เครดิตภาพ เฟซบุ๊ก : Apiwat B. Ver
แห่แชร์ภาพ 'เมฆสีรุ้ง' ก่อนอาทิตย์ลับขอบฟ้า ว่อนโซเชียล ซึ่งสามารถมองเห็นอย่างชัดเจนหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงในเมฆจางๆ ซึ่งพบไม่บ่อยนัก ...
เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดปรากฏการณ์เมฆ สีรุ้ง บนท้องฟ้า ซึ่งเห็นได้ทั่วกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด ซึ่งปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง หรือ Irisation เรียกว่า Iridescence นี้ เกิดได้ไม่บ่อยนัก โดยเว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้อธิบายว่า เกิดจากการที่แสงอาทิตย์สีขาวตกกระทบเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ในเมฆจางๆ ซึ่งเป็นเมฆที่มีจำนวนหยดน้ำไม่หนาแน่นมากนัก เมื่อแสงตกกระทบหยดน้ำแต่ละหยด จะเกิดการหักเหเปลี่ยนทิศทางไปจากแนวเดิม แต่เนื่องจากแสงสีต่างๆ (ที่ประกอบขึ้นเป็นแสงสีขาว) หักเหได้ไม่เท่ากัน ผลก็คือ แสงสีขาวแตกออกเป็นสีรุ้ง และเนื่องจากในเมฆจางๆ ที่ว่านี้มีเม็ดน้ำขนาดต่างๆ กัน ทำให้สีรุ้งสีหนึ่ง ที่หักเหออกจากเม็ดน้ำขนาดหนึ่งๆ ซ้อนทับกับสีรุ้งอีกสีหนึ่ง ที่มาจากเม็ดน้ำอีกขนาดหนึ่ง จึงทำให้มองเห็นสีรุ้งมีลักษณะเหลือบซ้อนทับกันอย่างสลับซับซ้อน บางทีก็คล้ายสีรุ้งบนผิวไข่มุก บางทีก็ซ้อนกันเป็นชั้นๆ
...
ปรากฏการณ์สีรุ้งอาจเกิดในเมฆจางๆ บนท้องฟ้า โดยที่ไม่ต้องมีเมฆก้อนใหญ่ อย่างเมฆฝนฟ้าคะนองมาเกี่ยวข้องก็ได้ แต่เท่าที่พบกันบ่อยๆ ก็คือ สีรุ้งที่อยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีผู้แชร์ภาพเมฆสีรุ้งผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละมุมก็สามารถเห็นเมฆเป็นสีรุ้งได้อย่างชัดเจน