กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยอมถอยตามข้อเสนอของสปช. สนช. หรือฝ่ายการเมืองหรือไม่ ของแท้ต้องดูข้อเสนอของ คสช.และ ครม. ที่จะเป็นด่านสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติ หรือ การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ลากตั้ง ระบบการเลือกตั้ง ที่มานายกฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ หรือที่ประชุม สปช.

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการชี้ขาดของ คสช.และ ครม.

บางกระแสมองว่าในที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกคว่ำไปพร้อมกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯและ สปช.ชุดนี้ จากนั้นจะเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ตั้ง สปช.ใหม่ กรรมาธิการยกร่างฯใหม่

คสช.และ ครม.ก็จะอยู่ไปอีกประมาณสองปีครบเทอมพอดี

บ้างก็ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับการแก้ไขจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย และจัดการเลือกตั้งได้ตามโรดแม็ป แต่ยังคงไว้ในแนวทางการปฎิรูป ที่จะให้พลเมืองเป็นใหญ่ มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 11 องค์กรควบคุมการเมืองอีกชั้น

ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการคาดเดา ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มจะเข้มข้น กรณีของการพิจารณาถอดถอน 250 อดีต ส.ส.ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. กรณี การดำเนินคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากโครงการรับจำนำข้าว และข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.กรณี อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และ ครม.จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองโดยไม่มีกฎหมายรองรับ

จุดชนวนความไม่เป็นธรรมทันที

เทียบเคียงกรณี การสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 สมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและอดีตรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังสอบกันไม่จบ

กระบวนการยุติธรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างความปรองดอง ความเท่าเทียมในสังคม จะเป็นการเริ่มต้นความสมานฉันท์ ความเป็นธรรมไม่มี สามัคคีก็ไม่เกิด

...

การบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงเอาไว้กับสภา ตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน หากถูกสกัดด้วย กระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม จะส่งผลกระทบกับ หลักนิติธรรม นิติรัฐ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การยึดหลักนิติศาสตร์และมองข้ามหลักรัฐศาสตร์ รัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตกเป็นผู้ต้องหาจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งต้องถือว่า ถูกต้องชอบธรรม แต่กลับถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดกลับผิดกฎหมาย

ว้าเหว่.

หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com