จากโศกนาฏกรรมที่เป็นอุทาหรณ์ ทรมานตายคารูเสาเข็ม 30 ปีจำไม่ลืม โศกนาฏกรรม ด.ญ.สร้อยเพชร และ 'สะเทือนใจไม่มีวันลืม...' เปิดปากผู้ร่วมเหตุสลด ด.ญ.สร้อยเพชร ตั้งศาล เข้าฝัน ใบ้หวย! ในตอนที่ 3 นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พี่เอ้ หรือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถึงวิธีการช่วยเหลือ ด.ญ.สร้อยเพชร บุญน้อย หรือผู้เคราะห์ร้ายที่อาจจะประสบอุบัติเหตุเช่นเดียวกับหนูน้อย ว่าจะมีวิธีการใดบ้างในการช่วยเหลือ ซึ่งนายก วสท. ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า
...
นายก วสท. กล่าวว่า เท่าที่ทราบ วันนั้นหลังเกิดเหตุ ทุกคนมีเป้าหมายมุ่งที่จะช่วยเหลือหนูน้อยสร้อยเพชร แต่กลับไม่ได้มีการเตรียมตัวและวางแผนที่ดี การที่จะลงมือกู้ภัย เราต้องกำหนดการจัดการภารกิจ (mission management) และต้องมี ผู้จัดการภารกิจ (mission manager) ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งคนนี้ต้องขอร้องกับทีมที่ปรึกษาและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายโยธาฯ ฝ่ายเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องจักร หมอที่เชี่ยวชาญเรื่องออกซิเจน บุคคลเหล่านี้ต้องมารวมตัวกันเพื่อประชุมกัน
สิ่งที่ต้องทำใน 1 ชั่วโมงแรก เราต้องส่งสายออกซิเจนและอาหารให้ได้ พร้อมกับส่งคลื่นวัดชีพจรลงไป รวมไปถึงเครื่องมือสื่อสาร แต่ 2 อย่างหลังในสมัยนั้นอาจจะยังทำไม่ได้
จากนั้น เราต้องเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมวางแผนกัน ซึ่งต้องมีการกำหนดแผนขึ้นทันที มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคนที่อยู่ในพื้นที่ต้องเป็น “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” เท่านั้น! เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะตนจำได้ตอนนั้นมีไทยมุงกว่า 500 คน พยายามเข้าไปในพื้นที่ เราต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้เสียก่อน
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุอีกว่า การจะช่วยแบบให้รอดชีวิต เรื่องประวิงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เรื่องออกซิเจน อาหาร สื่อสารได้จะดี เพราะเราต้องรู้ว่าสภาพเป็นอย่างไร แต่กลับกัน หากสมมติว่าเสียชีวิต เราจะมีวิธีการนำร่างขึ้นอีกแบบ แต่ก็ต้องคำนึงว่าเราต้องรักษาร่างให้สมบูรณ์ที่สุด
“ในอดีตทีมช่วยเหลือ ถือว่า mission failed เพราะไม่ได้มีการวางแผนที่ดี คิดแต่จะเดินหน้าภารกิจอย่างเดียว โดยที่ไม่เอาผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์สถานการณ์ก่อน”
จำลองเหตุการณ์ “เด็กตกเสาเข็ม” ในลักษณะเดียวกันทำอย่างไร...
นายก วสท. กล่าวว่า หากวันนี้มีเด็กตกเสาเข็มในลักษณะเดียวกัน เมื่อมีการดำเนินการสิ่งที่ชั่วโมงแรกควรทำไปแล้ว สิ่งที่จะทำต่อมาคือ
1. ล้อมคอก การล้อมคอกอาจจะล้อมเป็น 2 ชั้น คือชั้นนอกเป็นเขตที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามายุ่งเกี่ยว (ป้องกันไทยมุง) ส่วนชั้นที่ 2 คอกใน ก็จะมีเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงเครื่องจักรใหญ่ ห้ามเคลื่อนย้ายเพราะจะทำให้ดินกระเทือน
2. เครื่องมือเบา การจะช่วยชีวิตในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเบา ซึ่งตอนนั้นใช้เครื่องมือหนักในลักษณะ “ถอน” แล้วเสาเข็มแตก แต่หากเราใช้เครื่องมือเบาในลักษณะล็อกเสาเข็มเพื่อไม่ให้เคลื่อนตัว จะดีกว่า
จากนั้น เราอาจจะใช้วิธี “ตัด” เสาเข็มทีละชั้นๆ ซึ่งเริ่มจากการขุดดิน ทีละ 2 เมตร จากนั้นก็ตัดเสาเข็มออก หากเราขุดมากกว่านั้น เสาเข็มก็อาจจะเคลื่อนแล้วเกิดอันตรายได้ ในระหว่างนั้นเราก็คอยดูแลเรื่องอาหาร ออกซิเจน
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า การใช้วิธีนี้ อาจจะใช้ระยะเวลานาน แต่หากเราคอยส่งอาหาร ออกซิเจนเพียงพอก็สามารถต่ออายุเหยื่อได้ ยกตัวอย่าง เหตุดินถล่มทับเหมืองที่ประเทศชิลี กรณีนี้คนงานกว่า 30 คน ถูกดินทับลึก 600-700 เมตร เขาใช้เวลาช่วยเหลือนานถึง 2 เดือน ซึ่งทราบว่าปฏิบัติการครั้งนี้มีช่างเชื่อม “คนไทย” 2 คน ด้วย โดยเขาให้นั่งเครื่องบินมาจากเมืองไทยไป ส่วนคนที่ดูแลเรื่องปล่อง มาจากสหรัฐฯ เตรียมการกันอย่างยาวนาน แต่สิ่งสำคัญคือ อาหาร อากาศ การติดต่อสื่อสาร หากทำได้ก็จะยืดระยะเวลาได้
...
