จากสัปดาห์ที่ผ่านมาศุกร์สุขภาพได้นำเสนอเกี่ยวกับสาเหตุของลูกน้อยพูดช้าไปแล้ว สำหรับวันนี้ขอเสนอแนวทางการรักษาสำหรับลูกน้อยพูดช้า เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตหรือเฝ้าระวัง จะได้แก้ไขปัญหาไม่ให้รุนแรงเรื้อรังจนสายเกินกว่าจะแก้ไข

แนวทางในการรักษาเด็กพูดช้านั้น ทางการแพทย์ต้องหาสาเหตุก่อนว่าเด็กมีความผิดปกติทางการได้ยินหรือไม่ เด็กบางคนมาปรึกษาแพทย์ช้า เคยมีเด็กที่ผู้ปกครองพามาตรวจตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยไม่เคยสงสัยว่าการได้ยินบกพร่อง โดยเด็กจะพูดคุยได้น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน และพูดไม่ชัด ผลการตรวจพบว่าการได้ยินบกพร่องทั้งสองข้าง แต่เป็นในระดับเล็กน้อย

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องตรวจเมื่อเด็กพูดช้า คือ การได้ยิน แพทย์อาจจะสงสัยกลุ่มโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคออทิสติก หรือบางคนมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ช้าร่วมด้วย ซึ่งหากล่าช้ามากจะต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป

การเลี้ยงเด็กที่ดีจำเป็นต้องส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ควรมีการพูดคุยโต้ตอบกันเล่นกัน ถ้าไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น ปล่อยให้เด็กดูทีวี หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยที่คนเลี้ยงไม่มีเวลาเอาใจใส่และพูดคุย อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้เด็กพูดช้าหรือพูดได้ไม่สมกับวัย ผู้เลี้ยงดูควรเพิ่มเวลาพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันหรือการเล่านิทาน

...

วัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กของคนไทยมักมองว่าเด็กเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้ หมายถึงเด็กยังไม่สามารถสื่อสาร ผู้ใหญ่จึงมักจะพูดด้วยน้อย แต่ที่จริงแล้วเด็กได้ยินและจะเริ่มค่อยๆ เข้าใจเสียงที่คนอื่นกำลังพูดคุยกับเขา ร่วมกับการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว สมองเด็กสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและเกิดเป็นความจำ พร้อมที่จะนำไปใช้เมื่อเริ่มพูดได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรพูดคุยและโต้ตอบกับเด็กตั้งแต่เกิด เพื่อช่วยให้มีพัฒนาการทางภาษาอย่างสมวัย


รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง นิชรา เรืองดารกานนท์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี