“Socratic Teaching”...เป็นวิธีสอน การแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าข้อมูลหรือเนื้อหา มุ่งเน้นให้เกิดการตระหนักว่าความคิดของตนเองเป็นเพียงความเชื่อ สามารถปรับแต่งให้คมชัดและมีเหตุผลมากขึ้น
“Socratic Teaching”...อาศัยความสงสัยต่อความเชื่อที่ตนเองยึดถือในเบื้องต้นและการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่ลึกซึ้ง เป็นหนึ่งใน “กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา” ...สอนให้เด็กคิดเป็น
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ย้ำว่า “คิดเป็น”...ในที่นี้หมายถึงเด็กสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ในเรื่องวิชาการ เด็กสามารถคิดเป็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิต สามารถคิดเป็นเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม ใช้เหตุ ใช้ผลได้อย่างดี ได้อย่างถูกต้อง...มากกว่าเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก
“ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อที่จะท่องจำข้อมูลหรือวิชาการเอาไปสอบ ไม่ใช่ว่าทำดีโดยไม่รู้ว่าทำไมจะต้องทำ...ไม่รู้เหตุผล...เพียงแต่เขาสั่งมา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครูสามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับเด็กได้ดี ให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในการที่จะถาม ในการที่จะตอบ”
ประการต่อมาที่สำคัญ...เราต้องเข้าใจว่าเด็กเล็กๆเกิดมาเขามีคำถามอยู่ตลอดเวลา อยากเรียนรู้ตลอดเวลา สงสัยกันไหมว่า...ทำไมเด็กยิ่งโตยิ่งเงียบ เราทำยังไงถึงจะปลุกสิ่งเหล่านั้นซึ่งมีอยู่แล้วให้คืนกลับมา
ในแง่ตัวเด็กทำอย่างไรถึงจะให้เด็กรู้สึกปลอดภัย กระตือรือร้นที่จะเรียน...อยากจะค้นคว้า... มีคำถามว่าทำไมอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันจะทำอย่างนั้นได้ “ครู”...ก็ต้องมีคำถามถามเด็กเยอะๆ สร้างบรรยากาศ กระตุ้นให้เด็กคิด อยากจะเรียนรู้ อยากจะคุย อยากจะตอบคำถาม แล้วถ้าเด็กคิดมาแล้วสมมติคิดผิด เช่น คิดอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล ครูจะช่วยให้เด็กมีความคิดที่วิเคราะห์เป็น...จึงเป็นที่มาของโครงการ “ครูสอนคิด”
...
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราทดลองกับโรงเรียนวัดรางบัว โรงเรียนจิตรลดา อยู่ในขั้นพัฒนาแต่ก็ได้ผลน่าพอใจ พูดง่ายๆว่าเรากำลังจะขยายผล...ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำอย่างไรจะสร้างวิทยากรให้มากๆขึ้นไปเรื่อยๆ
วันนี้เราสามารถที่จะสอนให้ครูมีความสามารถในการดึงเอาสิ่งที่ดีๆ ที่สุดของเด็กออกมาให้ได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก คิดว่าทำได้ดีแล้ว...ส่วนขั้นที่ทำให้เด็กคิดลึกซึ้งขึ้นอยู่ในระหว่างการพัฒนา ก็ถือว่าได้ดีระดับหนึ่ง และที่จะก้าวไปอีกขั้นก็คือ...การประเมิน ที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วในที่สุดเด็กคิดเป็นจริงๆหรือเปล่า
นอกจากคิดทางด้านวิชาการ คิดอย่างมีเหตุมีผล คิดเกี่ยวกับชีวิต...การตัดสินใจในแต่ละเรื่องแล้ว อาจจะรวมความคิดในเชิงจริยธรรมเข้าไปด้วย
ผศ.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมอบรม “ครูสอนคิด” เปิดใจว่า ปัญหาครูไทยส่วนใหญ่ตามที่ผมเข้าใจ ถูกภาระหน้าที่ในการถ่ายทอดเนื้อหาไปสู่นักเรียนมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถแม้แต่นึกถึงการตั้งคำถามหรือการชวนให้เด็กได้คิด...มีแรงผลักดันว่ามีเนื้อหาขนาดนี้ ระยะเวลาเท่านี้ต้องสอนเท่านี้
รวมทั้งแรงผลักดันทางด้านการสอบและการแข่งขัน นักเรียนจะต้องสอบผ่านเท่านี้อะไรต่างๆ...ระบบต่างๆทำให้การเอื้อที่จะให้เด็กได้คิดจึงมีน้อย
ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา ที่ปรึกษาศูนย์จิตวิทยาการศึกษา เสริมว่า นอกจากปัญหาถูกภาระผลักดันให้สอนแล้ว ตัวครูเองก็โตมาในสังคมหรือโตมาในระบบที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ฝึกคิดมาก่อน เรียนมาภายใต้สังคมที่มีค่านิยมว่าคนที่ได้ความรู้เยอะๆ สอบเก่งๆ ได้เป็นคนที่เก่ง แล้วก็เชื่อว่าตัวเองรู้ เพราะฉะนั้นเขาก็คือเป็นคนที่ไม่รู้ไม่ได้
แล้ว...เขาก็ไม่ได้ถูกสอน ไม่มีแบบอย่างของการให้เห็นว่าครูที่จะช่วยสอนให้คิดจะต้องทำยังไง ฉะนั้นพอจะมาสอนนักเรียนก็จะใส่แบบที่เขาเชื่อว่าเขารู้...การที่เด็กจะคิดเป็นด้วยตัวเองก็หายน้อยลงไปเรื่อยๆ
“ครูสอนคิด” จะเป็นรูปแบบเดียวกันได้จะต้องได้รับการอบรมแบบเดียวกัน ให้มีทักษะที่ดี 3 ด้าน...การถามอย่างเป็นระบบ, การสื่อสารให้เด็กเข้าใจง่าย และการกระตุ้นให้มีส่วนร่วม ความต่างของครูแต่ละท่านจึงไม่ใช่อุปสรรค ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีวิธีการคิด มีกรอบที่ต่างกัน แต่เวลาอบรมก็ทำรูปแบบเดียวกัน มีหลักการร่วมกัน...
สิ่งที่ต้องเน้น “ครู”...จะต้องกระตุ้นให้เด็กได้คิดผ่านการถาม ซึ่ง “คำถาม”...ที่ดี ควรเป็นคำถามที่กระตุ้นให้คิดในเรื่องที่สนใจได้ชัดเจน คิดได้ลึกซึ้ง กว้างขวางขึ้น ช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเรื่องที่สนใจกับตัวเองได้
“ครูที่เข้ามาอบรมให้มีประสบการณ์ตรง ราวกับว่าเป็นนักเรียนได้เห็นกระบวนการ...แก่นครูสอนคิดเป็นหลักสากล ทำอย่างไรให้เด็กมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้ครูสร้างบรรยากาศให้เด็กกล้าที่จะมีส่วนร่วม”
สโลแกนมูลนิธิฯ “ให้ใจเป็นหัวใจของการศึกษา”...ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง “ครู” และ “เด็ก” สำคัญที่สุด ถ้าความสัมพันธ์ไม่ดี ต่อให้ครูเก่งแค่ไหน...ครูก็สอนได้ไม่ดี ดังนั้นต้องเริ่มคืนครูให้กับห้องเรียน
คุณหมอศุภรา ยกตัวอย่างการอบรม เราปล่อยโจทย์อันหนึ่งก็จะให้คิดแล้วก็จับคู่ แล้วก็เอามาแชร์กันเป็นกลุ่ม...แล้วก็แชร์กันทั้งห้อง ค่อยๆสร้างบรรยากาศให้เริ่มจากกล้าคิด คิดแบบเงียบๆส่วนตัว คิดคู่กัน...แชร์กัน กระบวนการที่พาไปด้วยการลงรายละเอียด...ครูหลายคนอาจจะบอกเราทำอยู่ แต่ปัญหามีว่า...ที่ว่าทำอยู่นั้นทำยังไง...ทำอะไร...ทำจากไหนไปไหน ทำแบบลงลึกในรายละเอียดไหม สำคัญคือ...“เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร”
“การอบรมให้ครูมีประสบการณ์ตรงจริงๆเดี๋ยวนั้นทันที ต้องรู้ว่านี่คือการจำลอง เราบอกตั้งแต่ต้นว่านี่คือการเรียนรู้ร่วมกัน...ครูหลายคนจะสัมผัสได้ว่าที่ผ่านมาที่ว่ารู้นั้นอาจจะเป็นการรับรู้ที่เขาเห็นและเลือกที่จะรู้และเชื่อมากกว่าประสบการณ์ตรงที่เขาเผชิญ”
...
