เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ความใฝ่ฝันของบุรุษอันกล้าแกร่งจำนวนไม่น้อย อยากจะเป็นนักบินรบ อาชีพอันทรงเกียรติที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือบุญพาวาสนาส่ง แต่ต้องมาพร้อมความอดทน และความเพียรพยายามอันเปี่ยมล้น เพราะภารกิจแสนสำคัญของนักบินรบ คือ ดูแลน่านฟ้าไทย ปกป้องอธิปไตยของชาติ! ซีรีส์ F16 เหยี่ยวเวหา ฟ้านี้ข้าครอง นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาท่านผู้อ่านไปค้นทุกซอกทุกมุมของ TOP GUN THAILAND ว่า กว่าจะกลายเป็นสุดยอดนักรบกล้าแกร่ง ผู้ครองอำนาจเหนือน่านฟ้าไทยแลนด์แดนสยามได้ พวกเขาเหล่านั้น ต้องทำอย่างไร

โดยในตอนแรกของซีรีส์นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ น.อ.ระวิน ถนอมสิงห์ ผู้บังคับการกองบิน 1 จ.นครราชสีมา หรือในนามเรียกขานว่า Hollywood ผู้การเอก แห่งทัพฟ้า เล่าเรื่องราวชวนเสียวของเหล่านักบินผู้กล้า จะโหด เสี่ยง มันหยด แค่ไหน ต้องดู!
ชวนนักบินมือหนึ่งเล่าเรื่องเสียว แชร์ประสบการณ์เสี่ยง!
แม้ผ่านการเคี่ยวกรำขับเจ้าเครื่องเหยี่ยวเวหา เขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพอากาศจนเสมือนอวัยวะที่ 33 ผ่านชั่วโมงบินมาแล้วกว่า 3,000 ชั่วโมง แต่ใครจะรู้บ้างว่า เจ้าเครื่องบินรบคู่ใจก็เคยออกฤทธิ์เดช ดับกลางอากาศดื้อๆ จนหวิดพาหนึ่งในสุดยอดนักบินรบของไทยรายนี้โหม่งโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง! ทั้งๆ ที่นักบินรบบางคนบินมาเกือบ 1,000 ชั่วโมง ยังไม่เคยเจอปัญหาในลักษณะนี้เลยสักครั้งเดียว

สัมผัสเอฟ 16 พาเสียวครั้งที่ 1
เรื่องเครื่องยนต์ดับนี่ จริงๆ แล้วกับ เอฟ 16 เกิดขึ้นน้อยมาก และเท่าที่ทราบในประวัติศาสตร์ของเจ้าเหยี่ยวเวหาไทย น่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นไม่เกิน 3 ครั้ง โดย 2 ใน 3 ที่เกิดขึ้น ก็เกิดกับผมนี่แหละ! โดยครั้งแรกที่เกิดขึ้น ประมาณปี 2545 ยอมรับเลยว่า รู้สึกกลัวแบบประมาณว่า "นี่กูจะตายไหมวะเนี่ย" เพราะตอนนั้นบินมากับเครื่อง มาคนเดียว จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงอะไรดังๆ ปัง ปัง เหมือนเครื่องยนต์จ่ายแต่น้ำมันไม่มีอากาศเข้า จนทำให้ส่วนผสมมันไม่บาลานซ์กันระหว่างอากาศกับน้ำมัน จนน้ำมันไปกองกับเครื่องยนต์ เมื่อมันไปกองรวมกันมากๆ การเผาไหม้มันก็แรง เพื่อนที่บินมาด้วยกันอีกลำเห็นเลยว่า เครื่องที่ผมบังคับอยู่มีลูกไฟยาวออกไปเท่าตัวเครื่อง! จากนั้นมาสักครู่เดียวเครื่องยนต์ก็ดับ พอดับแล้วมันก็เงียบ ตอนนั้นยอมรับเลยว่า งง! เพราะเร่งเครื่องยนต์ไปแล้วมันไม่ตอบสนอง หะแรกเลยตัดสินใจ หันหัวเครื่องกลับสนามบินโดยอาศัยแรงร่อน แต่ด้วยจุดที่เครื่องดับกับสนามบิน อยู่ห่างกันประมาณ 40 ไมล์ จากความสูงประมาณ 20,000 ฟุตกว่า ด้วยเรตระยะของการร่อนด้วยเครื่องเอฟ 16 ซึ่งอยู่ที่ 1,000 ฟุต ต่อ 1 ไมล์ อย่างไรก็คงไปไม่ถึง จึงค่อยๆ ตั้งสติทบทวน Boldface, Critical Action Procedures (CAPS) คู่มือประจำตัวสำหรับนักบินเอฟ 16 ที่ทุกนายต้องท่องให้ขึ้นใจ เพื่อใช้สำหรับการแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉิน เมื่อคู่มือให้ลองดับเครื่องแล้วสตาร์ตขึ้นอีกครั้ง เครื่องก็ติดขึ้นจนสามารถนำเครื่องกลับลงสนามบินได้โดยปลอดภัย
...
