“ทรมานตายคารูเสาเข็ม ลึก 24 เมตร โศกนาฏกรรม ด.ญ.สร้อยเพชร” จากข่าวน่าสลดหดหู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อ 30 ปีก่อน สู่อุทาหรณ์เตือนใจผู้เป็นพ่อเป็นแม่ในปัจจุบัน โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เสาะหาบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้น จนได้มีโอกาสพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมถ่ายทอดวินาทีเป็นวินาทีตาย และลงพื้นที่สืบหาตำแหน่งที่เกิดเหตุ ณ วันนี้จุดที่เด็กน้อยหล่นลงไปในรูเสาเข็ม จะเปลี่ยนไปเช่นไร ต้องดู!
“ผมยังสังเวชจนถึงทุกวันนี้” เปิดใจ อดีต ผอ.รพ.ทหารผ่านศึก เหตุเด็กหญิงตกเสาเข็ม
นพ.วงศ์เมือง หงสกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก และในฐานะที่เป็นผู้บริหาร รพ.ในเหตุการณ์สะเทือนใจของครอบครัวบุญน้อย โดยนายแพทย์ท่านนี้มีอายุราว 85 ปีแล้ว แต่ยังจดจำเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดี พร้อมเปิดใจกับทีมข่าวว่า โชคร้ายที่วันเกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของคนงานก่อสร้าง แต่วันนั้นก็ยังมีคนมาทำงานเพื่อหารายได้เพิ่ม ซึ่งหนึ่งในคนงานที่มาทำงานในวันหยุดก็คือ พ่อของเด็กหญิงสร้อยเพชรที่ ณ วันนั้นห้อยกระเตงลูกมาที่บริเวณไซต์งานด้วย และด้วยความที่ต้องทำงานหยิบจับยุ่งอยู่ตลอดทั้งวัน จึงทำให้ผู้เป็นพ่อไม่มีเวลาดูแลลูกเท่าท่ีควร จนเป็นเหตุให้ ด.ญ.สร้อยเพชร เข้าไปวิ่งเล่นบริเวณปากหลุมของเสาเข็ม และพลัดตกลงไปค้างอยู่บริเวณก้นรูเสาเข็ม โดยที่ไม่มีผู้รู้เห็นแต่อย่างใด
...
ทันทีที่ทุกคนรู้ว่า ด.ญ.สร้อยเพชร ตกลงไปในรูของเสาเข็ม เจ้าหน้าที่ทุกภาคฝ่ายต่างระดมความช่วยเหลือเต็มที่ และคิดเสาะหาทุกวิธีการที่จะนำร่างของเด็กหญิงตัวน้อยๆ ขึ้นมาจากเสาเข็มลึกราวตึก 8 ชั้นให้ได้ ซึ่งอุปสรรคสำคัญในเวลานั้น ก็คือ ความที่เด็กยังมีอายุเพียงขวบกว่าๆ จึงไม่รู้ประสีประสาว่าต้องทำตัวอย่างไรถึงจะรอดพ้นจากนาทีชีวิต
แม้พ่อแม่จะพร่ำตะโกนลงไปว่า ให้หนูน้อยเอาเชือกที่ทางเจ้าหน้าที่หย่อนลงไปโยงตัวเองเข้ากับเชือก เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดึงขึ้นมา แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ไม่เป็นผล เด็กยังอายุน้อยเกินไปที่จะเข้าใจในสิ่งที่คนบนปากหลุมตะโกนลงไป
“ตอนนั้นเราช่วยเหลือสร้อยเพชรทุกวิถีทาง ทางเจ้าหน้าที่ส่งเชือกให้เด็กดึงกระตุกเอาไว้ แรกๆ เด็กก็ยังกระตุกเชือกอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ส่งนมส่งอาหารลงไป ใส่ออกซิเจนลงไป แต่เด็กก็อยู่ได้เพียงแค่พักเดียวเท่านั้น เด็กก็เสียชีวิต คาดว่า เด็กคงหิวและขาดอากาศหายใจในที่สุด เพราะว่าเด็กอยู่ใต้ดินลึกเท่าๆ กับตึก 8 ชั้น” นพ.วงศ์เมือง เล่าถึงนาทีชีวิตของ ด.ญ.สร้อยเพชร
อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานที่ก่อสร้างในสมัย พ.ศ.2528 ว่า นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีในยุคนั้น ได้เดินทางเข้ามาหารือเกี่ยวกับวิธีการหาทางช่วยเหลือวิกฤติชีวิตของ ด.ญ.สร้อยเพชร พร้อมกับพูดคุยถึงมาตรการความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างที่ไม่เข้มงวดรัดกุม ซึ่งในบางครั้งอาจมีพนักงานรักษาความปลอดภัยบ้าง ไม่มีบ้าง มิหนำซ้ำยังไม่มีรั้วรอบขอบชิด ใครจะเดินไปยังบริเวณสถานที่ก่อสร้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันก็สามารถทำได้
ในปัจจุบันมาตรฐานความปลอดภัยมีความแตกตากจากในอดีตอย่างมาก เนื่องจาก ณ เวลานี้มีข้อกำหนดและแนวปฏิบัติในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนงาน อาทิ การทำรั้วกั้นโดยรอบบริเวณก่อสร้างทั้งหมดเพื่อป้องกันผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในเขตก่อสร้าง, อาคารขณะก่อสร้างในที่มีช่องเปิดหรือที่ไม่มีแผงกั้น ควรทำราวกั้น และมีตาข่ายเสริมเพื่อป้องกันการตก ซึ่งตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่คนหนึ่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างอาคาร จำได้ว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นโดนผู้ใหญ่จัดการอย่างหนักเลย
...
“น่าสงสารมากๆ ผมยังสังเวชจนถึงทุกวันนี้ ถึงตอนนี้ผมยังทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เด็กหญิงคนนั้นอยู่เลย เพราะภาพเหตุการณ์ยังคงติดค้างอยู่ในใจผมเสมอมา สะเทือนใจอย่างที่ไม่มีวันลืมแน่นอน” อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก วัย 85 ปี กล่าวถึงเรื่องราวของใครคนหนึ่งที่เขาไม่มีวันลืมเลือน
พยายามทุกทาง นอนคิดทุกคืน ค้นวิธีช่วยสร้อยเพชร!
ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้โทรติดต่อไปยัง พล.ต.ต.ทศ ธรรมกุล อดีต ผบก.ดับเพลิง ในฐานะที่เป็นผู้หาวิธีช่วยเหลือ ด.ญ.สร้อยเพชรตั้งแต่ได้รับการแจ้งเหตุ และเป็นทีมที่นำร่างของเด็กหญิงขึ้นมา แต่กลับพบว่า พล.ต.ต.ทศ ธรรมกุล ตำแหน่ง ผบก.ดับเพลิง ในสมัยนั้น ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 6 ปีก่อน ผู้รับสายของทีมข่าวจึงเป็นคุณอรวรรณ ธรรมกุล ภรรยาของ พล.ต.ต.ทศ
คุณอรวรรณ ธรรมกุล วัย 79 ปี คู่ชีวิตของ ผบก.ดับเพลิง ที่ช่วยนำร่าง ด.ญ.สร้อยเพชรขึ้นมาได้ เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ของ สร้อยเพชร จึงทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่ พล.ต.ต.ทศ ยังมีชีวิตอยู่ จึงได้มีโอกาสฟังประสบการณ์การทำงานของสามีอยู่บ้าง และหนึ่งในนั้น คือ เรื่องราวของ ด.ญ.สร้อยเพชร เด็กน้อยอายุอานามเพียงขวบเดียวเท่านั้น แต่ต้องตกลงไปถึงก้นหลุมของเสาเข็มที่มืดมิดและมีอากาศอันน้อยนิด มิหนำซ้ำยังมีเศษดิน เศษทรายไหลรินลงไปเรื่อยๆ อีก
...
“หากคุณทศยังอยู่ ตอนนี้ก็คงมีอายุย่างเข้า 85 ปีแล้ว แต่ดิฉันเชื่อว่า คุณทศคงต้องจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ดี ส่วนดิฉันพอจำได้ว่า คุณทศไปช่วยเด็กหญิงคนหนึ่งที่ตกลงไปในเสาเข็ม เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เด็กรอดชีวิต สุดท้ายเด็กเสียชีวิตไปเสียก่อน เขานอนคิดอยู่หลายคืนว่า จะนำร่างเด็กขึ้นมาอย่างไร และเขาก็ทำได้ แต่ทำได้เพียงเอาศพขึ้นมาให้พ่อแม่ได้เท่านั้น เขาหดหู่อยู่หลายวัน ตอนเขาอยู่ เขาก็ยังทำบุญให้ตลอด ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เขาจำไม่มีวันลืม และหยิบมาถ่ายทอดเป็นบทเรียนให้แก่ลูกหลานเสมอ” อรวรรณ ธรรมกุล ภรรยาถ่ายทอดเรื่องราวของ ด.ญ.สร้อยเพชรแทนสามี
...
ปัจจุบันจุดเกิดเหตุ เป็นเช่นไร?
ในปัจจุบันอาคารดังกล่าว คือ อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โธปิดิกส์ หรือที่เจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลเรียกขานกันว่า อาคารที่ 2 ของโรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยจุดที่เกิดเหตุอยู่บริเวณทางลาดขึ้นลงอาคาร ซึ่งปัจจุบันอาคารดังกล่าวยังแข็งแรง และสร้างประโยชน์ต่อโรงพยาบาลทหารผ่านศึกอย่างมากมาย
จากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณโดยรอบอาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โธปิดิกส์ ทีมข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับทหารผ่านศึกหลายนาย ซึ่งแต่ละนายได้พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ทหารผ่านศึกมานานมากกว่า 10 ปี ดังนั้น ทุกคนจึงเคยได้ยินเรื่องราวของ ด.ญ.สร้อยเพชร บุญน้อย เป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อหลายปีก่อน มีศาลเพียงตาของ ด.ญ.สร้อยเพชร ตั้งอยู่บริเวณข้างๆ อาคาร 2 นั่นเอง
ร.อ.สมโภช เจนพรมราช อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบริการ รพ.ทหารผ่านศึก วัย 63 ปี หนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้น เล่าให้ทีมข่าวฟังถึงที่มาที่ไปของศาลเพียงตา ด.ญ.สร้อยเพชรว่า หลังจากที่สร้อยเพชรเสียชีวิตลง ทางโรงพยาบาลได้ตั้งศาลเพียงตาของเธอไว้ตรงบริเวณโรงอาหารเก่าของโรงพยาบาล โดยมีผู้ไปกราบไหว้ และขอโชคขอลาภอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่บริเวณนั้นเป็นที่ทิ้งขยะ จึงทำให้ผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องของสิ่งเร้นลับมองว่า ไม่เหมาะที่จะตั้งศาลเพียงตาไว้บริเวณดังกล่าว ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ จึงช่วยกันขนย้ายศาลเพียงตาไปตั้งไว้ที่บริเวณด้านข้างอาคาร 2 ใกล้จุดที่เธอเสียชีวิต
“ประมาณปี 2553 มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท่านหนึ่ง เดินมาบอกผมว่า มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาเข้าฝันบอกว่า เขาอยู่ที่นี่มาหลายสิบปีแล้ว เขาอยู่ตรงศาลเพียงตา ตอนนี้เขาอยากไปเกิดแล้ว เขาอยากไปอยู่ในภพภูมิที่ดี ผมจึงมั่นใจว่า ต้องเป็นสร้อยเพชรแน่ๆ และเจ้าหน้าที่คนที่มาบอกก็ไม่ใช่ตำแหน่งระดับล่าง แต่เป็นคนที่เชื่อในวิทยาศาสตร์มาโดยตลอดเสียด้วย” ร.อ.สมโภช คนเก่าคนแก่ประจำ รพ.ทหารผ่านศึกจำได้ดี เพราะเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาได้ไม่กี่ปี
ต่อมา ร.อ.สมโภช ได้เรี่ยไรเงินจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการสวดส่งวิญญาณ ซึ่งทางโรงพยาบาลทำพิธีอย่างถูกต้องตรงตามหลักการทั้งสิ้น โดยเชิญผู้รู้มาทำพิธีสวดส่งวิญญาณของ ด.ญ.สร้อยเพชร บุญน้อย ให้ไปอยู่ภพภูมิที่ดี และได้ว่าจ้างรถยนต์ปิกอัพนำศาลเพียงตาไปไว้ที่รั้ววัดอุทัยธาราม ย่านบางกะปิ
ขณะที่ นายสมปอง สร้อยคำ อดีตหัวหน้าชุด รปภ.รพ.ทหารผ่านศึก ปี 2553 เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า สมัยที่ตนยังทำงานอยู่โรงพยาบาลแห่งนี้ ด.ญ.สร้อยเพชรเคยมาเข้าฝันตนตอนหลับยาม และบอกหวยเลขท้ายสองตัว ตรงเป๊ะอย่างไม่ต้องสลับที่ ซึ่งตนยังจำเลขนั้นได้ดี คือ เลข 53.