“ศรีวราห์” เผยยังไม่ได้รับผล การตรวจจาก พฐ. ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์และสถาบันนิติเวชฯ แต่มั่นใจ ว่าจะสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ “เสี่ยชูวงษ์” ได้ภายในอาทิตย์หน้า ส่วนกองปราบฯยังติดใจเรื่องโอนหุ้น เพราะพบพิรุธหลายอย่าง ทั้งเบอร์โทรศัพท์ที่นายชูวงษ์ใช้วันยืนยันการโอนหุ้นไม่ตรงกับที่ให้ข้อมูลไว้ และมีการแก้ไขข้อความในเอกสารอีกหลายจุด ส่วนการตรวจสอบคลิปเสียงยังไม่คืบ ขณะที่ พ.ต.ท.บรรยินปฏิเสธไม่ให้พนักงานสอบสวนกองปราบฯ เก็บตัวอย่างเสียงไปเปรียบเทียบกับข้อมูลเสียงของนายชูวงษ์ที่บันทึกไว้ในวันยืนยันการโอนหุ้น
กรณีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง อายุ 51 ปี นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนั่งรถยนต์เลกซัส สีดำ แอลเอ็กซ์ 470 ทะเบียน ภฉ 1889 กรุงเทพมหานคร ที่มี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์เป็นคนขับและเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้ตรงข้ามซอย 61 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงและเขตสวนหลวง เสียชีวิต ต่อมาญาติตรวจสอบพบว่า นายชูวงษ์โอนหุ้นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาทให้กับผู้หญิง 2 คน ที่ญาติเชื่อว่าเป็นคนใกล้ชิดของ พ.ต.ท.บรรยิน จึงเข้าร้องเรียน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ให้สืบสวนคลี่คลายคดี จากการสอบสวน น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล อายุ 26 ปี พริตตี้สาวคนสนิทที่รับโอนหุ้นมูลค่าประมาณ 228 ล้านบาท จากนายชูวงศ์ ยอมรับว่า มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ตายและกำลังตั้งท้อง 7 เดือน ส่วน น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด ผู้รับโอนหุ้นจากนายชูวงษ์ประมาณ 40 ล้านบาท เข้าให้การว่า มีความสัมพันธ์กับผู้ตายเช่นกัน ขณะนี้การตรวจสอบเรื่องการเสียชีวิตและการโอนหุ้นอยู่ระหว่างดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ความคืบหน้าจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ก.ค. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.เผยว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลจากฝ่ายเทคนิคกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์ และแพทย์สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตร. ยังคงไม่สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม ส่วนกรณีการโอนหุ้น กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เป็นผู้รับผิดชอบ กรณีดังกล่าว บช.น.ตรวจสอบเพียงเรื่องเกี่ยวกับคดีสาเหตุการเสียชีวิตเท่านั้น
...
เมื่อถามว่ากรณี พ.ต.ท.บรรยิน ให้สัมภาษณ์มีข้าราชการจัดฉากเพื่ออายัดหุ้นของผู้ตาย พล.ต.ท.ศรีวราห์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว กรณีการโอนหุ้นจะมีหลักฐานแสดงโดยมิชอบอย่างไร พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.สั่งการให้ บก.ป.ตรวจสอบอยู่แล้ว บช.น.ต้องดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ ถือว่าการโอนหุ้นเกิดขึ้นก่อนเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต การเสียชีวิตกับการโอนหุ้นเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ แต่หากตรวจสอบจนสิ้นสุดแล้วสามารถสรุปได้ว่า การโอนหุ้นมีเจตนาที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิต ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดต้องดำเนินการตรวจสอบพยานเอกสารให้แน่ชัดว่า เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตหรือไม่ และเกี่ยวข้องอย่างไร ไม่ใช่เอามาสรุปโยงกัน
“ยืนยันว่า ขณะนี้ยังรอผลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ที่จะต้องให้ข้อมูลตอบข้อสงสัยที่ตั้งประเด็นไว้ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตให้ชัดเจน ตอบคำถามสังคมให้ได้ก่อน คาดว่ายังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ และยังไม่มีการแจ้งข้อหา พ.ต.ท.บรรยิน เพิ่มเติม แต่หาก พ.ต.ท.บรรยินหรือญาติติดใจอย่างไร ก็ยินดีที่จะตรวจสอบให้หมดข้อสงสัย ยืนยันว่าจะให้ความยุติธรรมทุกฝ่ายตรงไปตรงมาและจะร่วมประชุมกับทุกฝ่ายเพื่อสรุปคดีอีกครั้งภายในอาทิตย์หน้า” ผบช.น.กล่าว
ส่วนที่ สน.อุดมสุข พนักงานสอบสวนนายหนึ่งเปิดเผยว่า การทำคดีเสี่ยชูวงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่กำชับเรื่องการให้ข่าว ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น ทางโรงพักมีหน้าที่เร่งสอบสวนพยานเพื่อให้สำนวนคดีครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อสอบสวนเสร็จการสรุปสำนวนต้องผ่านผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาก่อน ผู้ปฏิบัติไม่สามารถสรุปเองได้ และขั้นตอนนี้ต้องส่งให้อัยการพิจารณาอีกครั้ง ถือเป็นการตรวจสอบจากหลายหน่วยงานหลายขั้นตอนอยู่ในตัวของมันเอง
ด้านกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้เลขาฯ นายชูวงษ์เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน บก.ป. หลังจากก่อนหน้านี้สอบปากคำไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้สอบปากคำพยานไปแล้วกว่า 10 ปาก คดีมีความคืบหน้าไปมาก รอในส่วนของหลักฐานสำคัญ ผลการตรวจเอกสารการทำธุรกรรม ลายเซ็น และคลิปเสียงของกองพิสูจน์หลักฐาน คาดว่าเร็ววันนี้จะทราบผล และในวันจันทร์ที่ 3 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.จะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อให้ข้อมูลประเด็นขั้นตอนการทำธุรกรรมโอนหุ้นเพื่อความชัดเจนในคดี
มีรายงานว่า เบื้องต้นขั้นตอนการซื้อขายโอนหุ้นมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีแรกผู้ลงทุนจะทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต ใช้รหัสพินนัมเบอร์ซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะบุคคลใช้กรอกขณะทำธุรกรรม ส่วนวิธีที่สองคือ การซื้อขายโอนหุ้นผ่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เมื่อเจ้าของพอร์ตหรือเจ้าของหุ้นมีความประสงค์จะโอนหุ้นให้ใคร จะทำเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดหรือโบรกเกอร์ที่รับผิดชอบ ก่อนส่งเอกสารให้หัวหน้าฝ่ายการตลาด จากนั้นจะส่งให้แผนกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทำการตรวจสอบเอกสารว่าลายเซ็น ถูกต้องหรือไม่ ก่อนโทรศัพท์ไปยังเจ้าของหุ้นเพื่อยืนยันการทำธุรกรรม และอนุมัติการทำธุรกรรมต่อไป จากการตรวจสอบพบว่าการทำธุรกรรมของนายชูวงษ์ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง มีการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของนายชูวงษ์ไว้กับระบบตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าในวันที่มีการโอนหุ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ฯเป็นคนต่อสายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบพูดคุย แต่ไม่ใช่เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ โบรกเกอร์อ้างว่า ลูกค้าเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์และกำลังอยู่ในสาย ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า เบอร์โทรศัพท์ที่ทำธุรกรรมวันนั้นเป็นของใคร
...
นอกจากนี้ มีรายงานอีกว่า ส่วนของลายเซ็นเบื้องต้นตรวจสอบพบว่าเป็นลายเซ็นของนายชูวงษ์จริง แต่มีการปรับแก้ข้อความในเอกสารหลายอย่าง อาทิ จากการโอนเพื่อจดจำนอง ปรับแก้เป็นการโอนเพื่อจำหน่าย รวมทั้งในเอกสารใบคำถอน หรือโอนหลักทรัพย์ที่นายชูวงษ์โอนหุ้นให้ น.ส.ศรีธรา พรหมา มีการแก้ไขขีดฆ่าเนื้อหาต่างๆ อาทิ วันที่มีการแก้ไขจากวันที่ 5 มิ.ย.2558 เป็นวันที่ 8 มิ.ย.2558 รวมทั้งด้านท้ายเอกสารที่ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดชื่อ น.ส.อุรชา ก็ลงวันที่ 5 มิ.ย.2558 เช่นกัน ประเด็นนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เนื่องจากพบว่ามีพิรุธและมีการแก้ไขข้อความ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอยู่ระหว่างการสืบสวน และจะส่งตรวจพิสูจน์หาข้อเท็จจริงต่อไป
ส่วนการตรวจสอบคลิปเสียงการสั่งโอนหุ้นของนายชูวงษ์ขณะนี้เสร็จสิ้นแล้ว พบว่าไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าเป็นเสียงของนายชูวงษ์จริงหรือไม่ เนื่องจากในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีเสียงที่มีคุณภาพพอที่จะตรวจเปรียบเทียบ แม้ว่าจากการฟังเสียงปกติเปรียบเทียบกัน จะพบความแตกต่างหลายประการ อย่างไรก็ตาม การสอบปากคำ พ.ต.ท.บรรยิน ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้ขอเก็บตัวอย่างเสียงไว้เพื่อนำไปเปรียบเทียบและตรวจสอบกับคลิปเสียงที่บริษัทโบรกเกอร์บันทึกไว้ แต่ พ.ต.ท.บรรยิน ปฏิเสธไม่ให้เก็บตัวอย่างเสียง ซึ่งเป็นสิทธิของ พ.ต.ท.บรรยินที่สามารถทำได้ จึงยังไม่มีการตรวจสอบคลิปเสียงเปรียบเทียบกับเสียงผู้อื่น