ผ่านมา 6 ปีกว่า การดำเนินการถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นจำเลยในคดี ‘ทุจริตซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก’ จำนวน 33 ไร่ มูลค่ากว่า 772 ล้านบาท ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งลงวันที่ 21 ต.ค. 2551 ให้ยึดที่ดิน และเงินที่ซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมกับพิพากษาจำคุก 2 ปี ขณะที่ ปัจจุบันจำเลยยังอยู่ในระหว่างการหลบหนีคดี

ทั้งนี้ หากเทียบช่วงเวลาหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ขณะที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการเซ็นถอดยศในช่วงเวลาที่ผ่านมามีถึง 7 ท่านด้วยกัน คือ

1. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (รักษาการแทนและช่วยราชการ 8 เม.ย. 2551 ถึง 30 ก.ย. 2552)
2. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี (รักษาการแทน 4 ส.ค. 2552 ถึง 10 ส.ค. 2552 ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. 2 ก.ย. 2553 ถึง 14 ต.ค. 2554)
3. พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ (รักษาการแทน 9 ก.ย. 2552 ถึง 30 ก.ย. 2552)
4. พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ (รักษาการแทน วาระแรก 28 พ.ย. 2551 ถึง 21 ธ.ค. 2551 วาระที่สอง 1 ต.ค. 2552 ถึง 2 ก.ย. 2553)
5. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ (รักษาการแทน 15 ต.ค. 2554 ถึง 25 ต.ค. 2554 และ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. 26 ต.ค. 2554 ถึง 30 ก.ย. 2555)
6. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (คำสั่ง คสช. 1 ต.ค. 2555 ถึง 24 พ.ค. 2557)
7. พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ (รักษาการแทน 24 พ.ค. 2557 ถึง 30 ก.ย. 2557)

...

แต่ก็ไม่มี ผบ.ตร. คนใด ดำเนินการถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สำเร็จตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กระทั่ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ โดยวันที่ 2 มิ.ย. 2558 พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับถอดยศ ได้ออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเป็นเอกฉันท์ ทุกท่านมีความเห็นสอดคล้องตรงกันทุกประการให้มีมติถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เหลือเพียงแต่รอส่งกลับไปให้ พล.ต.อ.สมยศ ลงนามต่อไป

กระบวนการถอดยศตำรวจ !?

กระนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ค้นหาคำตอบเรื่องขั้นตอนและระเบียบการถอดยศตำรวจ โดย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้เซ็นชื่อลงนามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ได้ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 28 การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ โดยกระบวนการถอดยศมีขั้นตอน ดังนี้

1. ต้องเข้าเงื่อนไขตาม ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ข้อ 1 โดยให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอันประกอบไปด้วย

(1) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
(2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(3) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
(4) กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
(5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ

2. ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณา ในกรณีนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ตามคำสั่ง ตร.ที่ 256/2558 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2558 โดยมี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานคณะกรรมการ

3. เมื่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจเรียบร้อยแล้ว จึงจะส่งเรื่องไปให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณาและลงนามต่อไป

4. เสนอตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลงความเห็น หรือจะส่งไปยังสำนักพระราชวังโดยตรง

5. สำนักพระราชวังจะนำเรื่องส่งไปยังฝ่ายกฎหมาย เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะองคมนตรี ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างๆ และหารือกันก่อนที่จะนำความเห็นของคณะองคมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

6. เมื่อทรงตัดสินพระทัยและลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการลงมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ

7. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สันต์ กล่าวว่า กระบวนการถอดยศนั้น ขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการฯ จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หากไม่มีปัญหาขัดแย้ง แต่ขั้นตอนในช่วงท้ายอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยในปัจจุบันว่า ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาขณะนั้น จะใช้ระยะเวลาการถอดยศช้าหรือเร็ว 

ขั้นตอนการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ !?

แต่ทว่า ผู้ที่โดนถอดยศจะถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ระบุไว้ ดังนี้

1. ต้องเข้าเงื่อนไข ตามเหตุแห่งการขอเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ข้อ 7 ประกอบด้วย

(1) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
(2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(4) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(5) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(6) เป็นผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(7) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(8) เป็นผู้ประพฤติตนไม่สมเกียรติหรือนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปใช้ในกรณีไม่สมควร

2. ให้ต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ รวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานของผู้นั้น เพื่อส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรับเรื่องและพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชฯ ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืน ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

4. หากนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว จึงให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์

5. หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนแล้ว จึงจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เป็นอันเสร็จสิ้น

จากข้อมูลพบว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เคยได้รับ มีดังนี้

พ.ศ. 2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
พ.ศ. 2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ. 2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ. 2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. 2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. 2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
พ.ศ. 2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)

เทียบถอดยศ ‘ชลอ เกิดเทศ’ ใช้เวลาเพียงปีกว่า !?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ค้นหาข้อมูลเปรียบเทียบพบว่า คดีของ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ในคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ นั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2545 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน โดยลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จากกรณีการฆาตกรรมนางดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์ และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2549 ให้ลงโทษประหารชีวิต และคดีได้สิ้นสุดลงที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ให้ลงโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2552

จากคดีดังกล่าว พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ จึงถูกถอดยศ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรมาลา โดยเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 5 พ.ย. 2553 รวมระยะเวลาในกระบวนการถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชฯ ทั้งสิ้น 1 ปีกว่า เพียงเท่านั้น

โฆษก สตช. เผย ประเด็นเงื่อนไข 2 ข้อ ยังไม่ชัดเจน !?

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผช.ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก สตช. เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า จากระเบียบการถอดยศกรณีคุณทักษิณนั้น ยังไม่ชัดเจนในเงื่อนไข เนื่องจากหลักเกณฑ์ในข้อที่ 2. ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก แต่บางคดีถึงที่สุดไปแล้วก็ยังไม่ได้ถอดยศ กรณีของคุณทักษิณยังไม่ถึงที่สุด หมายความว่า คุณทักษิณยังไม่ได้ถูกจำคุก เพียงแต่ต้องคำพิพากษา ส่วนกรณีคุณชลอนั้น มีการจำคุกแล้วเมื่อปี 2537

สำหรับเงื่อนไขข้อที่ 6 ต้องหา ในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป หมายถึง ต้องถูกหมายจับก่อนแล้วจึงหลบหนี แต่ตอนที่มีการออกหมายจับคุณทักษิณนั้น ตัวของเขาไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย แต่อยู่ต่างประเทศและไม่ได้กลับเข้ามาในประเทศไทย กรณีนี้ถือว่าหลบหนีหรือไม่

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อนี้ ประเด็นยังไม่ชัดเจน และผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องกำลังพิจารณาอยู่ว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ยังต้องชี้แจงเพิ่มเติม ผบ.ตร. ยังเซ็นลงนามไม่ได้ เพราะมติยังไม่เสร็จเรียบร้อย ต้องให้คณะกรรมการไปพิจารณาให้ชัดเจนเสร็จสิ้นกระบวนการก่อน ถึงจะเสนอไปให้ ผบ.ตร. พิจารณาได้เพราะว่าจะต้องนำความกราบบังคมทูล ฉะนั้น จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนจนหมดประเด็นข้อสงสัย ซึ่งในการเสนอและนำความกราบบังคมทูล ถ้าไม่รอบคอบก็จะเสียหายอย่างมาก

นอกจากนี้ สาเหตุของการถอดยศในครั้งนี้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ระบุว่า ทางคณะกรรมการฯ ไม่ได้อ้างเหตุผลถอดยศในเรื่องที่คุณทักษิณได้ให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาหลีใต้ และคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เนื่องจากกระบวนการถอดยศเป็นเรื่องของทางกฎหมาย ข้อกฎหมายระบุไว้ว่าอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดๆ ที่นำมาพิจารณาการถอดยศก็ทำตามกฎหมาย

“ตอนที่ออกหมายจับคุณทักษิณอยู่เมืองนอก แต่พอออกหมายจับแล้วเขาก็ไม่ได้เข้ามาเมืองไทย ถามว่าการที่ไม่เข้ามาถือว่าหลบหนีหรือเปล่า กลับกันหากออกหมายจับแล้วและเล็ดลอดหนีออกไป แปลว่าหนีแน่นอน ส่วนที่ศาลตัดสินว่าต้องคำพิพากษาจำคุกนั้น คุณทักษิณไม่ได้ถูกจำคุก ทั้งหมดนี้มันเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ก็ต้องกลับไปพิจารณากันให้ชัดเจน” โฆษก สตช. กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว คำตอบของเรื่องนี้คงจะออกได้ 2 หน้า คือ ผบ.ตร. จะดึงเกมให้ยืดเยื้อตีกลับให้ไปพิจารณาใหม่ หรือจะเซ็นชื่อและส่งไม้ต่อให้นายกฯ ต้องจับตาดูกันต่อไป.