นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเป็นภาพตัวด้วงกระดกและภาพอาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง ทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้พุพองจนเสียโฉม โดยระบุว่าเป็นพิษของตัวด้วงก้นกระดกนั้น ว่า หลายคนเมื่อพบเห็นภาพดังกล่าว อาจเกิดความวิตกกังวล ซึ่งที่จริงแล้วการอักเสบของผิวหนังจากพิษด้วงชนิดนี้ ไม่ได้รุนแรงเหมือนที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะผู้ที่สัมผัสกับด้วงชนิดนี้ ส่วนมากจะเป็นแผลอักเสบเล็กน้อยเท่านั้น แต่ข้อควรระวังคือ เมื่อพบแมลงชนิดนี้ อย่าตีหรือบดบี้ เพราะอาจได้รับสารพิษที่อยู่ในตัวแมลงได้ ทั้งนี้ด้วงก้นกระดกเป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ โดยทั่วไปด้วงชนิดนี้จะไม่กัดหรือต่อยคน แต่ในกรณีที่ด้วงตกใจ ถูกตี หรือบดขยี้ ด้วงจะปล่อยน้ำพิษที่ชื่อว่า เพเดอริน (Paederin) ออกมาเพื่อป้องกันตัว และพิษส่วนใหญ่จะมีในด้วงตัวเมีย

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่โดนพิษด้วงกระดก จะทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลัน แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่สัมผัส โดยหลังสัมผัสใน 24 ชั่วโมง ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อน เกิดเป็นแผลพุพอง และภายใน 48 ชั่วโมง การอักเสบอาจขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ด ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายได้ภายใน 7-10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังจะอักเสบหลายแห่ง คล้ายงูสวัด บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่นบวมแดงติดต่อกันหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ การป้องกันพิษจากด้วงก้นกระดก ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กๆ อย่าจับด้วงมาเล่น ไม่ตบหรือตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว และหากถูกพิษของด้วง ให้ล้างพิษด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือใช้แอมโมเนียเช็ด และควรพบแพทย์.

...