ปธ.บอลเพื่อนตํารวจ ดีเอสไอพบหลักฐาน ส่อโกงช.พ.ค.‘3พันล.’
ดีเอสไอแถลงตรวจสอบพบการทุจริตเงินกองทุน ช.พ.ค. 3,000 ล้านบาท หลังปล่อยกู้ให้บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ของ “เสี่ยบิ๊ก” ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ รองอธิบดีดีเอสไอแฉยับ ตรวจสอบหลักฐานการค้ำประกันเงินกู้แล้วล้วนปลอมเกือบทั้งหมด ทั้งดราฟต์ธนาคาร HSBC มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปลอมเงินสกุลดีน่าโครเอเชีย 950 ล้านเหรียญโครเอเชีย ก็เป็นเงินเก่ายกเลิกการใช้ไปแล้ว แม้แต่ใบหุ้นสโมสรเรดดิ้งมูลค่า 50 ล้านปอนด์ ก็เป็นชื่อของคนอื่นไม่ใช่ชื่อเสี่ยบิ๊ก เล็งเรียกตัวมาสอบสวน ขณะที่ ปปง.เริ่มขยับเตรียมอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
กรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) กับบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือเสี่ยบิ๊ก ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ เบื้องต้นต้องสงสัยว่า อาจมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตเป็นเงินหลายพันล้านบาท
ความคืบหน้าจากดีเอสไอ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อเดือน เม.ย.56 บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ได้เสนอโครงการร่วมกับโครงการเทอดไท้องค์ราชันย์ร่วมร้อยดวงใจถวายพ่อของแผ่นดิน ประสงค์ให้กองทุน ช.พ.ค.ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทบิล–เลี่ยนฯ จะได้รับผลประโยชน์ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 7 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี 1 วัน ต่อมา ช.พ.ค.ได้ซื้อตั๋วสัญญาจากบริษัทดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.56 จำนวน 500 ล้านบาท โดยมีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกัน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 จำนวน 2,100 ล้านบาท และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.57 จำนวน 400 ล้านบาท ซึ่ง 2 ครั้งหลังนี้ไม่มีการรับประกันตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคาร
...
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตามระเบียบ พ.ร.บ.สภาครูฯกำหนดไว้ว่า การจะร่วมลงทุนใดๆสามารถทำได้ แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สกสค. ซึ่งการปล่อยกู้ทั้ง 3 ครั้งนี้ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า ได้รับการอนุมัติ และตามระเบียบว่าด้วยข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค.ว่า ด้วยการเงิน การบัญชี ทรัพย์สิน และงบประมาณ พ.ศ.2547 ข้อ 9 (5) ระบุชัดเจนว่า ต้องมีการค้ำประกันจากธนาคารที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้การปล่อยเงินกู้จำนวน 400 ล้านบาท และ 2,100 ล้านบาทไม่มีการค้ำประกันจากธนาคาร สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินมีการกระทำภายในวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนคาดว่า อาจมีการตกลงกันล่วงหน้ากับธนาคารหรือไม่ เนื่องจากการทำธุรกรรมดังกล่าวทำหลังจากการอนุมัติเพียง 1 วัน และการเบิกเงินจำนวนมากจะต้องประสานธนาคารอย่างน้อย 1 วันขึ้นไป เพื่อให้ธนาคารทำเรื่องขอเบิกเงินไว้ก่อนล่วงหน้า
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหลักทรัพย์ที่บริษัทบิลเลี่ยนฯนำมาค้ำประกัน เบื้องต้นมี 7 รายการพบว่า 1.ตั๋วแลกเงิน (ดราฟต์) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ หรือ HSBC เลขที่ 33603330 ลงวันที่ 30 มิ.ย.57 จำนวน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ตรวจสอบกับธนาคารแล้วได้รับการยืนยันว่า เป็นเอกสารปลอม 2.ใบค้ำประกันของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 ฉบับ ตรวจสอบกับธนาคารเบื้องต้นแล้วได้รับคำตอบว่า น่าเชื่อว่าเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากรูปแบบเอกสารผิดไปจากรูปแบบมาตรฐานของธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดบางส่วนในเอกสารเพิ่มเติม 3.ใบหุ้นสโมสร THE READING FOOTBALL CLUB ประเทศอังกฤษ เลขที่ RFC000168 มูลค่า 50 ล้านปอนด์ ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบข้อมูลว่า นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของสโมสรเรดดิ้ง
รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า 4.เงินสกุลดีน่า (โครเอเชีย) 950,000,000 HRK หรือ 950 ล้านเหรียญโครเอเชีย จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้รับข้อมูลว่า ธนบัตรทั้งหมดน่าจะเป็นของจริงแต่เป็นธนบัตรที่ยกเลิกการใช้แล้ว ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมไปทางประเทศโครเอเชียว่า ยังสามารถนำไปแลกคืนได้หรือไม่ และมีมูลค่าปัจจุบันจำนวนเท่าใด 5.โฉนดที่ดินจำนวน 33 แปลง และเอกสาร นส.3 ในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 16 แปลง พบว่ามีใบประเมินราคาจากกรมที่ดินว่ามีมูลค่าประเมิน 37 ล้านบาท อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด รวมถึงมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบัน 6.เช็คธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0482284 ลงวันที่ 28 ธ.ค.57 มูลค่า 2,100 ล้านบาท อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และ 7.สัญญาค้ำประกันตัวเองของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ต้องมีการสอบปากคำนายสัมฤทธิ์ในประเด็นการจัดทำเอกสารฉบับนี้ต่อไป