เช่นกัน กรณีเด็กตกรูเสาเข็ม หากเราหมดห่วงเรื่องอากาศ อาหาร แล้วค่อยๆ ขุด และตัดเสาเข็มเรื่อยๆ หากตัดได้ระดับหนึ่งแล้ว เราก็ใช้เครื่องมือสมัยใหม่ หย่อนลงไปเพื่อมัดกับตัว สามารถดึงขึ้นมาได้เลย
30 ปี ก่อน ไร้เทคโนโลยีสมัยใหม่...
นายกวิศวกรรมสถาน ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ตอบยาก อาจจะช่วยชีวิตหนูน้อยไม่ได้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าถ้ามีการวางแผนที่ดีกว่านี้ เรื่องนี้จะไม่ติดค้างอยู่ในใจ แต่เท่าที่ดูก็พบว่าการเลือกใช้วิธีดังกล่าวในการช่วยเหลือตอนนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แม้จะไม่การันตีว่าเด็กจะรอด แต่หากทำดีที่สุดแล้วคาดว่าคงพอมีโอกาสรอด
30 ปี ที่ผ่านมา เทคโนโลยีก็ถือว่าพัฒนาไปเยอะ สิ่งที่พิสูจน์และเห็นได้ชัดคือ กรณีโคลนถล่มปิดเหมืองที่ประเทศชิลี เรายังสามารถเอาขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากเกิดโคลนถล่มทับคนเลย แบบนี้ไม่มีทางรอด
“วันนั้นอาจจะเป็นเพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน พอมาเจอเหตุการณ์ก็รู้สึกตกใจ อยากจะช่วยอย่างเร่งด่วน โดยไม่มีการวางแผนเป็นขั้นตอน นอกจากนี้ ก็อาจจะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ แนะนำได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นวันนี้ ในฐานะผมเป็น นายกสมาคมวิศวกรรมสถาน ผมรู้ทันทีว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ก็จะดำเนินการไปทันที แม้จะช่วยเหลือไม่ได้ แต่เราจะไม่เหลือเรื่องที่คาใจ”นายก วสท. กล่าวทิ้งท้าย
...
จากเหตุสะเทือนใจดังกล่าว ทำให้ภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในเขตก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ 2554 กฎกระทรวง ที่กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง พ.ศ.2551 พบว่า
หมวดที่ 1 บททั่วไป ที่มีข้อกำหนดให้นายจ้างจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยหลายเรื่อง อาทิ
...
ข้อที่ 13 ให้นายจ้างติดหรือตั้งป้ายเตือนและป้ายบังคับในเขตก่อสร้างเพื่อความปลอดภัย เช่น ให้ระวัง ห้ามเข้า ให้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลโดยใช้เครื่องหมาย หรือข้อความที่เข้าใจง่ายและเห็นได้ชัดเจน
หมวดที่ 2 เขตก่อสร้าง
ข้อ 16 ให้นายจ้างกำหนดบริเวณเขตก่อสร้าง โดยทำรั้วสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ที่มั่นคงแข็งแรงไว้ตลอดแนวเขตก่อสร้าง หรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสมตามลักษณะงาน และจัดทำป้าย "เขตก่อสร้าง" แสดงให้เห็นชัดเจน
ข้อ 17 ให้นายจ้างกำหนดเขตอันตรายในเขตก่อสร้าง โดยจัดทำรั้วหรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสม และมีป้าย "เขตอันตราย" แสดงให้เห็นชัดเจน และในเวลากลางคืนให้มีสัญญาณไฟสีส้มตลอดเวลา
ข้อ 18 ห้ามนายจ้างอนุญาตหรือปล่อยปละละเลยให้ลูกจ้างเข้าพักอาศัยในอาคารซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือในเขตก่อสร้างนั้น เว้นแต่นายจ้างจะได้จัดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัย และได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากวิศวกร และให้เก็บหนังสือแสดงความเห็นชอบนั้นไว้ ณ ที่ก่อสร้าง เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ ทั้งนี้ นายจ้างต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรการตลอดเวลา
ในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบให้มีการเข้าพักอาศัยในอาคาร ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือในเขตก่อสร้างตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ติดป้ายแสดงเขตที่พักอาศัยให้เห็นได้ชัดเจน ณ เขตที่พักอาศัย
(2) จัดทำรั้วที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรง
(3) กำหนดทางเข้าออกและทำทางเดินเข้าออกที่พักอาศัยโดยมิให้ผ่านเขตอันตรายหากจำเป็นต้องผ่านเขตอันตรายต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อความปลอดภัยของลูกจ้าง รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายจากสิ่งของตกจากที่สูงด้วย
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ ด.ญ.สร้อยเพชร บุญน้อย หนูน้อยผู้เคราะห์ร้าย ประสบอุบัติเหตุตกลงไปในรูเสาเข็ม สาเหตุเพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง แต่การตายของเธอได้สร้างอานิสงส์ให้กับคนรุ่นหลัง เนื่องจากได้มีกฎหมายดูแลความปลอดภัยให้กับทุกชีวิตในพื้นที่ก่อสร้างมากยิ่งขึ้น