เคยลงเรื่องร้องเรียนปัญหาการขอ “จดทะเบียนป้ายเหลือง” จยย.รับจ้าง ตามคำสั่ง คสช.

มีผู้ขับขี่ จยย.รับจ้างให้ข้อมูลเพิ่มว่า เมื่อต้นปี 57 ตกงานเพราะบริษัทที่ทำงานปิดกิจการ ต้องมาขับขี่ จยย.รับจ้างเป็นอาชีพแทน พอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว บรรเทาความเดือดร้อน

ตอนมาขับใหม่ๆยังไม่มีป้ายเหลือง แต่มีวินสังกัดที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง พอ คสช.เข้ามาเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนก็รู้สึกยินดี แต่พอไปลงทะเบียนจริงๆ

ปัญหาคือ รถ จยย.จดทะเบียนป้ายเหลืองไม่ได้

รถไม่ใช่ชื่อตัวเองเป็นชื่อภรรยา เนื่องจากตอนออกรถชื่อติดแบล็กลิสต์

สอบถามไฟแนนซ์ที่ออกรถแจ้งว่า สามารถเปลี่ยนชื่อได้ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าดำเนินการและค่างวดรถล่วงหน้า 2 งวดรวมแล้ว 7,000บาท

ไม่ทันเส้นตายให้ลงทะเบียน

คสช.เปิดให้วิน จยย.ทั่วประเทศลงทะเบียนแค่ 5-6 วัน ส่วนใหญ่ลงทะเบียนไม่ทันกัน

สอบถามเจ้าหน้าที่เทศกิจ แนะนำดีมากบอกว่า ไปออกรถใหม่ คำถามคือ ทำไมต้องให้มีหนี้เพิ่มเติม ปกติก็ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว คงไม่ได้ยินที่แจ้งว่าชื่อติดแบล็กลิสต์ออกรถไม่ได้

เจ้าหน้าที่หงุดหงิดบอกช่วยอะไรไม่ได้ รอเปิดลงทะเบียนรอบ 2

จนถึงตอนนี้เกือบปี

ยังไม่เปิดลงทะเบียนรอบ 2

พยายามสอบถามทั้ง สนง.เขตสาทรพื้นที่ที่ขี่ จยย.รับจ้างและขนส่งพื้นที่ 1 โยนกันไปมา

คำตอบคือ ยังเปิดให้ทำไม่ได้ ต้องรอคำสั่งวิน จยย.ที่เดือดร้อนบอกว่า ระหว่างที่รอคำสั่ง ทั้งทหารและตำรวจประสานงานกัน ออกจับ จยย.รับจ้างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนอย่างหนัก ดักจับ จยย.รับจ้าง ราวกับเป็นผู้ร้ายคดีอุกฉกรรจ์

ปรับในอัตราสูงถึง 1,000-2,000 บาท

คนที่มีป้ายเหลืองแล้ว แต่ไม่มีเสื้อวินแบบใหม่ตามที่ คสช.กำหนดก็โดนจับ

...

เหตุผลเพราะตอน คสช.เปิดให้ทำแจ้งข้อมูลไม่ชัดเจน ทำให้เข้าใจว่า ทำเฉพาะคนที่ยังไม่มีป้ายเหลืองเท่านั้น ทำให้คนที่มีป้ายเหลืองเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีชื่อในวินตกสำรวจไม่ได้รับเสื้อ

เป็นคำถามของผู้ขับขี่ จยย.ไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ทำไมปิดกั้นโอกาส คนที่ต้องการทำมาหากินโดยสุจริตได้มีที่ยืนอยู่ในสังคม คนที่ต้องการทำถูกต้องทำไม่ได้

ไม่แปลกที่โจรผู้ร้ายเต็มเมือง.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th