วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย แจง 4 ทางเลือกหากประชามติไม่ผ่าน ทุกทางมีข้อดีข้อเสีย รอ ครม.-คสช. ตัดสินใจ พร้อมระบุลง รธน.ชั่วคราว

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 58 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ ในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ ครม. ที่จะเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันเดียวกัน ไม่ถือว่ากระชั้นไป เพราะมีการเตรียมการไว้แล้ว วันดังกล่าวจะเป็นเพียงการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นของ ครม. ส่วนใดที่ ครม.สงสัยตนก็จะชี้แจง หากมีการยืนยันว่าจะต้องเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และสามารถส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ทัน เพราะเทียบเคียงจากการพิจารณาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่เสนอความเห็นไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ก็ไม่มีข้อทักทวงอะไรมาก

เมื่อถามว่า ที่สุดแล้วหากมีการตัดสินใจทำประชามติแล้วประชามติไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า มันมีทางเลือกอยู่ว่าจะทำอย่างไร โดยต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะมีการแก้ไข ซึ่งมีคำตอบ แต่ไม่สามารถพูดในเวลานี้ได้ เพราะยังไม่ได้เลือกว่าจะใช้ทางไหน ต้องปรึกษากันหลายฝ่าย

ทั้งนี้ เมื่อถามย้ำว่า ทางเลือกที่ว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า "3-4 แนวทางที่ว่าคือ กลับไปใช้กระบวนการเดิม ตั้ง สปช.(สภาปฏิรูปแห่งชาติ) กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ หรือตั้งกรรมาธิการ หรือกรรมการอะไรขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องตั้ง สปช.ชุดใหม่ หรืออาจจะมอบให้ สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เป็นคนจัดทำ หรือให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหลายองค์กร ซึ่งในอดีตเคยใช้ทางเลือกนี้ ที่เขียนว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่านก็ให้ ครม. ร่วมกับใครก็แล้วแต่ อาจจะเป็น คสช.หรือไม่ก็ได้ หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง ซึ่งทางออกมันก็มีอยู่แค่นี้ และ ครม. คสช. ก็ต้องเลือกแนวทางใดทางหนึ่งขึ้นมา แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางไหนเพราะต่างก็มีข้อดี ข้อเสียหมดทุกทาง"

...