สปช.เหนียมไม่กล้าเสนอเอง ‘วิษณุ’ กั๊กให้รอ 2-3 วันชัดเจนปชป.ติงอย่าหลงลมสอพลอ

“วิษณุ” พลิ้วรัฐบาลยังไม่คิดปมทำประชามติ ต่ออายุ 2 ปีแม้ทำได้ แต่ยังไม่รีบเคาะ อดใจรอ 2-3 วัน มีคำตอบชัดเจนยืดโรดแม็ป จ่อชง สนช.แก้ รธน.ชั่วคราวซาวเสียงร่าง รธน.-ขยายเวลา กมธ.ยกร่างฯแค่ 10 หรือ 20 วัน “บิ๊กโด่ง” ป้องนายกฯ และทหารไม่กระหายสืบทอดอำนาจ กลุ่ม สปช.ตั้งแท่นชงที่ประชุมใหญ่หาข้อสรุป “ไพบูลย์” ชิ่งหลบกระแสค้าน โยนภาคประชาชนล่า 3 หมื่นรายชื่อชงรัฐบาลชะลอเลือกตั้ง โต้วุ่นรับงานปูทาง “ประยุทธ์” ลากยาว “วันชัย” กาง 3 เงื่อนไขแลกขอต่อวีซ่า กำหนดแผนชัดปฏิรูปอะไรบ้าง ไม่เสร็จมีบทลงโทษ เด็ก ปชป.เตือน “บิ๊กตู่” จะเสียคนตอนแก่ พท.ขู่แรงต้านปะทุ ต่างชาติแซงก์ชั่นหนักแน่ ครม.เขย่าร่าง รธน. ถ่วงเสถียรภาพรัฐบาล ให้หั่นทิ้งอำนาจ ส.ว.ออก ก.ม.-สแกนรายชื่อ ครม. ยุบรวม กก.ยุทธศาสตร์-สภาขับเคลื่อนปฏิรูป

หลังจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ให้อยู่ 2 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง ล่าสุดกลุ่มผู้ริเริ่มจะให้ภาคประชาชนเป็นฝ่ายออกหน้าล่ารายชื่อประชาชน 3 หมื่นชื่อเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อเลี่ยงครหาเป็นการสืบทอดอำนาจ

ครม.แจงข้อเสนอรื้อใหญ่ร่าง รธน.

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 มิ.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันสุดท้าย จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายก รัฐมนตรี ในฐานะตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า นายวิษณุจะได้เวลาชี้แจงทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง ระหว่างการพิจารณาขออนุญาตให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ซักถามรายละเอียดด้วย

...

ติงยาวเกิน–ถ่วงเสถียรภาพรัฐบาล

จากนั้นเวลา 12.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า ในส่วนความเห็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ควรสะท้อนหลักคิดที่ให้ยึดประเทศชาติและประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญแก่ประเทศชาติและประชาชน รัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมไทย ซึ่งมีปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะ ขณะเดียวกันต้องสะท้อนเอกลักษณ์ของตนเองและต้องไม่เป็นเครื่องมือนำไปใช้ก่อเหตุความขัดแย้ง และรัฐธรรมนูญไม่ควรยืดยาว ข้อความในบางมาตรายังยืดยาวและยังไม่ชัดเจน อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ บางกลไกเสี่ยงต่อการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปมีรายละเอียดมาก รวมทั้งมีองค์กรหรือคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญที่ให้เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก เป็นภาระด้านงบประมาณ

ดันรวม กก.ยุทธศาสตร์–สภาขับเคลื่อน

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ ครม.ให้น้ำหนักและให้ความสำคัญในการขอแก้ไข คือ มาตรา 130 เรื่องการเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบก่อนแต่งตั้งควรตัดออก เนื่องจากทำได้ยากและใช้เวลานานเกินไป มาตรา 207 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมควรตัดออก และเห็นควรให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไว้เหมือนเดิมไปก่อน ส่วนมาตรา 279 เรื่องการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่าการกำหนดให้มี 2 องค์กรอาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นว่าควรรวมทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกัน และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และจำนวนให้เหมาะสม

ตัด 15 มาตราหมวดปฏิรูปไว้ใน ก.ม.ลูก

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า ครม.เห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง 77 จังหวัด ที่ผ่านมามีไม่กี่จังหวัดที่มีผู้สมัครเกิน 10 คน ดังนั้นการตั้งกรรมการ กลั่นกรองจะทำให้ไม่มีความคุ้มค่าและจำเป็น จึงเห็นว่าควรจะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงไปเลยไม่ต้องมีกรรมการมากลั่นกรอง แต่ที่มา ส.ว.ที่เหลืออีก 123 คน ครม.ไม่ได้มีความคิดเห็น ส่วนอำนาจหน้าที่ ส.ว. ครม.คิดว่าการให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้จะก่อให้เกิดปัญหาและไม่มีความจำเป็น หากเสนอมาแล้ว ส.ส.ไม่เอาด้วยก็ตกไปอยู่ดี ดังนั้นไม่ควรเพิ่มอำนาจในการเสนอกฎหมายให้กับ ส.ว. ส่วนในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ครม.เห็นว่า 15 มาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเป็นเรื่องที่อาจจะยังปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต อาจขัดต่อนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลและเป็นการผูกมัดมากเกินไป ดังนั้นทั้ง 15 มาตรา ควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ

“วิษณุ” แทงกั๊กประชามติต่ออายุ รบ.

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้ มีการทำประชามติ เพื่อให้รัฐบาลทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 ปี ว่า รัฐบาลยังไม่คิดถึงเรื่องนี้ แต่คิดแค่ว่าจะต้องได้คำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างคุ้มค่า ถ้ามีคำถามอื่นถือเป็นของแถม ต้องไม่เสียเงินเพิ่มกว่า 3,000 ล้านบาท เรื่องที่จะถามเพิ่มเติม ครม.คิดไว้ หลายเรื่อง ไปถามหมดอาจจะพะรุงพะรัง รอไว้พูดเมื่อถึงเวลา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ลงรายละเอียดถึงคำถามในการทำประชามติ เพราะจะทำให้ถามเรื่องอื่นอีกไม่ได้ โดยหลักต้องเอาคำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญมาให้ได้ก่อน ถ้าคิดว่าประชาชนไม่สับสนในการกาบัตร แต่ถ้าหากไปใส่คำถามไว้มาก บัตรเลือกตั้งก็อาจยืดยาวกว่าบัตรเลือกตั้งแบบเยอรมัน ซึ่งรูปแบบการทำประชามตินึกไว้ในใจแล้ว แต่ยังไม่ขอตอบ เพราะถ้าคนอื่นไม่เห็นด้วย ก็จะแย่

ขยายเวลา กมธ.ยกร่างฯ ไม่เกิน 30 วัน

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว (2557) คืบหน้าไปมากแล้ว ส่วนการยืดกรอบเวลาให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ ทำงานต่อไปอีกก็ชัดเจนแล้วว่าจะขยาย แต่มีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ซึ่งตนไม่ขอบอกตอนนี้ และไม่จำเป็นที่จะต้องขยายออกไป 30 วัน อาจจะ 10 หรือ 20 วันก็ได้ เมื่อถามว่า ถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ผ่านมาพยายามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลถึงการต่ออายุ จนวันนี้ยังมีคดีความค้างคาอยู่ หากไปทำในลักษณะเดียวกันจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า บทเรียนมีอยู่จะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำเดิม หากเอาคำพิพากษามาดูจะรู้ว่าแบบเดิมเสียเพราะอะไร แต่ถ้าจะทำก็มีวิธีการอยู่

อุบไต๋รออีก 2–3 วันจะชัดเจน

เมื่อถามต่อว่าว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องยืดเวลาการปฏิรูปออกไปอีก 2 ปี นายวิษณุกล่าวว่า ตนอยากตอบ แต่ตอบไปกังวลว่าจะถูกโยงกับข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ทั้งนี้ เรื่องการต่ออายุของรัฐบาลเพื่อทำการปฏิรูปนั้นสามารถทำได้ แต่สมควรหรือไม่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาไตร่ตรองในขณะนี้ จะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ต้องมาคิดกันอีกที ไม่อยากยกตัวอย่างจะกลายเป็นการชี้นำ และไม่ขอตอบการประเมินผลงานปฏิรูปภายใต้โรดแม็ป 1 ปี ทั้งนี้ ขอให้อดใจรอ เพราะอีกไม่กี่วันจะชัดเจนในประเด็นโรดแม็ป และการส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้ติดตามจากข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจไม่ใช่ข่าวที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ผวาถูกด่าจี้ สปช.ตีปี๊บเหตุผล

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องที่ สปช.เสนอทำประชามติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปให้เสร็จแล้วค่อยจัดการเลือกตั้งว่า ไม่สามารถให้ความเห็นได้ขึ้นอยู่กับนายกฯ เมื่อถามว่า หวั่นเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหรือไม่ หากอยู่ต่ออีก 2 ปี นายยงยุทธกล่าวว่า ตอนนี้อ่านตามหน้าสื่อเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว และถ้าอยู่ต่อจริงจำเป็นต้องชี้แจงประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือไม่ ในเมื่อเป็นเรื่องที่สปช.เสนอมาก็ต้องไปถาม สปช. เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์

“บิ๊กโด่ง” พ้อปฏิรูปสำเร็จต้องใช้เวลา

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและ ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไปอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปให้เสร็จแล้วจะจัดการเลือกตั้งว่า โดยความคิดแล้วทุกอย่างควรเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ที่กำหนดลำดับขั้นตอนต่างๆไว้แล้ว แต่ถ้าจะถามว่าถ้ายังไม่เลือกตั้งแล้วควรต้องมีการปฏิรูปให้เสร็จก่อนหรือไม่ ตรงนี้ต้องร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นด้านต่างๆให้ สปช.ไปดำเนินการให้ครบถ้วน และต้องให้เวลา สปช. แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมและบนความเป็นจริง ดูว่าใช้เวลาเท่าไรถึงจะเรียบร้อย และทุกกลุ่มทุกฝ่าย ประชาชนจะต้องร่วมกันทำให้สถานการณ์นิ่ง เกิดบรรยากาศที่ดี

บ่นรัฐบาลทำปรองดองฝ่ายเดียว

พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า “ที่สำคัญทุกกลุ่มทุกฝ่าย ต้องรู้จักฟังเหตุผล ลดผลประโยชน์ตัวเองให้มากที่สุด ไม่กดดันผู้มีหน้าที่ ถ้าเสนอแนะแต่กดดันไปด้วยก็ไม่เรียบร้อย เรื่องปฏิรูปเองก็เยอะ ควรเอาชนะกันด้วยความคิดบนกติกา มีเหตุมีผล รวมถึงต้องมีเวลาให้ สปช.พอสมควร ถ้าบีบเร่งเขาเกินไปมันไม่ดี อยากจะฝากคือ ต้องลด ละวางความบาดหมางลง แล้วเอาส่วนรวม ความสามัคคีเข้มแข็งของชาติเป็นหลัก ถ้าบอกว่ารักชาติกันก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่บอกว่ารักชาติแต่คิดที่จะยังต่อสู้ เรื่องการปฏิรูปที่ใช้เวลาไม่นานนักจะไม่เกิดขึ้น เพราะมันไม่นิ่ง ความปรองดองจะถูกสร้างขึ้นมาเอง ในบรรยากาศที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายหันมาช่วยกัน แต่ขณะนี้ความปรองดองเหมือนรัฐบาลทำอยู่ฝ่ายเดียว จัดเวทีมาพูดจากัน แต่พอจบเวทีต่างๆไม่ฟังเหตุผลกันแล้ว ไม่ให้โอกาสนำความคิดเห็นเข้าสู่ระบบ รัฐบาลทำอย่างเดียวไม่ไหวต้องช่วยกัน รวมถึงเรื่องคดีความต่างๆ บางท่านที่ติดคดีต้องต่อสู้กันไปตามความเป็นจริง ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครไปชี้ให้คดีเป็นไปอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ กระบวนการยุติธรรมแทรกแซงไม่ได้ และไม่ควรไปแทรกแซงด้วย จะทำให้กระบวนการยุติธรรมประเทศไทยเสียหายไป ผลของคดีความต้องให้เป็นไปตามครรลอง”

ลั่นนายกฯ-ทหารไม่ต้องการอำนาจ

ผบ.ทบ.กล่าวว่า ในส่วนของนายกฯและทหาร คนชอบมองแต่ว่าต้องการแต่อำนาจหรือผลประโยชน์ เราเป็นทหารยุคใหม่ ไม่ได้ต้องการอำนาจผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์สอนเรามาตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. เมื่อทุกคนต้องรักประชาธิปไตย ทหารก็รักประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมแท้จริง จะปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยที่เป็นการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่รายละเอียดไม่สามารถจะทำให้ระบบที่ดีได้ ก็ไม่มีความหมาย จะกลับไปเหมือนที่ผ่านๆมา ในอนาคตอยากได้นักการเมืองที่ดี มีรัฐบาลที่ดี นำประเทศไปสู่ความมั่นคง และยั่งยืน ตามที่นายกฯวางยุทธศาสตร์ไว้ กลับมาเป็นผู้นำอาเซียนอีกครั้ง

“ไก่อู” ยันนายกฯไม่ยึดติดเก้าอี้

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวว่า นายกฯไม่ต้องการให้คนตีความหมายว่าท่านอยากจะอยู่ในอำนาจต่อไป ไม่อยากให้มองว่าอยากอยู่นาน ท่านต้องการทำภารกิจให้เสร็จสิ้นตามโรดแม็ป ท่านไม่ได้ยึดติดในอำนาจแต่ต้องการพัฒนาประเทศ และนายกฯจะไม่ทำอะไรเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ต่ออย่างแน่นอน เป็นเรื่องของสังคมที่จะตัดสินใจกันเอาเอง ส่วนจะกลายเป็นการจุดกระแสความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่นั้น นายกฯเป็นคนจุดหรือใครเป็นคนจุด คนที่แสดงความคิดเห็นเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่อาจจะไม่ถูกใจใครหรือไม่ ซึ่งนายกฯยึด 2-3 เรื่องคือ ฟังเสียงประชาชน ทำตามรัฐธรรมนูญและโรดแม็ปเท่านั้น ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องแต่ละคนว่ากันไป

“ไพบูลย์” โยน ปชช.ออกหน้าลุย

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการชงข้อเสนอการปฏิรูป 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งว่า จะผลักดันแนวทางดังกล่าวด้วยการทำประชามติ เริ่มต้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ขอให้มีการทำประชามติเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ สปช.คงไม่เป็นผู้ผลักดันด้วยตัวเอง จะให้ภาคประชาชนเป็นผู้ส่งข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 โดยการทำประชามติสอบถามประชาชนเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ทั้ง สปช. สนช. ตลอดจน กมธ.ยกร่าง รัฐธรรมนูญคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวผลักดันข้อเสนอดังกล่าว หากภาคประชาชนต้องการจะผลักดันการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ตนก็พร้อมเป็นบุรุษไปรษณีย์นำข้อเรียกร้องนี้ส่งให้นายกฯ

โต้แผนปูทาง “ประยุทธ์” ลากยาว

นายไพบูลย์กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่ได้รับใบสั่งมาจากใคร และไม่ได้เป็นการเสนอเพื่อปูทางให้นายกฯอยู่ในอำนาจทำงานต่อไป เพราะได้พูดเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนจะมีความชัดเจนเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ และก่อนที่นายกฯจะพูดเรื่องการอยู่ทำงานต่อ

ซาวเสียงชงเข้าที่ประชุม สปช.