ส่วนครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นขณะนั่งบินร่วมไปกับนักบินรุ่นน้อง โดยนั่งอยู่ข้างหลังเพื่อคอยทำหน้าที่ฝึกสอน จำได้เลยว่า เมื่อเครื่องยนต์เกิดอาการดับกลางเวหาอีก ผมสั่งให้รุ่นน้องดับเครื่องยนต์ทันที รุ่นน้องคนนั้น มันก็งง เพราะเอฟ 16 มีเครื่องยนต์เดียว ดับไปแล้วจะบินได้ยังไง ประกอบกับอยู่ที่ความสูงแค่ 9,000 กว่า ฟุต นักบินรุ่นน้องเลยลังเล ผมเลยบอกมันไปว่า "เฮ้ย ไม่ต้องกลัวพี่เคยเจอมาแล้ว" เมื่อน้องนักบินรายนี้ ดับเครื่องแล้วสตาร์ตเครื่องยนต์ดูอีกครั้ง เครื่องก็เดิน จนนำกลับสนามบินได้โดยปลอดภัย
ประสบการณ์เฉียด! สุดยอดนักบินรบ
“ตอนเป็นนักบินใหม่ๆ เคยแม้กระทั่งบินไปคนเดียวแถวๆ จังหวัดอุดรธานี ตอนนั้นบินต่ำมากๆ โดยใช้เครื่อง F5 แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการบินได้ จึงก้มตัวลงไปบิดวิทยุสื่อสาร แต่ท้องกลับไปโดนคันบังคับการบิน ปรากฏว่า เครื่องบิน down ลงทันที พอเงยหน้าขึ้นมาอีกที ก็เห็นเป็นต้นไม้อยู่เต็มเบื้องหน้าแล้ว หากช้าไปเพียงวินาทีเดียวคือชนแน่ แต่โชคดีที่กระชากคันบังคับขึ้นมาได้ทัน เครื่องบินก็เชิดหน้าสู่ท้องฟ้าได้อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นก็พยายามมองไปรอบๆ มองดูตัวเองว่า ที่บินขึ้นมานี่คือ ควันไฟจากการระเบิดของเครื่องบิน หรือเป็นเราจริงๆ กันแน่ นึกว่าตายแล้วเกิดใหม่ด้วยซ้ำ แข้งขาอ่อนไม่ขอทำการบินเป็นอาทิตย์” มือวางอันดับต้นๆ ของกองทัพอากาศไทย แชร์ประสบการณ์เสียว...
ไขปมสงสัย! เหตุใดบ้างที่จะทำให้นักบิน Eject ตัวออกจากเครื่อง ?
ตามระเบียบก็คือ เมื่อนักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ ในระดับความสูงที่ต่ำกว่า 6,000 ฟุต นักบินสามารถทำการสละเครื่องได้ทันที ส่วนความหมายของคำว่า "ไม่สามารถควบคุมเครื่องได้" ก็คือเครื่องไม่ตอบสนอง ทำยังไงก็ไม่ตอบสนอง แล้วก็เกิดเหตุฉุกเฉินที่เครื่องบินไม่สามารถทำการบินต่อไปได้ นักบินก็สามารถสละเครื่องได้ทุกเวลา ซึ่งการสละเครื่องในกรณีนี้มีกฎหมายรองรับ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดกรณีการสละเครื่องแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการสละเครื่องในแต่ละครั้งด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักบินจะพิจารณาตามสถานการณ์ว่า หากสละเครื่องไปแล้วจะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ด้านล่างหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน โดยเฉพาะกับนักบินไทยซึ่งจะมีความแตกต่างจากนักบินชาติอื่นมาก เพราะนักบินไทยส่วนใหญ่จะเกรงว่าเครื่องจะไปตกใส่บ้านเรือนประชาชน เพราะฉะนั้นในจุดสุดท้ายที่จะ Eject ได้ หากไม่มั่นใจว่าเครื่องจะลงในป่าอย่างแน่นอน ก็จะไม่ทำ และเลือกที่จะพยายามควบคุมเครื่องไปลงป่า และตกลงไปพร้อมกับเครื่องเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย เพราะการ Eject ออกจากเครื่องบินสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงดึงแค่ครั้งเดียว เก้าอี้ก็จะดีดตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าทันที โดยเฉพาะกับเครื่องเอฟ 16 แล้ว เคยมีคนดีดตัวขณะกำลังแท็กซี่เครื่องบนสนามบินอยู่ ก็ปรากฏว่านักบินปลอดภัยมาแล้วก็มี
บินคู่บินเดี่ยว แบบไหนนักบินตัดสินใจดีดตัวเร็วกว่ากัน
บินคู่กันจะเร็วกว่า เพราะเค้ามีเพื่อนคุย แต่ในกรณีเครื่องยนต์ดับซึ่งจะทำให้นักบินคุยกันไม่ได้ เค้าจะมีวิธีปฏิบัติในหมู่นักบินกันอยู่ เช่น ใช้อะไรขว้างหัวนักบินข้างหน้าเพื่อให้รู้ตัว แต่ในลักษณะทั่วๆ ไป ก็คือ ครูการบิน หรือผู้ที่มีความอาวุโสมากกว่า ที่นั่งมาด้านหลังจะให้น้องที่นั่งอยู่ด้านหน้าไปก่อน เมื่อเห็นว่าน้องปลอดภัยแล้ว จึงค่อยดีดตัวตามไปทีหลัง

คุมเครื่องบินไม่ได้ ด้านล่างชุมชน โอกาสรอด = 0 จริงหรือ ?
“เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ นักบินยังมีโอกาสรอด เนื่องจากเครื่องบิน F16 สามารถ Eject ตัวออกจากเครื่องบินได้ระดับความสูงที่ 0 หรือระดับความเร็วที่ 0 เพราะเก้าอี้จะดีดตัวเราขึ้นไปเหนือเครื่องบินทันที ซึ่งร่มจะกางก็ต่อเมื่อนักบินอยู่ในชั้นบรรยากาศที่สามารถหายใจได้ แต่ในกรณีที่เครื่องคว่ำหัวลงกับพื้นดิน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเก้าอี้จะดีดตัวลงสู่พื้น” น.อ.ระวิน นักบินเจ้าเวหา อธิบายถึงโอกาสรอด
ที่สุดแห่งความทรงจำ
การที่ผมสามารถรักษาเครื่องบินรบที่เป็นสมบัติของชาติเอาไว้ได้ จากการที่ออกไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทั้งที่เปิดเผย และไม่เปิดเผย รวมถึงการได้บินโชว์ผาดแผลงในงานวันเด็กทุกปี ซึ่งถึงแม้เรื่องนี้ อาจดูเป็นเหมือนเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ยิ่งใหญ่สำคัญอะไร แต่สำหรับผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของชาติ
ภารกิจสุดหิน ที่สุดของลูกทัพฟ้า
ส่วนตัวคิดว่า ภารกิจสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ ให้กับเหล่าทัพอื่น หรือกองกำลังภาคพื้นดินในระยะประชิด (Close Air Support) ถือเป็นภารกิจที่ยากที่สุดสำหรับผม เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่นต้องทำงานกับคนอื่น มีเป้าหมายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเข้าไปในพื้นที่ ที่สุ่มเสี่ยงอันตราย รวมทั้งต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้ไปโจมตีพวกเดียวกันเองที่อยู่ภาคพื้นดิน
TOP GUN ชาติใด ต่อกรด้วยยากที่สุด
"ผมไล่ยิงมาหมดแล้ว แล้วก็โดนเขายิงมาหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่เท่าที่สัมผัสมานักบินจากกองทัพอากาศออสเตรเลีย ดูจะเป็นคู่มือที่ต่อกรด้วยยากที่สุด"
แล้วชาติมหาอำนาจทางกองทัพอากาศอย่างสหรัฐฯ หรือ อิสราเอล เก่งจริงไหม!
อิสราเอล เขาเก่งเพราะเขารบอยู่ตลอดเวลา ผมเองก็เคยมีประสบการณ์บินแลกหมัดกับครูจากกองทัพอากาศอิสราเอล ที่ถูกส่งมาสอนแล้วเหมือนกัน กับนักบินกองทัพสหรัฐฯ ที่ขับเครื่องบิน เอฟ 15 ซึ่งทันสมัยและแข็งแกร่งกว่า เอฟ 16 ผมก็เคยได้ลองปะทะมาแล้ว ซึ่งภายใน 30 วินาที ผมก็จะสามารถล็อกเป้าคู่ต่อสู้ได้!
โซนิคบูม คือ ?
คือย่านความถี่คลื่นเสียง ที่เวลาเครื่องบิน บินเกินความเร็ว 1 มัค หรือ 1 เท่าของความเร็วเสียง จะทำให้มี Vector ของเสียง แล้วแผ่กระจายออกเป็น Shock wave ซึ่งเมื่อคลื่นความถี่ที่กระจายออกไป พอไปกระทบกับอะไรแล้ว มันจะเหมือนแรงอัดระเบิด ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงดังสนั่น รวมทั้งแรงอัดมหาศาล ที่สามารถทำให้กระจกแตกได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดเมื่อเครื่องบินมี Vector เข้าหาพื้นดินแล้วความเร็วเกิน 1 มัค
แล้วนักบินทำไปเพื่ออะไร
นักบินจะทำเมื่อ 1. หลบหนีศัตรู 2. ข่มขู่และป้องปรามฝ่ายตรงข้าม
“นักบินเองก็ไม่ได้ฝึกแต่มันเกิดขึ้นเอง โดยเฉพาะการเกิดระหว่างการฝึก บางครั้งนักบินหลบหลีก หรือหนี มีการฝึกไล่ยิง นักบินก็เลี้ยวหนีไม่ได้สนใจจะหนีอย่างเดียว หนีให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ศัตรูยิงทัน จนลืมคิดไปว่ามันจะเกิดโซนิคบูม แต่ก็ไม่เคยมีคนมาด่านะ เวลาที่เกิดโซนิคบูม เพราะเขาเข้าใจ ถ้าเราไปพิสูจน์ว่าเกิดจากเราก็มีการชดใช้ค่าเสียหายให้ เรื่องปกติ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่นักบินจะฝึกกันสูง ไม่ได้ฝึกกันต่ำ ถ้าฝึกกันต่ำมันไม่ได้เข้าโซนิคบูมอยู่แล้ว ห้ามเข้าความเร็วเสียงต่ำกว่า 10,000 ฟุต เพราะถ้าต่ำกว่า มันจะมีโอกาสเกิดโซนิคบูมได้”
อ่านเพิ่มเติม