กระแสนิยมในการหันมาใช้จักรยานเพื่อการสัญจรทั้งในเมืองหลวง และเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคยังคงเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มใช้จักรยานขับขี่เพื่อสุขภาพ...ท่องเที่ยว...กีฬา
แม้ว่าจะเกิดแรงเสียดทานจากอุบัติเหตุบนถนนถึงขั้นเสียชีวิตอย่างค่อนข้างถี่ยิบในระยะนี้นับตั้งแต่สองนักปั่นชาวอังกฤษที่ฉะเชิงเทรา...
นักปั่น...ชาวชิลีที่มุ่งสร้างสถิติปั่นรอบโลกที่ขอนแก่น
นักปั่น...ที่ตกเป็นเหยื่อทาสน้ำเมาที่เชียงใหม่
กระทั่งสถาปนิกสาวที่เพิ่งเข้าร่วมวงนักปั่นหน้าใหม่ที่ชานกรุง
หรือที่โชคร้ายบาดเจ็บจากยอดนักปั่นแขนเดียวชาวไทยในชานกรุงเมื่อไม่นานวันมานี้ ทำให้แรงต่อต้านจากบรรดานักปั่นเริ่มออกอาการปฏิเสธ “นักขับ”...หลังพวงมาลัยที่ไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน ซึ่งออกมาใช้ถนนร่วมกันอย่างรุนแรงในระยะนี้
อภิคุปต์ “ไกด์” ประสพทรัพย์ นักปั่นวัย 36 ที่หลงใหลกีฬาชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมจนถึงปัจจุบัน เคยปั่นทั้งเมืองไทยและในอเมริกา และยังเป็นบล็อกเกอร์เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับจักรยานอยู่ในสังคมสื่อออนไลน์อยู่เป็นประจำ ให้ข้อคิดแบบการมองเหรียญสองด้านว่า...
“จักรยานเป็นพาหนะชนิดหนึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ที่มีสิทธิ์จะใช้สัญจรได้เช่นพาหนะชนิดอื่นๆ หากแต่ผู้ใช้ถนนสาธารณะจะต้องมีกติกาในการใช้พื้นที่และข้อห้าม ที่อาจแตกต่างกันบ้างในการขับขี่ตามกฎหมาย ข้อสำคัญคือต้องระวังผู้อื่นไปด้วย”
ไกด์ยังให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า นักปั่นรู้ดีอยู่แล้วว่าจะต้องปั่นชิดขอบทางด้านซ้าย นอกจากกรณีมีสิ่งกีดขวาง และจะต้องมีไฟส่องสว่างทั้งด้านหน้าและหลังในยามกลางคืนชัดเจนในระยะการมอง
ทุกคันจะต้องติดกระดิ่งสัญญาณตามกฎหมาย แต่นักปั่นต้องถามตนเองด้วยว่าได้ปฏิบัติตนตามข้อนี้หรือยัง?
...
“คนขับขี่รถยนต์จะขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ไม่ควรสร้างปัญหาทั้งการขับเบียด ปาด แซง จักรยานแบบไม่เคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะพวกเมาแล้วขับ”
ไกด์ บอกอีกว่า สังคมนักปั่นกับนักขับกำลังแตกแยกกันอย่างสิ้นเชิง โดยนักปั่นถือสิทธิ์ในการใช้ถนนสาธารณะร่วมกัน ขณะที่นักขับกลับมองอย่างรังเกียจนักปั่นว่าควรไปปั่นกันในสวนสาธารณะไม่อยากให้ออกมาเกะกะบนถนน แต่ควรจะคิดกันบ้างว่า...
ถ้าคนส่วนใหญ่ออกมารับผิดชอบต่อสังคม ลดการใช้รถยนต์ลดพลังงานเชื้อเพลิงให้ถนนว่างเป็นช่องทางจักรยานมากขึ้น อุบัติเหตุก็จะลดน้อยลง สุขภาพผู้คนก็จะแข็งแรงขึ้น
ผลการวิจัยในหลายๆงานพบว่า การใช้จักรยานช่วยลดมลพิษทุกๆด้านสูงถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้รถยนต์
ธมลวรรณ เรืองขจร ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก มองว่า ถึงอย่างไร...การท่องเที่ยวโดยใช้จักรยานเป็นพาหนะแทนรถยนต์ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ปลอดสารคาร์บอนฯ
“นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กำลังขยายตัวมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา และหากมองถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมืองตาก ก็ล้วนมีองค์ประกอบที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นทุนอยู่แล้ว”
ธมลวรรณ ย้ำว่า เรามองถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบจักรยานอยู่ 3 แบบ คือ...
ชวนขับขี่เพื่อท่องเที่ยวแบบวิถีไทย เริ่มตั้งแต่ชมทิวทัศน์บนถนนขนานแม่น้ำปิง สู่ชุมชนบ้านเรือนไม้ตรอกจีนที่มีต้นกำเนิดมาแต่สมัยพระเจ้าตากสินเป็นเจ้าเมืองตากก่อนกู้แผ่นดิน แล้วไปชมวัดไทย วัดมอญ วัดพม่า ในตัวเมือง...
จากนั้น...ปั่นไปบ้านตากเมืองเก่าไหว้พระธาตุบ้านตาก สัมผัสชุมชนริมน้ำปิงที่เคยเป็นเมืองท่าแห่งการค้าขาย ก่อนไปสัมผัสบรรยากาศโรมานซ์ที่เขื่อนภูมิพล
แต่ถ้ากลุ่มเลือกปั่นผจญภัย...ด้วยเสือภูเขา ก็ใช้เส้นทางจากตากสู่อำเภอหลังแนวเทือกเขาถนนธงชัย มีตลาดมูเซอ ปางช้างปูเต้อที่แม่สอด และชุมชนเลี้ยงช้างอำเภอพบพระ-แม่ระมาด
ส่วนจุดหมายอีกด้านหนึ่งที่เหมาะกับนักปั่นทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มนักปั่นครอบครัว นั่นคือการปั่นเชื่อม 2 แผ่นดินจากแม่สอดข้ามลำน้ำเมยไปไหว้พระ เที่ยวตลาดท้องถิ่นของเมืองเมียวดีของพม่าที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบปลอดสารคาร์บอนฯ ด้วยจักรยาน ททท.สำนักงานตาก ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ได้ร่วมกับหอการค้าจังหวัดตาก จัดจักรยาน 2 แผ่นดิน จำนวน 1,600 คัน...ปั่นจากแม่สอดไปเที่ยวเมืองเมียวดี
การเปิดตัวโครงการนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างสูง กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม เป็นอีกครั้งที่มีการจัดรายการ “ล้อลิ่ว แล่นลม ชมตาก” ขึ้นมาอีก
งานครั้งนี้มีผู้ร่วมกิจกรรม 200 คน ขี่เที่ยวชมบ้านตรอกจีนกับวัดในตัวเมือง ก่อนไปบ้านตาก เขื่อนภูมิพล แม่ระมาดถึงแม่สอด
ล่าสุด...เพิ่งจัดกิจกรรมนำนักปั่น 80 ชีวิต ปั่นจากตากที่เขื่อนภูมิพลไปสู่เขื่อนสิริกิติ์ อุตรดิตถ์ เชื่อม “เขื่อนพ่อ” กับ “เขื่อนแม่” ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร เมื่อช่วงวันหยุดยาว 1-4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ธมลวรรณ สรุปท้ายด้วยว่า หลังการจัดกิจกรรมทุกครั้งคาราวานนักปั่นจะต้องมีกิจกรรมจิตอาสาพ่วงท้าย อาทิ ยิงสารอินทรีย์รักษาระบบนิเวศบึงหนองหลวง ทำฝายกั้นน้ำลำน้ำปิง สอนดนตรีแจ๊สแก่เยาวชนในพื้นที่ที่สนใจ
ขณะเดียวกันหากชมรมหรือสมาคมจักรยานกระทั่งบริษัทนำเที่ยวรายใดต้องการนำสมาชิกหรือลูกทัวร์ที่เป็นนักปั่นไปเที่ยวตากตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป สามารถติดต่อขอความร่วมมือได้ที่ ททท.สำนักงานตาก ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนในบางส่วนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมนักปั่นอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น
...
“จักรยาน”...ยังเป็นอุปกรณ์สำหรับการเดินทาง เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้นระหว่างรอรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของรัฐบาลนี้ผ่าน ก็ควรรีบตักตวงความสุขกันให้เต็มอิ่ม...
เพราะหลังจากนั้นไม่มีใครรับรองได้ว่า เมื่อนักการเมืองอาชีพหน้าเก่าเริ่มฟื้นคืนชีพ ความสุขของคนไทย 67 ล้านคน อาจต้องกลับมาอมทุกข์กันอีกเป็นคำรบใหม่!
ไม่แน่ว่า เมื่อถึงวันนั้น...ใครหลายคนอาจไม่มีอารมณ์ขับขี่จักรยานเที่ยว เก็บเกี่ยวความสุขได้อย่างเต็มอิ่มกันแบบวันนี้.