ขอบคุณภาพจาก http://www.microsoft.com/en-us/windows/features
Windows 10 ออกตัวจริงอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม 2558) ถือเป็นก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ในการผลักดัน Windows เข้าสู่ยุคสมัยใหม่
ผมเขียนถึง Windows 10 ในพื้นที่คอลัมน์นี้มาแล้วหลายครั้ง คุณผู้อ่านคงพอทราบว่าไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ Windows 7 ที่ออกในปี 2009 แต่ค่อนข้างล้มเหลวกับ Windows 8 ที่ออกในปี 2012 จนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไมโครซอฟท์ไม่มีที่ยืนมากนักในตลาดแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์พกพา โดนคู่แข่งทั้งแอปเปิลและกูเกิลแซงหน้าไปไกล
...
สามปีต่อมา ไมโครซอฟท์กลับมาอีกครั้งกับ Windows 10 (จงใจข้ามเลข 9 ไปเลย) และตั้งความหวังอย่างสูงว่าจะสามารถรวมจุดเด่นของ Windows 7 และ 8 เข้าด้วยกัน เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและส่วนแบ่งตลาดของตัวเองกลับคืนมา
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของ Windows 10 คือยกเลิก Start Screen แบบเต็มหน้าจอ (ที่เป็นปัญหาสำคัญของ Windows 8 บนพีซีจอไม่สัมผัส) กลับมาเป็น Start Menu แบบดั้งเดิมอีกครั้ง ซึ่งก็น่าจะช่วยให้แฟนๆ Windows 7 ที่ยังลังเลไม่กล้าอัพเกรดเป็น Windows 8 สะดวกใจมากขึ้นกับ Windows 10
สมัยของ Windows 8 นั้นไมโครซอฟท์เลือกทุ่มเทไปยังอินเทอร์เฟซสำหรับจอสัมผัสแบบสุดตัว ทำให้ผู้ใช้พีซีจอไม่สัมผัสที่สั่งงานด้วยเมาส์และคีย์บอร์ดไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะอุปกรณ์ต่างประเภทกันย่อมมีวิธีสั่งงานที่แตกต่างกัน ผลคือ Windows 8 ไปไม่สุดสักทาง ฝั่งผู้ใช้พีซีก็ไม่ค่อยชอบใจ ในขณะที่ฝั่งผู้ใช้แท็บเล็ตก็ชอบ iOS หรือ Android มากกว่า
พอมาถึงยุคของ Windows 10 ไมโครซอฟท์จึงยอมปรับตัว มีอินเทอร์เฟซที่แตกต่างกันตามอุปกรณ์แต่ละประเภท ถ้าใช้บนพีซีแบบเดิมจะเป็น Start Menu ที่คุ้นเคย แต่ถ้าใช้บนแท็บเล็ตก็จะเป็น Start Screen ที่ออกแบบให้ปุ่มใหญ่ เหมาะกับนิ้วสัมผัส เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับอุปกรณ์ลูกผสมแบบ 2-in-1 ที่เป็นได้ทั้งพีซีและแท็บเล็ต Windows 10 จะรู้อัตโนมัติว่าเรากำลังใช้งานมันแบบไหน ถ้าใช้เป็นแท็บเล็ตก็ปรับปุ่มให้ใหญ่ตาม แต่เมื่อไรที่เสียบเมาส์และคีย์บอร์ด หน้าจอจะปรับกลับมาเป็นแบบพีซีให้เองเลย (ไมโครซอฟท์เรียกฟีเจอร์นี้ว่า Continuum)
ของใหม่อย่างอื่นใน Windows 10 ยังมีอีกเยอะ แต่ขอคัดเฉพาะเท่าที่สำคัญมาเล่านะครับ ได้แก่ ระบบผู้ช่วยส่วนตัว Cortana ที่รองรับการสั่งงานด้วยเสียงพูดเหมือนกับ Siri ของแอปเปิลหรือ Google Now ของกูเกิล (แต่น่าเศร้าว่า Cortana ยังไม่รองรับการใช้งานในประเทศไทย) กับเว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ Microsoft Edge ที่เริ่มนำเข้ามาแทน Internet Explorer ที่ตกยุคไปแล้ว
ไมโครซอฟท์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับ Windows Phone ในฐานะระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟน และ Windows 8 ในตลาดแท็บเล็ต เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ไมโครซอฟท์ดันแยกระบบปฏิบัติการเป็นสองตัว (ในขณะที่คู่แข่ง iOS/Android ใช้ระบบปฏิบัติการตัวเดียวกัน) ส่งผลให้การสร้างแอพทำได้ยาก เพราะต้องแยกทำใหม่สองเวอร์ชั่น แม้แต่แอพของไมโครซอฟท์เองก็ยังเจอปัญหานี้
Windows 10 แก้ปัญหานี้ด้วยการรวมระบบปฏิบัติการสองรุ่นเข้าด้วยกัน มีวิธีการสร้างแอพแบบใหม่ที่เขียนครั้งเดียว ทำงานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และพีซี ไมโครซอฟท์เรียกแอพแบบใหม่ว่า Universal App ซึ่งแอพใหม่ทุกตัวใน Windows 10 เขียนขึ้นด้วยวิธีนี้ เช่น Microsoft Edge, แอพอีเมล, แอพปฏิทิน, แอพดูรูปภาพ ไม่ว่าจะใช้บนอุปกรณ์ใดเป็นแอพตัวเดียวกัน ความสามารถเท่ากันหมดไม่มีกั๊กแล้ว
...
Windows 10 ยังเปลี่ยนวิธีออกรุ่นแบบใหม่ที่เรียกว่า Windows as a Service คืออัพเดตความสามารถให้ตลอดเวลา เดิมทีไมโครซอฟท์ใช้วิธีซุ่มพัฒนาแล้วออก Windows รุ่นใหม่มาตูมเดียวทุก 3 ปี จากนั้นก็จะออกอัพเดตย่อยๆ แก้บั๊กให้ แต่จะไม่มีฟีเจอร์ใหม่ให้แล้วในรุ่นย่อย
กรณีของ Windows 10 นั้นกลับกันคือไมโครซอฟท์ออก Windows 10 มาครั้งแรก 29 ก.ค. จากนั้นจะทยอยอัพเดตความสามารถให้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การแก้บั๊กเหมือนรุ่นก่อนๆ ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลว่าไมโครซอฟท์จะอัพเดตบ่อยแค่ไหน แต่ข่าววงในแว่วๆ ว่าจะออกทุก 3-6 เดือนครับ
ผมลองใช้ Windows 10 เป็นประจำทุกวันมาสักระยะหนึ่งแล้ว พบว่าประทับใจกับฟีเจอร์ใหม่ของ Windows 10 หลายอย่าง แต่ในทางกลับกันผมก็พบว่า Windows 10 รุ่นเกือบตัวจริงมีบั๊กเยอะมาก (ขนาดเขียนคอลัมน์ตอนนี้ เครื่องยังค้างไปรอบหนึ่ง) ดังนั้นขอแนะนำว่าควรอัพเกรดแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ครับ
เวลาที่น่าจะเหมาะสมสำหรับการอัพเกรดเครื่องเดิมไป Windows 10 คือให้ผ่านไปสัก 3 เดือน (ราวเดือนตุลาคม) พอผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ เริ่มแก้บั๊กของ Windows 10 กับพีซีของตัวเองได้พอสมควรแล้ว ไดรเวอร์ต่างๆ เริ่มพร้อม มีแอพใหม่มากขึ้น น่าจะทำให้ประสบการณ์การใช้งานดีขึ้นมากครับ
...