'1 พฤษภาคม' วันหยุดแรงงานที่เหล่าพนักงานกินเงินเดือน และลูกจ้างที่ตรากตรำทำงานสายตัวแทบขาดได้หยุดพักผ่อนอย่างสบายใจ มีเวลาให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน หากแต่วันหยุดแบบนี้ เราก็ไม่พลาดนำเสนอมุมมองความคิดเห็นของวันแรงงาน จากสองคนดังอย่าง 'โต้-สุหฤท สยามวาลา' และ 'หนูดี-วริษา เรซ' มาฝากกันด้วย ว่าแล้วเขยิบล้อมวงเข้ามาใกล้ๆ ทั้งสองคนดังจะพูดถึงวันแรงงานว่ายังไงกันบ้าง...?!

นิยามวันแรงงานของผู้ใหญ่แนว!

'โต้-สุหฤท สยามวาลา' กรรมการผู้จัดการสุดเฟี้ยว รุ่นที่ 4 ของบริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา จำกัด ที่กำลังถือธุรกิจเครื่องเขียนที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ บอกผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า ในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้า และเป็นผู้นำของบริษัท วันแรงงานทำให้เขานึกถึงคนที่ทำงานร่วมฝ่าฟันมาด้วยกันกับเขา พนักงาน และลูกน้องทุกคนที่เขาต้องดูแล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 900-1,000 คน ทุกคนล้วนแล้วแต่ทำงานเพื่อบริษัท เพื่อองค์กรอย่างเต็มที่ และช่วยกันคิด-แก้ปัญหาขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?

...

หากพูดถึงมุมมองการใช้แรงงานในปัจจุบันที่มีการเอาเปรียบจากนายจ้างมากขึ้นแล้ว ในแง่ของนายจ้าง เขามองว่ามันขึ้นอยู่กับความสามารถที่เป็นไปของลูกจ้างมากกว่า จะไปเหมารวมหมดซะทีเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งขั้นต่ำค่าแรงตอนนี้อัพขึ้นมากันหมดแล้ว มันก็คงต้องดูในแง่ของการทำงานมากกว่า

"ถ้าคุณมีความตั้งใจในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ดึงความสามารถในตัวเอง และผลักผลงานคุณให้โดดเด่น เมื่อนายจ้างเห็นจากผลงาน-ความแอ็กทีฟของคุณ เขาจะต้องอัพค่าแรงตามความสามารถอยู่แล้ว มันก็เป็นการแข่งขันกันทางด้านของความสามารถ เชื่อเถอะว่า ถ้าผลงานคุณดี คุณเต็มที่กับมันแล้ว ค่าแรงจะตามมาเป็นเรื่องอัตโนมัติ เพราะคงไม่มีบริษัทไหนจะไล่คนที่มีความสามารถ หรือจ่ายค่าแรงพนักงานเก่งๆ ในเรตที่ต่ำหรอก เขาก็ต้องอยากจะเก็บคุณไว้ ดูแลคุณให้ดีด้วยการจ่ายเงินค่าแรงที่สมน้ำสมเนื้อ เพื่อคุณจะได้ทำงานกับเขานานๆ และคุณเองจะได้มั่นใจในตัวบริษัทด้วยเหมือนกัน ความสำเร็จของบริษัท หรือองค์กรจะเกิดขึ้นมาเฉยๆ ไม่ได้ มันต้องขึ้นอยู่กับพนักงานที่เก่ง เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถ มีสปิริตสร้างสรรค์ และช่วยกันทำงานควบคู่กัน"

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?


เมื่อมีพนักงาน-ลูกน้องหลายคนอยู่ในการปกครอง นั่นจึงต้องมีการดูแล เอาใจใส่อย่างทั่วถึง และมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ เกิดความขัดแย้งภายในบริษัทขึ้น ซึ่งเขาคิดว่ามันควรเริ่มตั้งแต่นโยบายก่อน ...