“ทั้งนี้ การดำเนินการของอดีตผู้บริหาร สกสค.และคณะกรรมการบริหารกองทุนฯที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติและร่วมดำเนินการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2542 และในส่วนของบริษัทบิลเลี่ยนฯ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมดังกล่าว มีส่วนในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการกระทำความผิด ดีเอสไอคาดว่าจะสรุปเรื่องส่งต่อไปยัง ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายในสัปดาห์นี้ และจะประสาน ปปง.ดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินด้วย” พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าว
ด้านนายสมคิด หอมเนตร สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) เผยว่า กรณีที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของอดีตผู้บริหารสำนัก งานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) รวมถึงผู้บริหารและกรรมการกองทุนสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) ที่ถูกร้องเรียนว่า มีการดำเนินโครงการต่างๆไม่โปร่งใส ล่าสุดตนได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน คตร.และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถึงการตรวจสอบหลายโครงการที่ผู้บริหาร สกสค.และกองทุน ช.พ.ค.ดำเนินการในหลายประเด็น สามารถชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา และเตรียมจะอายัดทรัพย์ผู้บริหาร สกสค.บางคนด้วย
“ก่อนหน้านี้ คตร.ได้ประสานให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค. และนายเกษม กลั่นยิ่ง ประธานกองทุนสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค.ไว้ที่ สน.ดุสิต พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ปปง.ยังเตรียมอายัดทรัพย์อดีตผู้บริหาร สกสค.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสด้วย เพราะเกรงว่าอาจจะมีการโยกย้ายถ่ายเทไปซุกไว้ที่อื่น” นายสมคิดกล่าว
...
แหล่งข่าวระดับสูงใน สกสค.เผยว่า ตามที่สำนักงาน สกสค.ได้ประสานไปยังธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ เพื่อให้ตรวจสอบเช็คเงินสดที่บริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด นำมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญาวงเงินกู้ร่วมทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ จ.เพชรบุรี จำนวน 2,500 ล้านบาทนั้น ทางธนาคารได้แจ้งให้ทราบว่า เช็คฉบับดังกล่าวเป็นของจริงแต่ไม่สามารถเบิกเงินได้ตามยอดที่ระบุไว้หน้าเช็ค และทางธนาคารไม่ได้แจ้งให้ทราบด้วยว่ามียอดเงินที่สามารถเบิกได้จริงจำนวนเท่าใด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือเสี่ยบิ๊ก นักธุรกิจพันล้านและเป็นประธานบริหารสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ เข้าแจ้งความกับ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป.ให้ดำเนินคดีกับนายบุญส่ง สุขโขทัย หรือประยุทธ รัศมีแพรวพราว อายุ 65 ปี อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จ.สมุทรสาคร พร้อมพวกรวม 9 คน อ้างว่าถูกทั้งหมดพาตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวและกรรโชกทรัพย์เป็นเงิน 177 ล้านบาท เหตุเกิดที่ค่ายลูกเสือบึงปรีดา ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม ส่วนมูลเหตุน่าจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งที่นายสัมฤทธิ์ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ในนามบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ใน จ.เพชรบุรี ต่อมาทาง สกสค.ขอเข้า ร่วมโครงการ โดยนำงบประมาณ 2,100 ล้านบาทมาลงทุน จนมีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายสัมฤทธิ์ ในความผิดฐานกระทำการสนับสนุนข้าราชการโดยมิชอบ และผิดระเบียบการกู้ยืมเงินของ สกสค. พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. จึงสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 คนเอาไว้
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายบุญส่ง สุขโขทัย หรือประยุทธ รัศมีแพรวพราว อายุ 65 ปี อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จ.สมุทรสาคร ผู้ต้องหาตามหมายจับ ข้อหาเป็นหัวหน้าอั้งยี่ ร่วมกันกรรโชกทรัพย์ และร่วมกันทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ เข้าพบ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป.เพื่อรับทราบข้อหา โดยนำเอกสารหลักฐานพร้อมกับทำแถลงการณ์ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นมอบให้กับพนักงานสอบสวนไว้ประกอบการพิจารณา ระบุว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 สกสค.อนุมัติเงินกู้ให้แก่เอกชนรายนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นจำนวนเงิน 500 ล้านบาท ต่อมาอนุมัติให้กู้เพิ่มอีก 2,100 ล้านบาท โดยบริษัทไม่มีหลักประกันใดๆให้ สกสค. ทั้งยังจ่ายเงินให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ใน สกสค.กว่า 200 ล้านบาท ทั้งที่บริษัทดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทได้ไม่ถึง 2 ปี และไม่มีการนำตั๋วอาวัล หรือหนังสือรับรองจากธนาคารมาค้ำประกันเงินกู้ตามระเบียบ และการกู้เงินดังกล่าวครบกำหนดชำระเงินแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2557 แต่ปรากฏว่า ยังไม่นำเงินต้นจำนวน 2,100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับอีก 60 ล้านบาท มาส่งคืนกองทุนด้วย
...