไร ไปอย่างนั้น’ นักกฎหมาย ยัน แชต-แชร์ได้ปกติ ห้ามแก้ไขหรือลบเครดิตออก !

อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะเพิ่มเพียง 2 ข้อ คือ 1. ห้ามใช้เทคโนโลยีในการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการไปแคร็กรหัสอะไรต่างๆ 2. ถ้ามีข้อมูลแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น จะต้องคงไว้เหมือนเดิมห้ามไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะดีกว่าฉบับเก่า คือ เพิ่มมาตรการทางด้านการกระทำละเมิดทางเทคโนโลยีว่าสามารถจับกุมได้ บล็อก ปิด ได้ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น

...

สำหรับข้อควรระวังเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ การแชต การแชร์ หรือการใช้งานผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ สามารถทำได้ตามปกติไม่มีปัญหา เพียงแต่มีเรื่องต้องระมัดระวังเพิ่มเติมคือเรื่องของข้อมูลบริหารสิทธิ์ ข้อมูลที่แสดงแหล่งที่มาหรือแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างเช่น ชื่ออินสตาแกรม ชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อผู้อัพโหลดคลิปวิดีโอ หรือกรณีที่ภาพนั้นมีลายน้ำและเครดิตภาพอยู่นั้น ห้ามลบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยเด็ดขาด เพราะหากลบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลพวกนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ทันที

อ.ไพบูลย์ กังวล ข้อมูลบริหารสิทธิ์ โทษหนัก คุกสูงสุด 2 ปี

อ.ไพบูลย์ ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ คือ ข้อมูลบริหารสิทธิ์ เนื่องจากมีโทษค่อนข้างสูง ขณะที่ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเยอะ บางครั้งผู้ใช้ทั่วไปไม่ได้เจตนาที่จะไปลบหรือแก้ไขงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน รวมทั้งการที่มีโทษในอัตราที่สูงก็จะเป็นปัญหากับตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปได้ จึงเป็นข้อที่น่าวิตกกังวลที่สุดในกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้สามารถยอมความได้ แต่จะต้องดูเป็นกรณีๆ ไป

สำหรับบทกำหนดโทษถ้าเป็นกรณีที่ไม่ได้ใช้เพื่อการค้า มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และหากกระทำเพื่อการค้า จะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ถ้าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้ง และไม่ควรไปลบหรือแก้ไข เปลี่ยนแปลงอะไรที่มีอยู่เดิมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนข้อกฎหมายอื่นไม่มีอะไรน่ากังวลเป็นไปตามกฎหมายฉบับเก่าที่มีอยู่แล้ว” นักกฎหมายคอมพิวเตอร์ผู้มากประสบการณ์ กล่าว

...

ไขข้อคาใจ ทำเพื่อการค้า VS ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ?

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไขความกระจ่างในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ว่า ถ้าทำเพื่อเกิดประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอาไปใช้เพื่อหารายได้นั้น หรือทำให้มีผลเสียต่อเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นผิดกฎหมายแน่นอน โดย น.อ.สมศักดิ์ อธิบายต่อว่า

ทำเพื่อการค้า คือ แสวงหาประโยชน์จากผลงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น โหลดเพลงอัดแผ่นขาย, โหลดรูปภาพเพื่อทำปฏิทินขาย, นำเพลงไปจัดคอนเสิร์ตเก็บเงินเพื่อเข้าชม

ไม่ได้ทำเพื่อการค้า คือ ไม่ได้แสวงหาประโยชน์จากผลงานอันมีลิขสิทธิ์ การนำผลงานอันมีลิขสิทธิ์ไปใช้ส่วนตัวหรือใช้เพื่อการศึกษา เช่น โหลดรูปเป็นภาพพื้นหลังในโทรศัพท์มือถือ, โพสต์ให้เพื่อนในอินเทอร์เน็ต

ก๊อบปี้รูปมาใช้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ได้ลบชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ผิดหรือไม่ ?

แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ขอตอบแทนว่า เข้าข่ายทำซ้ำ ผิดเช่นกัน ถึงแม้ไม่ได้ลบชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตาม ถือว่าไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของรูปที่ถ่ายมาด้วยความตั้งใจ และนำผลงานอันมีลิขสิทธิ์ไปใช้เพื่อการค้า

...

ใส่ ‘ขอบคุณ-ที่มา’ ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ยังทำเพื่อการค้าผิดหรือไม่ ?

ขอบเขตการใส่เครดิตทำได้ในระดับไหนนั้น   แหล่งข่าวระดับสูงของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จะต้องดูวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปใช้เพื่ออะไร หากนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ใส่แค่ชื่อที่มาก็คงไม่มีปัญหาอะไร

นอกจากนี้ ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องของเจ้าของสิทธิ์ ในกรณีนี้เป็นสิทธิ์ทางเศรษฐกิจ คือ ขาดทุนตัวเงินและโอกาสที่จะได้ขายก็ไม่ได้ขาย ยกตัวอย่างเช่น ถ่ายรูปมาสวยมากกว่าจะถ่ายได้ขนาดนี้ จากนั้นก็อัพรูปลงเฟซบุ๊กโชว์เพื่อนๆ แต่มีคนมาก๊อบปี้รูปไปโดยให้เครดิตว่านาย ก เป็นคนถ่าย พร้อมทั้งขายรูปๆ นี้ด้วย นาย ก จะรู้สึกดีไหมที่เขาให้เครดิตและเขาก็ได้เงินจากภาพของตัวเอง นาย ก ก็ต้องไปห้ามไม่ให้เขาขายรูปเพราะเป็นรูปของนาย ก ฉะนั้น การใส่คำว่า ขอบคุณ หรือที่มา รวมถึงลิงก์ของเจ้าของภาพนั้นอาจจะไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนว่าจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

...

ศาลสั่ง แจ้งไอซีที บล็อก ปิดเว็บไซต์ !

แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงต่อว่า การบล็อกหรือปิดเว็บไซต์นั้น กระทรวงไอซีที จะดำเนินการตามคำสั่งศาล ฉะนั้น ศาลต้องเป็นผู้สั่งว่าการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ผิด และจึงจะแจ้งกระทรวงไอซีทีให้ปิดหรือบล็อกเว็บไซต์นั้นได้ในส่วนของกรณีละเมิดลิขสิทธิ์

หากเป็นเช่นนั้น จะกระทบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า “สื่อก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่น ทุกคนเป็นประชาชน ทุกธุรกิจเป็นนิติบุคคลที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไม่มีอำนาจพิเศษอะไรทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน สื่อก็เป็นเจ้าของภาพ หากถูกผู้ไม่ประสงค์ดีดึงภาพของสื่อไปก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา”

กฎหมายฉบับใหม่ บทกำหนดโทษสูงสุด 2 ปี แรงเกินไปหรือไม่ แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตอบกลับมาว่า ต้องถามเจ้าของสิทธิ์ว่าถ้าเป็นการทำลายอนาคตของผู้เขียนหนังสือ ช่างภาพ นักร้อง นักแสดง นักแต่งเพลง บทกำหนดโทษ 2 ปี เพียงพอสำหรับคนเหล่านี้หรือไม่เท่านั้นเอง.

* ข้อมูลการบริหารสิทธิ์ หมายความว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ งานสร้างสรรค์ นักแสดง การแสดง เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือระยะเวลาและเงื่อนไขการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ตลอดจนตัวเลขหรือรหัส แทนข้อมูลดังกล่าว โดยข้อมูลเช่นว่านี้ติดอยู่หรือปรากฏเกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดง