บ้านไม้ยกสูงสภาพเก่าหลังนั้น ไม่มีเลขที่ อยู่ในพื้นที่วัดบางแคกลาง ตำบลบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบ้านหลังเดียวที่คนในละแวกบ้านรู้กันว่า ยังทำอาชีพสานหมวกกะโล่
บนบ้าน หญิงชรา รูปร่างผอมบาง ผมสีดอกเลา เธอชื่อบุปผา อั้นจินดา วันนี้อายุถึง 66 ปี นั่งสานหมวก ท่วงท่าแข็งแรง
“ชาวสวน เรียก หมวกกะโล่” ป้าบุปผาว่า “แต่ชื่อเป็นทางการเรียก หมวกไห่หน่ำโล้ย วิชานี้ฉันสืบทอดมาจากแม่คุณหรือยาย”
บ้านหลังนี้มีอาชีพเป็นชาวสวนปีนตาลเลี้ยงชีวิต พอตาลในสวนหมด ก็สานกระด้ง กระบุง กระจาด
ส่วนหมวกไห่หน่ำโล้ยเป็นภูมิปัญญาจากชาวจีน นิยมกันถึงขนาดที่แถบคลองอัมพวามีร้านรับซื้อหมวกห้าหกร้าน ตอนนี้เหลือคนสานหมวกเป็นอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น สมัยก่อนป้าบุปผาสานหมวกส่งขายได้ลูกละ 25 บาท
ถึงวันนี้หมวกกะโล่กลายเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีค่าและหายาก ป้าเคยขายหมวกกะโล่ได้ถึงใบละ 2 พันบาท
ตอนป้าบุปผาอายุราว 8 ขวบ กลับจากโรงเรียนเห็นพี่ๆนั่งสานหมวกก็แอบเก็บเศษไม้ไผ่มาลองสานดูบ้าง ลองผิดลองถูก เมื่อมั่นใจสามารถรื้อออกแล้วสานใหม่ได้เหมือนเก่าก็เอาไปโชว์ให้แม่คุณหรือคุณยาย
แม่คุณดูแล้วก็ยิ้ม ก็โยนทิ้ง ยิ้มของแม่คุณไม่ได้แสดงว่าหลานสานหมวกได้ดี แต่แสดงว่า มันยังใช้ไม่ได้ “มา...เดี๋ยวก่อให้ดู” แล้วแม่คุณก็เริ่มสอนหลาน ทำแป้นสำหรับสานหมวกขึ้นใหม่ ให้หลานสาวใช้เรียนควบคู่
งานสานหมวกกะโล่ จับมือสอนไม่ได้ หลานสาวต้องคอยมองตามความเคลื่อนไหวที่นิ้วมือและเส้นไผ่ของแม่คุณ แล้วเลียนแบบไปทีละขั้น จำได้ว่า 8 ขวบ ที่สานหมวกกะโล่เป็น ตอนนั้นคิดว่าเท่เหลือเกิน
หลายปีผ่านไป หลานสาวแม่คุณก็ออกเรือน มีลูกชาย 3 คน
ป้าบุปผาหยุดมือสานหมวกชั่วคราว ชี้ไปที่ลูกชายป่วย รุ่งโรจน์ อายุ 37 ปี ที่นอนข้างๆบอกยิ้มๆว่า “เขาเกิดจากอีกพ่อ”
...
ชีวิตครอบครัวนอกบ้านเกิด นับวันนานวันก็เริ่มลำบาก พี่ๆน้องๆ รู้ข่าวก็มาตามกลับ แต่ป้าบุปผาก็ยังฮึดสู้
ทุกวันป้าบุปผาตื่นตี 4 หุงหาอาหารให้ผัวและลูก ลูกไม่ต้องดูมาก แค่หาข้าวใส่ชามไว้ เขากินเองได้ น้ำก็อาบเองได้ ส่วนลุง ยุติธรรม เทศสาหร่าย อายุ 75 ปี (สามี) ตามองไม่เห็น กลางวันจะอยู่ใต้ถุนบ้าน ก็เดินคลำทางหิ้วกระป๋องฉี่ขึ้นมาเอง ข้าวอยู่ในหม้อ กับก็อยู่ในกระบะ
เสร็จภาระลูกผัวแล้ว ป้าบุปผาก็ออกไปทำงานวัด ช่วงเวลาที่เดินเจอขวดข้างทาง ก็เก็บสะสมไว้ เจอเศษไม้ก็เก็บเอามาเผาถ่านขาย
รอพระกลับจากบิณฑบาต รอจนพระฉันเสร็จ ก็รวมกับข้าวเก็บ จากนั้นก็เป็นงานล้างถ้วยล้างชาม ให้อาหารหมาแมว สายๆก็กลับบ้าน
ถึงบ้าน นี่คือเวลาสำคัญ งานสานหมวกกะโล่
ป้าบุปผาเล่าไปมือก็ยังสานหมวกไป บางครั้งก็กวักน้ำในชามใบเล็กๆ คอยพรมลงไม้ไผ่ให้อ่อนตัว น้ำช่วยให้การสานหมวกกะโล่ง่ายขึ้น
แต่งานสานหมวกกะโล่ที่ว่าเป็นงานสำคัญ เป็นสีสันหนึ่งเดียวที่เหลือในชีวิตแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีงานสำคัญกว่า
“ถ้าหลวงพ่อเรียกใช้” ป้าบุปผาว่า “ฉันก็ต้องหยุดสานหมวก ต้องไปทำงานให้ท่านก่อน จะบอกว่าไม่ว่างก็ไม่ได้ ฉันคนวัด อาศัยที่วัดมาเป็น 10 ปีแล้ว”
ก่อนหน้ามาอยู่วัด ป้าบุปผาได้งานเฝ้าสวนลิ้นจี่และขึ้นตาล งานขึ้นตาลเป็นงานหนัก แต่ป้าบุปผาก็กัดฟันทำ เพื่อหาเงินมารักษาลูกชายพิการ ครั้งหนึ่งป้าบุปผาเคยหวังจะรักษาลูกชายให้หาย พาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่ารักษาไปก็ไม่หาย ป้าก็เลยเบี่ยงเบนไปหา “คุณทวด” คนทรง ไปหาแต่ละครั้งต้องเสียค่าพาน ป้าก็ไม่เสียค่าพาน เพราะไม่มีเงิน
ป้าบุปผาเชื่อว่า “ท่าน (คนทรง) ก็รักษาให้จนพูดได้”
เมื่อก่อนลูกชายเคยเครียดจนคิดฆ่าตัวตาย อยากบวชเณร บวชพระก็ไม่ได้ วันหนึ่งลูกชายขอให้หารูปสมเด็จย่า วันที่ป้าบุปผาเอาปฏิทินพระฉายาลักษณ์สมเด็จย่าขึ้นบนบ้าน เขายกมือไหว้ เขาบอกว่าเขารักองค์นี้เป็นชีวิตจิตใจ ถ้าตายจะไปขอรับใช้ท่าน
มีภาพสมเด็จย่ายึดเหนี่ยวทางใจ ป้าบุปผาได้โอกาสสอน “ถ้าอยากไปอยู่กับท่าน ห้ามคิดฆ่าตัวตาย ห้ามเครียด ห้ามด่า ให้ท่องพุทโธไว้ เดี๋ยวก็ได้ไปอยู่”
“ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ท่องแต่คำว่าพุทโธๆ”
เมื่อปี 2555 เจ้าหน้าที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ตามหาป้าบุปผาเพื่อให้มาเป็นวิทยากรในการสอนสานหมวกฯกับผู้สนใจที่เข้ามาเยี่ยมเยียนศูนย์การเรียนรู้ ช่วงเวลานั้นป้าบุปผาสานหมวกขายที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ได้ใบละ 300 บาท
ต่อมามูลนิธิชัยพัฒนาก็สนับสนุนให้เงินประจำ ตั้งราคาหมวกเพิ่มให้เป็นใบละ 800 บาท
ตอนนี้สถานการณ์ในครอบครัวป้าบุปผาเริ่มเครียด คับขัน ไม่ได้ไปสอนที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ เพราะต้องใช้เวลาดูแลลูกผัว
2 เดือนมานี่ ป้าบุปผาต้องพาผัวไปหาเจ้าเข้าทรง ที่ปลายคลองบางแค ค่ารถเดือนละ 1,600 บาท ค่าพาน 9 บาท อาทิตย์หนึ่งไป 4 วัน ท่านลงทรง 4 วัน กว่าจะได้กลับ...ก็เย็น
รายการของหนูแหม่ม เคยมาถ่ายป้าสานหมวก หนูแหม่มให้เงินไว้หมื่นกว่าบาท เงินก็เอาไปใช้ตั้งแต่ลุงป่วย ตอนนี้ก็หมดแล้ว
สามีป้าป่วยเป็นต้อหิน ก่อนหน้าตาข้างขวาอักเสบจนปะทุออกมา ป้าบุปผาต้องกอบเอาลูกตาแล้วพาไปหาหมอ หมอบอกว่าแก้วตาแตกต้องควักออก
“เงินทองเราก็ไม่มี ถ้าไปหาหมอเร็วกว่านี้ ลุงก็คงไม่เป็นอย่างนี้”
ทางที่ป้าบุปผาเลือก ตอนนี้ป้าพาลุงไปรักษาต้อหินที่บ้านคุณทวด รักษาด้วยน้ำหมากในกระโถน เริ่มมองเห็นรางๆ
“ถ้าไปหาแล้วต้องไปต่อเนื่อง ท่านว่า ต้องรักษาด้วยคาถาสิบยี่สิบบรรทัด ถึงจะเห็น”
คุยถึงตรงนี้ มือไม้ป้าบุปผาเริ่มสานหมวกเร็วขึ้น ป้าว่าจะเร่งทำให้เสร็จสัก 2 ใบ เอาเงินเป็นค่ารักษา
ตอนนี้มีคนมาสั่งสานหมวกกะโล่ 10 ใบ ให้เสร็จภายใน 2 เดือนนี้ เขาให้ราคาดี ใบละสองพันบาท
...
นอกจากดิ้นรนรักษาผัวและลูก ป้าบุปผายังมีหมาแมวในวัด ที่ต้องเลี้ยงหลายตัว ตอนนี้เป็นหนี้พระอยู่ 3,500 บาท
ป้าและลุงได้เงินจากเบี้ยคนชรา แต่ก็ไม่พอใช้
“ลูกชายอีกสองคนมีลูกมีเมียไปแล้ว นานๆจะมาสักที มาทีก็ให้ตังค์พันหนึ่ง”
ปัญหาเฉพาะหน้า ป้าบุปผาอยากมีทุนไปซื้อหวายหอมและไม้ไผ่ ที่กาญจนบุรี ที่นั่นมีไผ่ปล้องเดียว ถ้าได้จะสานหมวกได้เร็วขึ้น
เย็นมากแล้ว ป้าบุปผาเล่าไปมือก็ยังคงสานหมวกไป ข้างกายป้ามีลูกชายคอยส่งเสียงคำว่าพุทโธ เหมือนให้กำลังใจและคอยเป็นเพื่อน
ชีวิตวัยปลาย...ที่รับผิดชอบทั้งลูกผัว ถามป้ายังมีกำลังใจสู้ต่อไปแค่ไหน ป้าว่า “เอาเหอะ สู้ไปเดี๋ยวก็ตาย แต่ไม่รู้ใครจะตายก่อนตายหลังเท่านั้น”.