"หากบริษัทไม่มีนโยบายจะเอาเปรียบใคร มันก็คงจะไม่มีการได้เปรียบ เสียเปรียบเกิดขึ้น แต่ละคนมีหน้าที่-รับผิดชอบเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ทว่าถ้าคุณจะมองให้ลึกขึ้น มันก็เป็นเรื่องของการมอง และความคิดทั้งสองฝ่ายมากกว่า มันไม่สามารถมองในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ แต่จริงๆ แล้วทำงานร่วมกันในบริษัท องค์กรเดียวกัน มันไม่ควรจะมีเรื่องนายจ้าง ลูกจ้างเข้ามา เพราะมันจะทำให้เกิดระดับการทำงาน, ความรับผิดชอบ-หน้าที่ที่ต่างกัน จนเกิดความขัดแย้งในหลายๆ ความคิด เช่นว่า ทำไมคนนี้ได้ทำงานน้อยกว่า แต่คุณได้ทำงานมากกว่า หรือหัวหน้ามอบหมายให้คนนั้นคิดไอเดียแปลกๆ ในขณะที่มองข้ามให้คุณไปทำงานที่ง่ายกว่า … มันจะดีกว่าไหม ถ้าคุณจะฟอร์มกัน ช่วยกันขับเคลื่อนไปด้วยกันเป็นทีมเวิร์กมากกว่า ใครสามารถซัพพอร์ตอะไรตรงไหนได้ก็ทำเลย โดยไม่ต้องเกี่ยงกัน"

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?

...

เขาบอกต่ออีกว่า ผลรางวัลตอบแทนเพื่อให้กำลังใจทุกคนในการทำงาน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกบริษัทที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เว้นแม้แต่บริษัทเขาเอง ที่มีการแจกโบนัสอยู่ต่อเนื่อง เกือบจะทุกหน่วย อย่างพนักงานได้โบนัสตามผลผลิต เมสเซนเจอร์ได้ตามยอดบิลที่ทำได้ พนักงานขายก็ได้ตามยอด (ซึ่งอาจมีทิปของเขาอีกส่วนหนึ่ง) เพราะนั่นคือรางวัลจากผลงาน มันคือเป้าหมายผลักดันให้ลูกจ้างตั้งใจทำงานมากขึ้น … ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับผลงาน

และหากย้อนถามว่า วันแรงงานสำคัญกับพนักงานมาก-น้อยแค่ไหน เขาได้เผยความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า เอาจริงๆ เขาก็มีระลึกอยู่บ้างนะ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าวันหยุดวันหนึ่ง (หัวเราะ) อย่างไรก็ดี มันก็เป็นวันที่ให้พนักงานของเขาได้หยุดพักผ่อน ใช้เวลาส่วนตัวอย่างเต็มที่ เหมือนเป็นการชาร์จแบตฯ ไปในตัว ยิ่งเฉพาะในวันหยุดลอง-วีกเอนด์แบบนี้

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?

นิยามวันแรงงานของอัจฉริยะสร้างได้

ในขณะเดียวกัน 'หนูดี-วริษา เรซ' สาวสวยคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ และเป็นเจ้าของบริษัท 'อัจฉริยะสร้างได้' รวมทั้งโรงเรียนทางเลือกใหม่ 'วริษา สุขุมวิท' ที่สอนให้เด็กคิดแบบอัจฉริยะ ได้บอกผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า วันแรงงานทำให้เธอนึกถึงพนักงาน และลูกจ้างที่อยู่ภายใต้การดูแลเฉกเช่นเดียวกัน เพราะมันถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพวกเขา…

...

ในมุมมองเกี่ยวกับการใช้แรงงานในปัจจุบันนั้น เธอให้ความเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะเธอทำงานในโรงเรียน ในวงการการศึกษา มันมีตัวเงินเดือนที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว และด้วยความที่ต้องทำงานกับครู-อาจารย์ ทำให้มันมีการให้เกียรติกันและกันค่อนข้างสูง มันยากที่จะเห็นใครเอาเปรียบใคร … อย่างตัวเธอที่เป็นครู และเป็นเจ้าของโรงเรียนด้วย เธอก็ค่อนข้างให้เกียรติคนอื่นมากเช่นกัน ทั้งพนักงานที่ทำงานด้วยกัน และเด็กๆ ในโรงเรียน อีกทั้งคุณพ่อ-คุณแม่เด็กบางคนอยากจะให้ครูสอน อยากให้ครูทำโน่นทำนี่ หากแต่มันกินเวลาส่วนตัวของครูบางท่าน เธอในฐานะที่เป็นเจ้าของโรงเรียน ก็จะเข้ามาปกป้องครูในจุดนี้ (เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบเกิดขึ้นด้วย)

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?

พนักงานที่อยู่ในความดูแลของเธอมีอยู่หลายสิบคนด้วยกัน หมายรวมทั้งคนงาน คนสวน และแม่ครัวด้วย ซึ่งเธอมีการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานไม่เหมือนกัน…

"ค่าแรงขั้นต่ำ เอาจริงๆ ก็พูดยากนะ ถ้าเราให้อาจจะเป็นคนที่มาทำงานเฉพาะกิจ แป๊บๆ เดี๋ยวก็ไปซะมากกว่า ถ้าเป็นคนที่อยู่กันมานานหลายสิบปี เราก็จะให้เงินเดือนพวกเขาที่ค่อนข้างสูงพอสมควร ยิ่งเทียบกับเรตทั่วไปที่คนอื่นได้รับด้วย เพราะสงกรานต์เราก็ให้ แต๊ะเอียเราก็ให้ หรือปีใหม่เราก็ให้เงินเสริม คือได้ทุกเทศกาลเลย อีกอย่างเรารู้สึกรักพวกเขา และเราอยากตอบแทนความจริงใจของพวกเขาที่ให้ทั้งชีวิตกับเรา ยิ่งในปัจจุบันนี้เราหาคนทำงานที่ซื่อสัตย์ จริงใจ และไม่คิดหาเจ้านายคนใหม่ได้ยากมาก แล้วแบบนี้เราจะให้ค่าแรงขั้นต่ำกับพวกเขาแลกกับความจริงใจ และความซื่อสัตย์ที่เราได้รับอย่างไร"

...

สำหรับการดูแล-ใส่ใจพนักงานในบริษัทอย่างทั่วถึง ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ และความขัดแย้งกันภายใน เธอบอกว่า เนื่องจากเป็นองค์กรไม่ใหญ่มาก มีพนักงานโดยรวมประมาณ 20-30 คนเท่านั้น มันจึงเป็นอะไรที่ควบคุมง่าย กฎหลักๆ ที่ใช้เลยจะเป็น 'การให้เกียรติกัน' เพราะถ้าพนักงานรู้จักให้เกียรติกันและกัน หรือแม้แต่ตัวเธอเองให้เกียรติพนักงานคนอื่น มันก็จะช่วยลดความขัดแย้งต่างๆ ลงตามมาได้

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?

และหากย้อนถามว่า วันแรงงานสำคัญกับพนักงานมาก-น้อยแค่ไหน ควรจะจัดขึ้นทุกปีหรือไม่ ? เธอตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า ควรจะมี และเธอชอบกฎหมายไทยตรงที่ให้เกียรติลูกจ้าง อย่างน้อยก็หนึ่งวันของทุกปี…!

วันแรงงานคุณ 'นึก' ถึงอะไร?

"สมมติว่า เราตื่นขึ้นมาแล้วกลายเป็นพนักงานธรรมดาๆ คนหนึ่งแทน เอาจริงๆ คือเราชอบเลยนะ ถ้าได้เป็นลูกจ้างอย่างเดียว แล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเยอะๆ ที่มันหนักสมองเกินไป มันคงจะดีมากเลย แฮปปี้ไปอีกแบบ แต่ถ้าเราเป็นลูกจ้างแล้ว ขอแค่อย่างเดียวพอ … ให้เราเลิกงานตรงเวลาเถอะนะ (ทำเสียงอ้อนหน่อยๆ) ให้เรามาเช้าได้เลยไม่ว่า แต่ขอกลับบ้านตรงเวลา เลิกงานตรงเวลา เพราะตอนเย็นรถมันติดมาก แล้วเราก็อยากจะกลับไปอยู่กับครอบครัวด้วย อย่าแกล้งให้งานเราเยอะเลย ส่วนค่าจ้างก็ขอให้สมน้ำสมเนื้อนิดนึง … พลีสๆๆ" เธอกล่าวทิ้งทวนด้วยคำพูดตลกๆ ทีเล่นทีจริง.