"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้คุณครูลิลลี่มาแปลกกว่าทุกครั้งนะคะ เพราะครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการนำเอาตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่ออยู่หัวของปวงชนชาวไทยที่ทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 โดยทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ซึ่งพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัย รวมทั้งความห่วงใยในภาษาไทยที่สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เองเมื่อทางคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดความคิดที่จะกำหนดวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นมา เพราะตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย รวมทั้งมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย ทั้งยังเพื่อเป็นการกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงไม่รอช้าที่จะกำหนดเอาวันที่ 29 กรกฎาคมให้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ด้วยความสำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้นเองค่ะ
            
คุณผู้อ่านที่รักคะ ถ้าคุณกำลังอ่านไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้อยู่ อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงวันสำคัญที่คุณครูลิลลี่กล่าวมาข้างต้นแล้วนะคะ ครูขอใช้โอกาสสำคัญนี้ฝากความรู้สึกที่ดีและร่วมกันปลุกสำนึกที่ดีเกี่ยวกับภาษาไทยในใจของคุณผู้อ่านทุกท่านนะคะ วิธีการง่ายๆ ย้อนกลับขึ้นไปอ่านย่อหน้าแรกของไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ คุณผู้อ่านจะสัมผัสได้ทันทีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณ และพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยเพียงใด ยิ่งพระองค์ทรงห่วงใยภาษาไทยเพียงใด ยิ่งเป็นหน้าที่ที่เราคนไทยต้องตระหนักไว้ในใจอย่างดีที่สุด คุณผู้อ่านคะคุณครูลิลลี่มีข้อมูลที่ค้นคว้ามาฝากเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระองค์ค่ะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทยเป็นอย่างดี ทั้งภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก ที่งดงามทั้งภาษาและเนื้อหาอันทรงคุณค่า

...

คุณผู้อ่านที่รักคะ ปิดท้ายไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ ขอย้ำความรักษ์ภาษาไทยกันอีกครั้งด้วยพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ความว่า "ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องสื่อสารเเสดงความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรม และเอกลักษณ์ประจำชาติอีกด้วย ไทยเป็นประเทศซึ่งมีขนบประเพณี ศิลปกรรมเเละภาษา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล เราผู้เป็นอนุชนจึงควรภูมิใจช่วยกันผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้ อุตส่าห์สร้างสรรค์ขึ้นไว้ให้เจริญสืบไป"

instagram : kru_lilly , facebook : ครูลิลลี่