กระบวนการเรียนการสอนที่ผ่านมาที่เราคิดว่ามันดีแล้ว แต่มีบางประเด็นหรือเปล่าที่อาจจะไม่ใช่ เพราะไม่เคยมีการเรียนการสอนไหนที่เราได้ยินเสียงนักเรียนทุกคน การที่ครูได้มาแชร์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงจะเป็นจุดพลิกผันอย่างน่าอัศจรรย์...ไม่จำเป็นต้องคาดหวังผล 100% แต่ได้ผลเสมอ
ปฏิภรณ์ พิทักษ์ ครูโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ผู้เข้ารับการอบรมครูสอนดี บอกว่า วันนี้มาโดยไม่โดนยัดข้อมูล แต่เหมือนได้ประสบการณ์ตรง กระตุ้นความคิด...วิธีการอย่างนี้ความจริงเราก็ใช้อยู่
หรือเราสามารถไปทำได้กับเด็ก...มันง่ายๆ แต่พร้อมกันนั้นครูก็ได้พัฒนาตนเองเรียนรู้แบบสนุกสนาน ได้แนวความคิดกลับไปโดยไม่ต้องมานั่งจด
“เราได้ฝึกปฏิบัติไปด้วย แล้วเราก็ได้ทบทวนไปด้วยว่าความรู้ที่เรามีกับสิ่งที่เราจะกลับไปทำกับเด็กเราสามารถทำกับเด็กได้ง่ายๆ แล้วก็อาจจะสร้างกำลังใจ...แรงบันดาลใจให้ครูได้ว่าความจริงวิธีการสอนของครูก็ต้องกลับมาปรับที่ตัวเราด้วย พร้อมกันนั้นเราก็ได้วิธีการ...แนวคิดใหม่ๆ กลับไปใช้กับเด็กนักเรียน”
บางเรื่องที่ได้รู้...ได้ลองจะเป็นแรงบันดาลใจนำไปปรับใช้ได้ทันที เพียงครึ่งวันผ่านไป อ้าว...มันเกิดการเรียนรู้ แบบปิ๊งเข้ามาในสมองได้เลยว่า อ้อ...วิธีการอย่างนี้นะทำได้ ทำอย่างนี้กับเด็กได้ โดยที่เราไม่ต้องมาใส่ทฤษฎี เพราะว่าทฤษฎีครูเรียนมาเยอะแล้ว แต่ต้องการเอาประสบการณ์ตรงนำไปใช้
10 กว่าปีในอาชีพครู...สอนภาษาไทย สอนคณิตศาสตร์ สอนสังคม แม้ว่าจะมีภาระหน้าที่รับผิดชอบ แต่ประสบการณ์ชั่วโมงเรียนครูสอนคิดทำให้ได้คิดว่ามีอะไรบ้างที่จะนำไปปรับใช้กับเด็ก โดยเฉพาะการฝึกให้เขาคิด เด็กเล็กอาจจะฝึกไม่ได้อย่างตั้งเป้าแต่เราต้องค่อยๆใส่เขา ใส่เข้าไปเรื่อยๆ ทำให้คิด ตั้งคำถามปลายเปิดกับเขา
...
“ครูสอนคิด”...เป็นหนึ่งในกุญแจในการปฏิรูปการศึกษา ถ้าเราเริ่มนับหนึ่งถูก เป้าหมายก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม.