กลายเป็นข่าวที่ช็อกวงการสื่ออีกครั้งหลัง นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจขายธุรกิจสิ่งพิมพ์ยกลอตให้ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ในนามบริษัทซีทรู ทำธุรกิจออร์แกไนซ์ รับจัดงานอีเวนต์ งานพีอาร์ งานโปรโมชั่นต่างๆ

ทำให้หลายคนสงสัยว่าเจ้าพ่อสื่อคนใหม่คนนี้เป็นใคร ทำไมถึงหาญกล้าโดดเข้ามาในสนามที่การแข่งขันดุเดือดเช่นนี้

ไทยรัฐออนไลน์รวม 15 เรื่องทำความรู้จัก 'เจ้าพ่อสื่อคนใหม่' ในนาม โจ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอหนุ่มหัวใจซ่า ซุปเปอร์คอนเน็กชั่นเมืองไทย !!

...


1.เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนหน้าจะติดอันดับมหาเศรษฐีด้วยทรัพย์สินมูลค่า 9.04 พันล้านบาท (สำรวจเมื่อ พ.ศ.2557) ธรรศพลฐ์ (เปลี่ยนชื่อจริงจากชื่อ 'ทศพล' โดยให้พระที่นับถือเปลี่ยนชื่อให้) เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวไม่มีแต้มต่อ เป็นลูกบุญธรรมฝรั่ง (คุณพ่อเป็นช่างทำรถเป็น Engineer คุณแม่เป็นแม่บ้าน) เกิดในครอบครัวชาวบ้านธรรมดาๆ แต่เป็นบ้านที่มีความเฮฮาและสนุกมากมาย 

2.ก่อนหน้าจะก้าวขึ้นเป็นเจ้าพ่อสื่อคนใหม่ที่เข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของแกรมมี่ทั้งหมด ได้แก่ หัวนิตยสารของแกรมมี่ทั้งหมด 6 ฉบับประกอบด้วย นิตยสารอิมเมจ ที่ทำธุรกิจมา 29 ปี, นิตยสารอินแมกกาซีน ทำธุรกิจมา 10 ปี, นิตยสารมาดาม ฟิกาโร่ ทำธุรกิจมา 10 ปี, นิตยสารแม็กซิม, นิตยสารเฮอร์เวิลด์ และนิตยสารแอตติจูด ตอนเด็กๆ เขาอยากเป็น 'ทูต' มาก่อน ด้วยเหตุผลได้เดินทางเยอะ แน่นอนว่ามาถึงตอนนี้ถือว่าสมใจเพราะเขาเดินทางทั่วโลกเป็นว่าเล่น

3.เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอแบค เรียนไม่เก่ง เกเร แต่แทบจะไม่เคยโดนเรียน (แต่สมองไม่เปิดให้จดจำตำรา) ชอบดื่ม และเป็นคนบ้าทำกิจกรรมมากๆ ใช้ชีวิตหมดไปกับนอกห้องเรียน ชอบเล่นกีฬา เช่น บาสฯ ชอบอยู่กับเพื่อนๆ โบกรถสิบล้อ แบกเป้ออกต่างจังหวัด เห็นครีเอตๆ แบบนี้ แต่เด็กๆ เขายอมรับว่าเรียนสอบได้คะแนนต่ำทุกวิชา ยกเว้นวิชาคอมพิวเตอร์ ที่สุดก็คว้าปริญญาตรีด้วยเกรดเฉลี่ย 2.01 กับระยะเวลาไม่มากไม่น้อย 5 ปีนั่นเอง  

4.ก่อนหน้าเข้ามาทำธุรกิจการบินมูลค่ามหาศาลนี้ รู้หรือไม่ว่า เขาเคยเป็นเซลส์ขายคอมพิวเตอร์ด้วยการแบกขึ้นรถเมล์ไปได้เงินเพียง 3,500-5,000 บาท (รวมค่าคอมมิชชั่น) ทั้งนี้เฉลี่ยแล้วเขาจะมีรายได้เพียง 8,000 บาทต่อเดือน (รวมแม่ให้อีกเป็นค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งเงินที่หามาได้ ก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร เก็บเอาไว้ท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ แบบที่ตัวเองชื่นชอบ

5.ก่อนเป็นซีอีโอแอร์เอเชีย ธุรกิจการบินมูลค่ามหาศาล ธรรศพลฐ์ ผ่านงานมา 3 บริษัท บริษัท อาดัมส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ทำเกี่ยวกับการตลาด โฆษณา และ บริษัทวอร์เนอร์มิวสิก (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจเพลง จนกระทั่งมาคุมบังเหียนใหญ่ที่ไทยแอร์เอเชีย

6.นอกจากงานข้างต้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนรู้ ธรรศพลฐ์ เคยทำงานอยู่กับท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และเขียนบทหนังถึงขั้นส่งไปชิงรางวัลออสการ์ เขาบอกว่าเป็นลูกมือท่านมุ้ยทำงานหนักมาก ไม่นอน 3 วัน 3 คืน แต่ก็สนุกมากเช่นกัน ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ติดต่อเมืองนอก ติดต่อ นู่น นี่ นั่น นั่งเขียนบท ตัดต่อบทส่งให้ดารา โดยรู้จักท่านมุ้ยเพราะเพื่อนที่เรียนด้วยกันพี่สาวเขาเป็นหม่อมที่รู้จักกับท่านก็เข้า-ออกในกองถ่ายตั้งแต่อยู่มัธยม โดยทำภาพยนตร์อยู่กับท่านมุ้ย 3 เรื่อง 1.คนเลี้ยงช้าง 2.มือปืน 2 สาละวิน และ 3.น้องเมีย โดยหนังเรื่องคนเลี้ยงช้างส่งออสการ์ โดยเขาเป็นคนทำซับไตเติ้ลซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่ส่งออสการ์

...

7.ธรรศพลฐ์ พูดถึงท่านมุ้ยว่า ดูยิ่งใหญ่มาก เก่งมีความสามารถ และอึด อดทนมากมาย ทำหนังแบบไม่หลับไม่นอน 3 วัน 3 คืน ถ้าไม่เสร็จก็ไม่นอนเลย ไม่รู้อยู่ได้ไง 'บางทีผมยังง่วงเลย แกอายุเยอะกว่าตั้งเยอะ' 

8.เขาเล่าประสบการณ์ที่ทำงาน บริษัท อาดัมส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ทำเกี่ยวกับการตลาด โฆษณา ว่าทำงานสนุกและได้ประสบการณ์มากทำอยู่นาน 5 ปี ส่วนการทำงานที่ warner music ก็สนุกมากๆ เช่นกัน ได้ลูกน้องดี ได้มิตรแท้ พี่แท้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพี่แอ๊ด และกลุ่มคาราบาว ปู-พงษ์สิทธิ์ มี วิยดา โกมารกุล และพี่ๆ อีกหลายๆ คน อยู่ที่นั่น 5 ปี แล้วกระโดดมาทำ แอร์เอเชีย โดยทีมงานแอร์เอเชีย ยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นทีมที่มาจาก warner music จากหลายๆ ประเทศ มาฟอร์มทีมกัน ตั้งกันเป็นแอร์เอเชีย แล้วก็เลยชวนกันออกมาทำ

9.ธรรศพลฐ์ บอกว่าออกมาทำไทยแอร์เอเชีย ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำธุรกิจการบิน ส่งผลให้ตอนแรกประสบปัญหาทุกอย่างเพราะไม่รู้เลย แต่เขาก็ใช้วิธีแก้ไปทีละเปลาะๆ 3-4 ปี จึงเริ่มที่จะพอเข้าที่เข้าทางบ้าง โดยในยุคแรกก่อนจะเป็นอาณาจักรที่นี่เริ่มต้นด้วยคนราว 200 เอง โดยบริษัทแม่แอร์เอเชีย ถือหุ้น 49% ธรรศพลฐ์และเพื่อนๆ ถือหุ้นในสัดส่วน 51%

10.ซีอีโอไทยแอร์เอเชียหัวใจซ่า ยอมรับว่าในยุคหนึ่งแอร์เอเชียถูกการเมืองมากระทบ เพราะขณะนั้นคุณทักษิณ (ถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย 49% ) ขายหุ้นให้เทมาเส็กแต่นโยบายไม่ชัดเจน คนในองค์กรเร่ิมไม่มั่นคง แต่พวกเขาต้องการให้ไทยแอร์เอเชียปลอดการเมือง ก็เลยคุยกับผู้บริหารทั้ง 5 คนในปัจจุบันว่าต้องไปซื้อกลับมาจากเทมาเส็ก ถามว่าตัดสินใจอย่างไร ตอนนั้นไม่ต้องตัดสินใจเลย ต้องทำเลย ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ทัน 

...

11.ในวงสนทนา 5 คนวันนั้นคุยอะไรกันบ้างหลายคนอยากรู้ ธรรศพลฐ์ บอกว่า ถามกันว่าเอาไหม ทุกๆ คน (ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย, พรอนันต์ เกิดประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน, นาวาอากาศเอกธนภัทร งามปลั่ง ผอ.การฝ่ายปฏิบัติการการบิน ปรีชญา รัศมีธานินทร์ ผอ.วิศวกรรม หม่อมหลวงบวรนวเทพ เทวกุล ผอ.การฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และสันติสุข คล่องใช้ยา ผอ.ฝ่ายการพาณิชย์) พูดตรงกันว่าเอา แล้วต่างคนก็ไปหาเงินเกือบพันล้าน โดยกู้แบงก์ต่างชาติเป็นก้อนทีเดียว ซึ่งวันนี้พูดได้เต็มปากและเต็มใจ ว่าไทยแอร์เอเชียคือของคนไทยเพราะจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

12.ปัจจุบันธรรศพลฐ์มีครอบครัวแล้ว มีลูกสาว 1 คน เขาบอกว่าเขาเลี้ยงลูกใกล้ชิดด้วยตัวเอง โดยลูกสาวออกนิสัยเหมือนพ่อ ออกติสต์ๆ ชอบเคป๊อป เขาเชื่อเรื่องการตีลูกแบบมีเหตุผล พอโตแล้วจะไม่ตีจะใช้วิธีพูดคุยด้วยเหตุผล และแม้จะมีเงินมากมหาศาล แต่เขาบอกว่าเป็นคนใช้ชีวิตปกติ ไม่ฟุ่มเฟือย และยังคงซ่าเหมือนเดิม

13.เขาเป็นผู้บริหารที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้โอกาสคน มีอารมณ์ขัน และเป็นคนพูดสั้นๆ ได้ใจความ ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

...

14.นักข่าวเคยถามธรรศพลฐ์ว่าถ้าเปรียบเทียบเป็นผู้หญิงไทยแอร์เอเชียจะมีบุคลิกยังไง หน้าตายังไง เขาบอกว่า เปรี้ยวและสวย แล้วคงจะไฮเปอร์เล็กน้อย มีกลิ่นหอมประจำตัว สโลแกน Now everyone can fly ก็ผุดขึ้นมาจากหัวของเขาเอง ด้วยความตั้งใจ อยากให้ทุกคนบินได้ ทรรศพลฐ์เคยประกาศว่าอีก 3 ปี ไทยแอร์เอเชียจะเป็นที่ 1 ในประเทศไทย เรื่องจำนวนผู้โดยสาร และกำไร

15.ธรรศพลฐ์บอกว่า สนใจการเมืองไหม แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา

อ้อ...ข้อนี้แถม ซึ่งอธิบายอนาคตของเจ้าพ่อสื่อคนใหม่หลังจากนี้ว่า 'มั่นใจว่าทั้งผมและทีมงานของนิตยสารเล่มต่างๆ ที่ทำอยู่มีประสบการณ์และชำนาญมาก และการเข้ามาลงทุนสื่อสิ่งพิมพ์ หวังจะทำให้วงการนิตยสารมีการปรับโฉมแบบผู้อ่านตะลึงและคาดไม่ถึง โดยมั่นใจว่าจะบริหารงานให้มีกำไรภายใน 3 ปี และหลังจากนั้นจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจ'

ในส่วนแนวทางในการบริหารงานนั้นจะให้ความมั่นใจกับบุคลากรที่อยู่เดิมในแต่ละเล่มทั้ง 6 เล่มรวมกว่า 80 คน จะไม่มีการปรับเปลี่ยนพนักงานแต่ละกองบรรณาธิการ ทุกคนทำหน้าที่ในความรับผิดชอบเดิม ผมแค่เข้ามาบริหารภาพรวมเท่านั้น โดยในส่วนของรูปแบบเนื้อหาในหนังสือ (คอนเทนต์) อาจจะปรับให้มีความสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคน เพื่อนำหนังสือทั้ง 6 เล่มจากระบบอนาล็อกมาลงในสื่อดิจิตอล ที่บริษัทได้เตรียมพร้อมไว้ เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าสู่ผู้บริโภคให้ง่ายขึ้น

และทั้งหมดนี้ คือเส้นทาง เรื่องราว และแนวความคิดของเจ้าพ่อสื่อคนใหม่ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ที่หลายคนดูจากโปรไฟล์ที่ผ่านมาน่าจะทำให้วงการนี้คึกคักอย่างไม่ต้องสงสัยแน่นอน.