กรรมการสรรหาคลอด ว่าที่ กสม.ใหม่ 7 คน รอ สนช.เช็กประวัติ ขณะที่ กสม.ชุดเดิมพอใจ ได้รายชื่อหลากหลายอิงตามหลักการปารีส เตรียมนำเสนอ ปธ. สนช. เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ...

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เผยแพร่ประกาศผลการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่คณะกรรมการสรรหาได้มีการประชุมพิจารณาคัดเลือกในวันนี้ โดยระบุว่า คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาเลือกบุคคลจากผลงาน หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กรอบแนวคิดในการดำเนินงานของผู้สมัคร หากได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยคำนึงถึงสัดส่วนชายหญิง ตามมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 และการเป็นบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน 7 คน

ประกอบด้วย 1. นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัว จ.สมุทรปราการ 2. นายบวร ยสินทร อดีตแกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน 3. นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี 4. นายวัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม 5. รศ.นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ อาจารย์พิเศษ (แพทย์) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี 6. นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 7. นางอังคณา นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตทนายความที่หายสาบสูญไป

ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหา จะได้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 206(2) ของรัฐธรรมนูญ 50 เสนอรายชื่อให้ที่ประชุม สนช.เห็นชอบภายใน 30 วัน หากเห็นชอบ ให้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากที่ประชุม สนช.ไม่เห็นชอบ ให้ส่งรายชื่อกลับมายังคณะกรรมการสรรหา ซึ่งถ้าคณะกรรมการสรรหายืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ประธาน สนช.ก็จะต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

...

ด้าน นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิฯ ได้แสดงความยินดีกับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกที่จะมาเป็น กสม.ชุดใหม่ เมื่อดูจากรายชื่อมีความหลากหลาย มีทั้งนักกฎหมาย แพทย์ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งถือว่าการคัดเลือกครั้งนี้ค่อนข้างเป็นไปตามหลักการปารีส อีกทั้งเชื่อได้ว่าผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ กสม.ชุดใหม่นั้น น่าจะมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างและแปลกใหม่ รวมทั้งสามารถมาสานต่องานจาก กสม.ชุดเดิมได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนกรณีสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน จะทำให้การทำหน้าที่ของ กสม.ชุดใหม่ยากกว่าเดิมหรือไม่นั้น เห็นว่าเราควรยึดหลักการสิทธิมนุษยชน ส่วนในมุมมองของนานาชาตินั้น หากเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ก็ต้องมีบทบาทในการทำงานร่วมกับ กสม.