หลังจากในตอนที่แล้ว "ฟังให้รอบด้าน เสี่ยงจริงไหม? นมจากอกให้ลูกคนอื่น" ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พาแฟนๆ ไปฟังทุกๆ คำตอบ เกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ในกรณีให้นมจากอก กับลูกของคนอื่นแล้ว ในวันนี้ เราจะขอพาทุกท่าน ไปหาคำตอบที่ค้างคาใจหลายๆ คนมานานแล้วว่า นมจากเต้า VS นมผง อะไรกันแน่ที่ให้ประโยชน์กับทารกน้อยได้สูงสุด และจำเป็นหรือไม่ที่บรรดาคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย จะต้องเสียเงินจำนวนมากในแต่ละเดือนไปกับนมผงสำเร็จรูปสารพัดชนิด ทุกคำถาม...เรามีคำตอบให้คุณ

โดยในวันนี้ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และอนุกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อาสาจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้กับแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับทราบ...

รู้กันยัง...นมจากอกแม่ เลี้ยงลูกได้นานถึง 7 ปี โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท!

พญ.สุธีรา กล่าวว่า เป็นความเชื่อที่ผิดว่า สารอาหารจากน้ำนมแม่ จะลดน้อยลงและไม่มีประโยชน์สำหรับเด็กอ่อนในวัย 1 ปีขึ้นไป ความจริงแล้วแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนกว่าลูกจะอายุ 2 ปีครึ่งถึง 7 ปี โดย 6 เดือนแรกกินนมแม่ล้วน หลังจาก 6 เดือน เริ่มอาหารเสริมควบคู่กับนมแม่ 1 มื้อ , 9 เดือน กินอาหารเสริม 2 มื้อ และ 1 ปีกิน 3 มื้อ 

หลังจาก 1 ปี ควรให้ข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้ายังมีน้ำนมแม่ให้กิน ก็กินได้เรื่อยๆจนน้ำนมแม่หมด หรือ ลูกเลิกกินไปเอง ทั้งนี้ นมแม่มีประโยชน์มากกว่านมชนิดอื่นทุกช่วงอายุ ดังนั้น ถ้ามีนมแม่ก็กินนมแม่ ถ้านมแม่ไม่พอค่อยใช้นมอื่นที่ลูกไม่แพ้ แต่อย่ากินนมเกิน 24 ออนซ์ต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมชนิดอื่น หากลูกดูดเต้าบ่อยเกินไปหรือถี่กว่าทุก 4-5 ชม. จะทำให้ลูกกินข้าวได้น้อยเกินไปจนขาดสารอาหาร อาจจะส่งผลให้มีพัฒนาการไม่ดี เพราะติดเต้างอมแงม ถ้าลูกร้องไห้ขอกินพร่ำเพรื่อให้เบี่ยงเบนไปหากิจกรรมอื่นทดแทน

...

คนเป็นแม่ต้องรู้! นมผง VS นมเต้า ความต่างราวฟ้ากับเหว

สำหรับแม่ที่ทำงานนอกบ้านและอาจจะปั๊มนมลูกได้ไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้นมผงเสริมไปในส่วนที่ขาดได้ แต่ต้องใช้นมผงสูตรที่ลูกไม่แพ้ ไม่ใช่สูตรที่ราคาแพง ส่วนแม่ที่สามารถปั๊มนมได้มากกว่าที่ลูกต้องการ เมื่อกลับบ้านก็ต้องเอาลูกเข้าเต้าและใช้นมสต๊อกแค่ในช่วงที่แม่ไม่อยู่เท่านั้น ก็จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานถึง 6 ปี 11 เดือน แม้ว่าจะสามารถลางานได้เพียง 1 เดือนก็ตาม

ฟังกันชัดๆ! เด็กกินนมผง ป่วยบ่อยกว่าเลี้ยงด้วยนมแม่

ทั้งนี้ ร่างกายของแม่จะสามารถผลิตน้ำนมได้เรื่อยๆ ถ้าหากได้รับการกระตุ้นและมีการเอาน้ำนมออกอยู่เสมอ โดยการให้นมลูกจากเต้าและการปั๊มน้ำนม โดยที่คุณค่าของน้ำนมยังคงเหมือนเดิม อีกทั้งร่างกายของลูก ก็ยังต้องการสารอาหารต่างๆ ที่มีในนมแม่อีกด้วย

