เรียกได้ว่าสิงห์นักดื่มมีหนาวๆ ร้อนๆ กันถ้วนหน้า จากที่เคยถูกจับคดีเมาแล้วขับ ศาลท่านก็เมตตาให้รอลงอาญา จ่ายค่าปรับและบำเพ็ญประโยชน์เหมือนที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อเกิดคดีตัวอย่างขึ้นมา มีการเผยแพร่คำพิพากษาศาลในสื่อสังคมออนไลน์ คดีเมาแล้วขับถูกตัดสินจำคุก 2 เดือน ส่งตัวเข้าเรือนจำทันที โดยไม่รอลงอาญา ทั้งยังถูกเพิกถอนใบขับขี่อีกด้วย

อุทาหรณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงดอนเมือง ได้มีคำพิพากษาคดีเมาแล้วขับที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดรายหนึ่ง เป็นจำเลยในความผิดฐานขับขี่ยานพาหนะในขณะเมาสุรา และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยจำเลยถูกตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ตั้งจุดสกัดตรวจแอลกอฮอล์ พบว่า จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 396 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ยอมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และใบอนุญาตขับรถ โจทก์จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริง ฐานขับขี่ยานพาหนะในขณะเมาสุรา จำคุก 4 เดือน ฐานไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับ 1,000 บาท ฐานไม่แสดงบัตรประชาชน ปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 2 เดือน ปรับ 600 บาท แต่เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมาก จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ประชาชนโดยรวม จึงไม่เห็นควรให้รอการลงโทษ และให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถของจำเลย จากนั้นศาลได้ออกหมายจำคุกส่งเข้าเรือนจำทันที

...

เมาแล้วขับ จำคุกทันที สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้สังคม !

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า เมื่อได้ประเมินจากการแชร์หรือการพูดถึงมากในโลกโซเชียลนั้น ถือว่าผู้คนตื่นตัวมากพอสมควร เนื่องจากคำพิพากษามีการเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง

ทั้งนี้ การที่ศาลแขวงดอนเมืองตัดสินออกมาลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการช่วยกระตุ้นให้สังคมได้เห็นว่า ทางศาลมีการเข้มงวดและตระหนักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคดีเมาแล้วขับจะต้องเข้าศาลแขวง โดยจะมีแนวปฏิบัติ หรือที่เรียกว่าบัญชีอัตราโทษ ซึ่งจะเป็นที่รู้กันในกลุ่มนักดื่มอยู่แล้วว่า ถ้ารับสารภาพก็จะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี รอลงอาญา พิจารณาตามระดับแอลกอฮอล์และส่งตัวไปคุมความประพฤติ

ส่วนโทษปรับก็จะลดลงกึ่งหนึ่ง โดยปรับ 5,000-20,000 บาท กรณีรถมอเตอร์ไซค์ จะปรับ 3,000 บาท และรถยนต์ จะปรับ 6,000-8,000 บาท ซึ่งลักษณะนี้คือแบบแผนปกติ แต่กรณีศาลแขวงดอนเมืองพิจารณาและตัดสินโดยการจำคุกทันทีนั้น ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ให้แก่นักดื่มและคนในสังคมได้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น และเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ต่างชื่นชมกับมาตรการลงโทษที่ไม่ต้องรอลงอาญา

จริงหรือ? โทษปรับใช้ไม่ได้กับคนมีเงิน

นพ.ธนะพงษ์ แสดงทัศนะในมุมมองส่วนตัวเรื่องการลงโทษจำคุกเมาแล้วขับว่า บทลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ให้จำคุกได้ถึง 1 ปี แต่ศาลแขวงดอนเมืองลงโทษเพียง 2 เดือนก็ถือว่าเป็นโทษหนักแล้ว

ทั้งนี้ ในอนาคตบทลงโทษคนเมาแล้วขับที่มีโอกาสได้รับการยอมรับจากสังคม และสามารถนำไปใช้ได้จริง คือ ลงโทษกักขัง โดยโทษกักขังจะทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น “ผมมองว่าเมื่อก่อนศาลลงโทษปรับ คนรวยก็จะมีเงินจ่ายค่าปรับ แต่สิ่งที่จะทำให้คนหวั่นกลัวคือการถูกจำกัดอิสรภาพ การเสียหน้า ถ้าโดนโทษและส่งไปคุมประพฤติก็กลัวเสียเวลาอีกเช่นกัน ซึ่ง 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนรวยไม่ค่อยชอบอยู่แล้ว จึงมองว่าโทษปรับไม่ค่อยได้ผลกับคนไทย โดยเฉพาะคนที่มีเงิน” ผู้จัดการ ศวปถ. แสดงความเห็น

...

เหล้า 6 แก้วผสม = แอลกอฮอล์ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ = การตัดสินใจช้าลง เสี่ยงอุบัติเหตุ 3 เท่า !

ตามกฎหมายระบุไว้ว่า หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา และ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่กำหนดไว้สามารถดื่มได้แค่ไหน นพ.ธนะพงษ์ มีคำตอบมาให้ โดยอธิบายว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประมาณ เบียร์ 2 กระป๋องหรือ 2 ขวดเล็ก, สุราบรั่นดี 40% 6 แก้วผสมหรือ 6 ฝา, ไวน์ 1 แก้วไวน์ เนื่องจากว่าคนเราเมื่อได้รับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ 40 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเริ่มมีนัยสำคัญต่อสมรรถนะของร่างกาย เช่น สมรรถนะในการรับรู้และตัดสินใจ ดังนั้น ปริมาณแอลกอฮอล์ ที่ 40-50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะส่งผลต่อการตัดสินใจช้าลงประมาณ ครึ่งวินาที ถึง 1 วินาที มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุประมาณ 3 เท่า

นพ.ธนะพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แอลกอฮอล์จะเริ่มมีผลกับร่างกายเมื่อขึ้นสู่ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อาการโดยทั่วไปของร่างกายจะมีความสนุกสนาน พูดเก่ง กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่พอ 40-50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเริ่มมีการตัดสินใจที่ช้าลง พอเกิน 50-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เริ่มมีอาการมึนเมา พูดมาก หัวเราะไม่มีเหตุผล ตะโกน โวยวาย ส่วน 100-150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีผลต่อการเคลื่อนไหว เดินเซ พูดจาฟังไม่ได้ศัพท์ 151-200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อาการเมาชัดเจน บางคนคลื่นไส้ 201-300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สติสัมปชัญญะสับสน อาเจียน 301-350 หมดสติ ไม่รู้สึกตัว และมากกว่า 350 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อันตรายต่อชีวิต เนื่องจากสมองไม่ทำงาน ศูนย์ควบคุมการหายใจเป็นอัมพาต

...

ขณะเดียวกัน หากมีปริมาณแอลกอฮอล์มากถึง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีความเสี่ยงมากถึง 8 เท่า และถ้าสูงกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงมากถึง 40 เท่า อย่างกรณีดังกล่าวนี้ ปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 396 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีความเสี่ยงถึงขั้นชีวิต เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์สูงมากอาจมีอาการช็อกได้

ชี้ชัด ดื่มนมเปรี้ยวก่อนเป่าแอลกอฮอล์ ไม่ช่วยอะไร !?

เคยมีคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในลงสื่อสังคมออนไลน์ โดยรายละเอียดในคลิปมีชายคนหนึ่งได้ดื่มบรั่นดีและเป่าแอลกอฮอล์ในทันที พบว่า มีแอลกอฮอล์สูงถึง 200 กว่า มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จากนั้น ชายคนดังกล่าวจึงดื่มนมเปรี้ยวและเป่าแอลกอฮอล์อีกครั้ง ผลปรากฏว่า แอลกอฮอล์ลดลง เหลือเพียง 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่านั้น พร้อมกับกล่าวอ้างว่า ดื่มนมเปรี้ยวสามารถช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ได้จริง

...

นพ.ธนะพงศ์ ได้เฉลยคลิปดังกล่าวว่า เหตุผลที่ตรวจพบระดับแอลกอฮอล์สูงนั้น เป็นแอลกอฮอล์ที่อยู่ในปาก เนื่องจากเมื่อดื่มบรั่นดีและเป่าแอลกอฮอล์ทันที ระดับลมที่ผ่านปากก็คือแอลกอฮอล์ที่เพิ่งดื่มไปเมื่อกี้นี้ ส่วนการดื่มนมเปรี้ยวและลดระดับแอลกอฮอล์ได้นั้น เป็นเพราะเพิ่งดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป จึงยังไม่ทันที่แอลกอฮอล์จะเข้าไปในกระแสเลือด เหมือนดื่มนมเปรี้ยวล้างปากแอลกอฮอล์ในปากก็หมดไป ทำให้เมื่อเป่าออกมาผลเลยน้อยกว่าปกติ

“คลิปนี้เป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด เมื่อไรก็ตามที่ดื่มสุราจนกระทั่งแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดและเกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ ต่อให้ดื่มนมเปรี้ยวปริมาณมากเพียงใดก็ช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนเรื่องยาที่ขายตามร้านเหล้า ผับ บาร์ทั้งหลาย อ้างสรรพคุณว่ากินยาตัวนี้แล้วจะช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นตัวยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรไม่มีตัวยาอะไรเป็นพิเศษ สรุปก็คือไม่ได้ผล” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ

นอกจากนี้ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงในอัตราที่ค่อนข้างคงที่ ดังนั้น ร่างกายของคนปกติจะขับแอลกอฮอล์ออกมา 15-20 มิลลิกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งอาจจะแตกต่างระหว่างบุคคลบ้าง ขณะที่ผู้ที่ดื่มหนักจะต้องใช้ระยะเวลากำจัดแอลกอฮอล์หลายชั่วโมง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจะต้องมีการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทันทีทันใด เพราะถ้าปล่อยเวลาผ่านไป โอกาสที่ปริมาณแอลกอฮอล์จะลดลงนั้นมีสูงมาก

อย่างไรก็ตาม คดีที่ศาลแขวงดอนเมือง สั่งพิพากษาจำคุก 2 เดือนหนุ่มเมาแล้วขับ โดยไม่รอลงอาญา กรณีตรวจแอลกอฮอล์และพบปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น คดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด ผู้กระทำผิดสามารถยื่นขออุทธรณ์ได้.