เรื่องการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ไล่ทันสังคมโลกที่กำลังผลัดใบสู่ยุคดิจิตอล กลายเป็นปัญหาจิ๊บๆไปเลย เมื่อเทียบกับปัญหาใหญ่กว่าหลายเท่าที่รออยู่ข้างหน้าคือ ถ้ามนุษย์เรามีอายุยืนยาวขึ้นถึง 142 ปี ตามที่นิตยสารไทม์เคยเอามาขึ้นปกให้ฮือฮา แล้วพวกเราจะตั้งรับกันยังไง
จุดเริ่มต้นของแนวคิดสุดบรรเจิดนี้มาจากการทดลองกับ “หนู” ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งค้นพบว่า การให้ยาปฏิชีวนะ “แรพพามัยซิน” (Rapamycin) ช่วยให้หนูปกติมีอายุขัยยืนยาวขึ้น 1.77 เท่าตัว จากเดิมที่มีอายุขัย 27 เดือน พอได้ยาวิเศษขนานนี้ อายุขัยของหนูกลับยืนยาวขึ้นเป็น 48 เดือน อัศจรรย์เหลือเชื่อ ถ้าใช้ได้ผลกับมนุษย์จริงๆ ต่อไปในอนาคตมนุษย์เราก็จะมีอายุขัยยืนยาวขึ้นจาก 80 ปี เป็น 142 ปี!!
พอได้ยินอย่างนี้ เจ้าแห่งการสำรวจวิเคราะห์วิจัยเก็บสถิติรายงานต่างๆมาประมวลผลอย่าง “ไพรส์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส” ประเทศอังกฤษ เลยหยิบเรื่อง “มนุษย์มีอายุขัยยืนยาวขึ้น”มาเป็นโจทย์ใหญ่คาดการณ์แนวโน้มของโลกอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และความ ท้าทายใหม่ๆที่รออยู่ข้างหน้า
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า คนแก่สมัยนี้ไม่เหมือนคนแก่ในยุคปู่ย่าตายายของเรา อย่างน้อยคนยุคปัจจุบันก็มีอายุขัยยืนยาวขึ้นกว่าคนยุคก่อน 20 ปี แล้วทำไมคนยุคหน้า จะมีอายุขัยยืนยาวเกิน 100 ปีไม่ได้!! โดยหลายสิบปีมานี้มนุษย์ในประเทศพัฒนาแล้วมีอายุขัยยาวขึ้น เพราะวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมาก เรื่องการอนามัยและ สาธารณสุขก็เจริญขึ้นเยอะ คนสมัยนี้ยังรู้จักเลือกกินเลือกใช้ชีวิต และมีวิธีดูแลสุขภาพองค์รวมเป็นเรื่องเป็นราว
ก็เพราะศตวรรษแห่งผู้สูงอายุครองโลกกำลังจะมาถึง ในประเทศญี่ปุ่นมีการซุ่มเงียบพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางค้นคว้าวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุขัยสำหรับผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยเรียกขานซะโก้เก๋ถูกใจดีจังว่า “วัยแกรนด์ เจเนอเรชั่น” (ไม่ใช่วัยทองโดนทิ้งขว้าง หรือถูกลืม) ในบรรดาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เซ็กชันที่โตเร็วรุดหน้ากว่าใครเพื่อนคือ การพัฒนาระบบ Digital Health Care นำเทคโนโลยีไอทีอันทันสมัย มาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์เต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษา อนาคตข้างหน้าพวกอุปกรณ์การแพทย์พกพาติดตัวทั้งหลายจะยิ่งมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆกับชีวิต และสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่
...
โจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนทั้งโลกต้องขบคิดต่อไปคือ ทำยังไงจะผสมผสานความไฮเทคของเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ากับไลฟ์สไตล์ความต้องการแท้จริงของคนสูงวัย ซึ่งเติบโตมาแบบโลว์เทค ประเทศวิกฤติผู้สูงวัย เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เตรียมรับมือกับปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะถึงคิวของประเทศใหญ่ๆในยุโรป เช่น เยอรมนี, สเปน และอิตาลีที่ต้องผจญกับวิกฤติสาหัสสากรรจ์ โจทย์อีกข้อที่ต้องตีให้แตกคือ เมื่อประชากรสูงวัยล้นทะลักขึ้น รัฐบาลจะเตรียมแผนการรองรับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาวุโสเหล่านี้อย่างไร ทั้งในแง่ของโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน, การสร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับผู้สูงวัย ตลอดจนระบบสวัสดิการด้านสุขภาพและสาธารณสุข แม้แต่ในภาคการเงินการธนาคาร ก็ต้องคิดโปรแกรมใหม่ๆเพื่อดึงดูดเงินออมจากคนวัยเกษียณมากขึ้น เพราะต่อไปประชากรของเราจะมีอายุยืนยาวขึ้นเกือบเท่าตัว
การมีอายุขัยยืนยาวขึ้นเกินร้อยปี ต้องถือเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ของโลกยุคใหม่ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเรา ที่ต้องจบชีวิตการทำงานที่อายุ 60 เพราะขีดเส้นกำหนดไว้แล้ว บอกตรงๆว่าชักเริ่มจะเก๊กซิม เพราะมืดแปดด้านจริงๆ ไม่รู้จะ หาเงินที่ไหนเลี้ยงตัวเองจนถึง 142 ปี.
มิสแซฟไฟร์