เนื่องจากเด็กที่อายุยังไม่ถึง 7 ปี (เทียบเท่ากับเด็กชั้น ป.1) ระบบภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ในนมแม่มีภูมิต้านทานและเม็ดเลือดขาวซึ่งจะไปเคลือบในคอและกระเพาะอาหารของเด็ก เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา จะมีภูมิต้านทานและเม็ดเลือดขาวจากนมแม่ ที่ออกมาจับทำลายเชื้อโรค ทำให้ลดโอกาสที่เชื้อโรคจะเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกาย

คนเป็นแม่ต้องรู้! นมผง VS นมเต้า ความต่างราวฟ้ากับเหว

หากใครมีลูกจะสังเกตได้ว่า เด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนจะไม่ค่อยป่วยบ่อย แต่เมื่อเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้วจะป่วยบ่อยในช่วงปีแรกก่อนจะค่อยลดน้อยลงเมื่อเข้าชั้นประถมศึกษา เด็กที่กินนมผงจะมีอัตราการป่วยบ่อยมากกว่าเด็กที่กินนมแม่ เช่น เด็กที่กินนมผงอาจจะป่วยมากถึง 3-4 ครั้ง ขณะที่เด็กที่กินนมแม่เพิ่งจะป่วยครั้งแรก

กุมารแพทย์ยกตัวอย่างกรณีนี้ว่า “หมอจะแนะนำคนไข้ว่าถ้าใครคลอดลูกคนที่สอง และลูกคนโตอยู่ในวัยไปโรงเรียนและป่วยบ่อย ป่วยทุกเดือน ให้พี่คนโตกินนมแม่ด้วย พี่คนโตก็จะได้ภูมิคุ้มกันจากนมแม่ ก็จะเห็นชัดว่าป่วยน้อยลงอย่างชัดเจน”

แทบช็อก! DHA นมผงใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง อยากให้ลูกเป็นอัจฉริยะต้องใช้นมแม่

กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดโรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวต่อว่า นมแม่ยังช่วยในด้านการพัฒนาทางด้านสมองของลูก เพราะสมองของทารกแรกเกิด จะพัฒนาเพียงแค่ 30% เท่านั้น และต้องมาพัฒนาอีก 70% ในช่วง 6-7 ปีแรกของชีวิต โดยเฉพาะเส้นใยประสาทสมองที่ยังสร้างปลอกหุ้มมาไม่สมบูรณ์แบบ ต้องพัฒนาต่อโดยใช้วัตถุดิบคือ DHA ในนมแม่

...

นมผงก็มีการพยายามเลียนแบบนมแม่ด้วยการใส่ DHA แต่เป็น DHA ที่เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง เนื่องจากเป็น DHA สังเคราะห์ ไม่เหมือนกับ DHA ธรรมชาติที่มีอยู่ในนมแม่

คนเป็นแม่ต้องรู้! นมผง VS นมเต้า ความต่างราวฟ้ากับเหว

มีงานวิจัยเปรียบเทียบนมผงที่ใส่ DHA และนมผงที่ไม่ใส่ DHA เพื่อดูว่านมผงที่ใส่ DHA จะทำให้เด็กฉลาดกว่าหรือไม่ ปรากฏว่าไม่ สิ่งที่ใส่เข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าใส่ว่า DHA รวมถึงล่าสุดที่เห็นในโทรทัศน์ว่าอัลฟ่าแลคตัลบูมินจะช่วยให้สมองเด็กพัฒนาตลอดเวลาแม้แต่ในเวลานอน ซึ่งสารที่จะใช้ประโยชน์ได้คือ ฮิวแมนอัลฟ่าแลคตัลบูมิน (Human Alpha-Lactalbumin) ที่มีในนมแม่ ไม่ใช่ โบวินอัลฟ่าแลคตาบูมิน (Bovine Alpha-Lactalbumin) ที่มีอยู่ในนมวัว ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

นอกจากนี้ ฟันน้ำนมยังเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกจะสามารถกินนมแม่ได้จนถึงตอนที่ฟันแท้ขึ้นเมื่ออายุ 6-7 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ก็พบว่าจะมีการหย่านมแม่ในช่วงที่มีฟันแท้ เนื่องจากการพึ่งพานมแม่ลดน้อยลง สามารถใช้ฟันแท้ในการบดเคี้ยวอาหารต่างๆ ได้ ฟันแท้ของเด็กในวัย 6-7 ปีมีรากทำให้สามารถเคี้ยวอาหารได้ ไม่จำเป็นต้องกินแต่อาหารนิ่มๆ เหมือนตอนเป็นทารก

...

มีอึ้ง! เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ เพราะแผนการตลาดบริษัทนมผง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม่ที่ให้นมลูกไม่สำเร็จทั้งที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญมีเพียง 5 % เท่านั้น โดยมีสาเหตุจากต่อมน้ำนมของแม่มีน้อย หรือมีภาวะบางอย่างทางฮอร์โมน ขณะที่แม่ที่สามารถให้นมลูกสำเร็จมีถึง 95% แต่ในประเทศไทยมีแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จเพียง 15% อีก 85% ไม่สำเร็จเป็นเพราะถูกตัดตอนตั้งแต่ที่โรงพยาบาล

“นมผง ที่เข้ามาช่วงแรกก็ใช้วิธีทำการตลาด โดยการไปแจกกิฟต์เซตกับทางโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง โดยหวังว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จะได้เข้าถึงบรรดาทารกที่เพิ่งคลอดใหม่ๆ เพื่อให้เด็กเกิดอาการติดขวดตั้งแต่นั้น ทีนี้พอเวลาไปเจอนมจากเต้าของแม่ ก็จะเกิดอาการไม่อยากดูดและร้องไห้ จนต้องให้นมผงไปเรื่อยๆ ซ้ำร้าย เมื่อเวลาพาลูกกลับบ้าน บริษัทนมผงเหล่านี้ ก็จะใช้วิธีมอบกิฟต์เซตเป็นถุงของขวัญ มีกระเป๋า ของเล่นและนมผงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ให้กับบรรดาคุณแม่มือใหม่กลับไปด้วย ทำให้กลายเป็นว่าเมื่อกลับบ้านไป แม้แม่จะเพียรพยายามเอาเข้าเต้าทีไร ลูกก็จะร้องไห้ทุกที ทีนี้พอลูกร้องหนักๆ เข้า พ่อแม่ก็จะเกิดอาการใจอ่อนไปชงนมผงมาให้ กลายเป็นการตัดวงจรการผลิตน้ำนมของตัวเองเพื่อให้กับลูกไปในที่สุด ซึ่งวิธีการทำการตลาดเช่นนี้ ส่วนตัวมองว่า เป็นการตลาดที่ไร้จริยธรรมอย่างยิ่ง” พญ.สุธีรา อธิบายเพิ่มเติม

คนเป็นแม่ต้องรู้! นมผง VS นมเต้า ความต่างราวฟ้ากับเหว

...

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก และจะมีกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทนมผงทำการตลาดเช่นนี้ โดยการห้ามบริษัทนมผงร่วมมือกับโรงพยาบาล และห้ามบุคลากรทางการแพทย์แจกนมผง เพราะแจกแล้วอาจได้รับสิ่งตอบแทน ทั้งในรูปแบบของเงิน หรือ การพาไปเที่ยวต่างประเทศต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทย เรายังไม่มีกฎหมายห้ามในเรื่องนี้

“ถ้าเกิดนมผงมีตั้งแต่สมัยก่อน มนุษย์ก็คงจะสูญพันธุ์เพราะว่าภูมิคุ้มกันโรคจะไม่ดีนัก แต่เนื่องจากปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้า มีวัคซีนและยาปฏิชีวนะเข้ามาช่วย ถึงร่างกายจะอ่อนแอลงไปจากการกินนมผง แต่ก็ยังพอดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทิ้งท้ายให้คนในสังคมได้คิด

เชิญชวนเซเลบ ร่วมรณรงค์นมจากเต้า มากกว่าเลือกเป็นพรีเซนเตอร์นมผง

พญ.สุธีรา กล่าวว่า หากดาราหรือเซเลบเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะช่วยเป็นการเผยแพร่ให้คนในสังคมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหลายคนก็มีการติดตามดารา เมื่อเห็นดาราให้นมลูกโดยไม่กลัวเรื่องทรวดทรง ก็จะทำให้คนเกิดความเข้าใจและสามารถตัดความกังวลในเรื่องนี้ออกไปได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ส่วนใหญ่ดาราหรือคนดังที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สักพักหนึ่งเมื่อเลิกเลี้ยงแล้ว ก็กลายเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับนมผง

ตอนนี้ก็มีคนในวงการบันเทิงอย่าง ซาร่า คาซิงกินี และ ลิซ่า อลิซาเบธ แซ๊ดเลอร์ ที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้ความรู้เรื่องนมแม่เป็นระยะๆ ทั้งใน Facebook และ Instagram และได้รับเกียรติบัตรคุณแม่อาสาที่คอยให้ความรู้ต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ ในวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

กุมารแพทย์ชี้ว่า โฆษณาก็มีส่วนทำให้แม่ตัดสินใจเลือกเลี้ยงลูกด้วยนมผง ทำให้บริษัทนมผงพร้อมที่จะลงทุนเสียค่าโฆษณาเยอะๆ อย่างเช่นในหนึ่งวันเราสามารถเห็นโฆษณานมผงได้หลายสิบครั้ง แต่ทั้งนี้การตัดสินใจต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับการหาข้อมูลของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้บนอินเทอร์เน็ต หรือบนโลกออนไลน์ก็มีให้ศึกษามากขึ้น

เปิดทุกมิติ นมผงเทียบนมจากเต้า ไม่เห็นฝุ่น!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามถึงสารอาหารมีในนมแม่ และได้รับคำตอบจาก พญ.สุธีรา ว่า นมแม่ประกอบด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด ขณะที่นมผงมีเพียง 60 ชนิดเท่านั้น และสารอาหารต่างๆ มีอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับทารกและเด็กในแต่ละวัย การที่ลูกกินนมแม่ จะช่วยให้ลูกไม่ต้องกินนมวัว ซึ่งมีสารหลายชนิดที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่นโรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคมะเร็ง ทั้งนี้ พญ.สุธีรา ได้ยกตัวอย่างสารอาหารในนมแม่ ซึ่งมีมากกว่านมผง มาดังนี้

กรดอะมิโนทอรีน (Taurine) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในนมแม่ จะช่วยในการสร้างสมองและจอตาของทารก นมแม่ยังมี Casein Proteins ต่ำกว่านมวัว ทำให้นมแม่ย่อยง่ายกว่าและดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

เอ็นไซม์ไลเปส (Lipase) ช่วยในการย่อยสลายไขมันในนมแม่ ทำให้การดูดซึมของสารอาหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไลเปสจะช่วยแปลงไขมันในนมแม่ ให้เป็นพลังงานกับทารก ทำให้ได้พลังงานสูงแต่ย่อยง่าย นมแม่จึงดีที่สุดสำหรับเด็กเกิดก่อนกำหนด เพราะเด็กที่เกิดก่อนกำหนดนั้นต้องการพลังงานมากแต่ระบบการย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์

กรดไขมัน Linolelic จะทำให้ Myelin ซึ่งทำหน้าที่รับส่งสัญญาณระหว่างสมองและร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงในช่วงที่ทารกกำลังเติบโต

คนเป็นแม่ต้องรู้! นมผง VS นมเต้า ความต่างราวฟ้ากับเหว

นอกจากนี้ในนมแม่ยังมีสิ่งที่นมผงไม่มีคือ เซลล์เม็ดเลือดขาว สารภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนของมนุษย์ สารกระตุ้นการเติบโตเส้นประสาทและสมอง เยื่อบุลำไส้ สารต้านการอักเสบ และสารต้านเซลล์มะเร็ง

พญ.สุธีรา ให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ส่วนที่บรรดานมผงยี่ห้อต่างๆ มักจะอวดอ้างว่า ให้วิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าน้ำนมแม่มากนั้น ในความเป็นจริง แม้นมผงจะให้สิ่งเหล่านั้นได้สูงกว่า แต่ทารกจะไม่สามารถดูดซึมสารอาหารเหล่านั้นได้ทั้งหมดอยู่ดี ในขณะที่นมแม่นั้น จะให้ปริมาณสารอาหารเหล่านั้นได้ตามความต้องการของทารกอย่างเพียงพออยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม