ศุกร์สุขภาพประจำอาทิตย์นี้ขอนำเสนอการพูดช้าของลูกน้อยโดยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะเป็นอย่างไรนั้นไปฟังคุณหมอพร้อมๆ กันเลย
สาเหตุที่เด็กพูดช้ามีอยู่หลายปัจจัยด้วยกันปัจจัยแรกเป็นเรื่องพันธุกรรมจากครอบครัว เช่น มีญาติในตระกูลพูดช้า ส่วนปัจจัยอื่นๆได้แก่ การได้ยินบกพร่อง หรือสมองของเด็กที่จะประมวลข้อมูลทำงานผิดปกติ โดยปกติเมื่อได้ยินเสียงได้ยินคนพูดกัน เด็กจะค่อยๆซึมซับเข้าใจ พูดตามได้โดยอัตโนมัติ สำหรับการได้ยินผิดปกติมีตั้งแต่หูหนวกรุนแรงทั้งสองข้าง ซึ่งมักจะสังเกตได้ง่าย ไปจนถึงการได้ยินบกพร่องเพียงบางส่วนแต่หูไม่ได้หนวกสนิท เด็กกลุ่มนี้ก็อาจมีพัฒนาการทางภาษาได้บ้างแต่ล่าช้ากว่าวัย บางคนพูดได้แต่ไม่ค่อยชัด หากเด็กมีการได้ยินบกพร่องเพียงข้างเดียว อีกข้างหนึ่งปกติ จะไม่มีผลต่อพัฒนาการทางภาษา
นอกเหนือจากเรื่องการได้ยินก็เป็นเรื่องของการประมวลผลในสมอง มีผลงานวิจัยกล่าวว่า สมองในขณะที่กำลังพัฒนาของเด็กมีส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษา มีหลายส่วนที่ทำงานไปพร้อมๆ กัน หากบางส่วนทำงานหรือพัฒนาได้ไม่ดี จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก เด็กบางคนอาจจะคลอดก่อนกำหนด บางคนขาดออกซิเจนหรือมีโรคทางสมองอื่นๆ ที่มีผลให้สมองทำงานผิดปกติ
...
จากข้อมูลต่างประเทศในปัจจุบันพบเด็กที่พูดช้าและพัฒนาการล่าช้าในช่วง 5–6 ปีแรกของชีวิต ประมาณ 5–15% แต่ผลการสำรวจในประเทศไทยจะสูงกว่าต่างประเทศ คือพบประมาณ 20%ใกล้เคียงกับข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เพราะภาษาเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับสภาพแวดล้อม พ่อแม่ในสังคมที่กำลังพัฒนามักมีเวลาพูดคุยและส่งเสริมพัฒนาการกับเด็กน้อย จึงทำให้พบปัญหาพูดช้ามากกว่าสังคมที่พัฒนาแล้ว
วิธีการสังเกตว่าลูกพูดช้าผิดปกติ คือ เด็กยังไม่พูดในขณะที่ถึงวัยที่ควรจะพูด หรือมีพัฒนาการทางภาษาน้อยกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน ตามปกติแล้วเด็กจะเริ่มพูดคำแรกประมาณ 1 ขวบ หรือขวบกว่าๆจนถึงประมาณสองขวบ ผลการวิจัยได้ระบุว่าถ้าเด็กอายุขวบครึ่งยังไม่พูด ควรเริ่มสังเกตอย่างใกล้ชิดว่าเด็กเข้าใจ สิ่งที่คนอื่นพูดหรือไม่ หากความเข้าใจน้อยกว่าเด็กวัยเดียวกัน ก็ไม่ควรรอจนถึง 2 ขวบ หรือถ้ายังไม่พูดและไม่มีการใช้ภาษากาย เช่น การมองหน้าสบตา การใช้นิ้วชี้บอกแทนคำพูด มาช่วยสื่อสาร อาจสงสัยได้ว่ามีลักษณะเบี่ยงเบนในกลุ่มออทิสติก สำหรับเด็กที่พูดช้าเพียงอย่างเดียว แต่มีความเข้าใจภาษาเหมือนเด็กวัยเดียวกัน และไม่มีความบกพร่องของภาษาท่าทาง ภาษาชาวบ้านเรียกอาการนี้ว่า ปากหนัก ซึ่งส่วนมากจะไม่มีความผิดปกติใดๆ รุนแรง และมักพูดได้เป็นปกติในที่สุด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพ่อแม่มักพาเด็กพูดช้ามาปรึกษาหมอตอนอายุ 2–4 ขวบไปแล้ว เนื่องจากคิดว่า เดี๋ยวเด็กคงพูดได้เอง ซึ่งทำให้เด็กขาดโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตเด็กหลายคนแม้จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ แต่อาจจะยังคงมีภาษาล่าช้ากว่าเพื่อนจนถึงวัยเรียน ดังนั้นเมื่อคุณครูหรือพ่อแม่สงสัยว่าลูกมีภาวะพูดช้า แนะนำว่าควรให้การดูแลโดยไม่ต้องรอการตรวจวินิจฉัยโรคที่นานจนเกินไป เพราะการบำบัดช่วยเหลือในระยะเริ่มแรกจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า รวมทั้งแนวทางการช่วยเหลือมักคล้ายกันไม่ ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนิชรา เรืองดรากานนท์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี