เสียหาย-กว่าหมื่นล. 4คนไทยตัวการใหญ่ แต่ต่างชาติลอยนวล

บุกทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่รายใหญ่ บ.ยูฟันสโตร์ จำกัด “พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา” ผู้ช่วย ผบ.ตร. นำทีมตำรวจ ปคบ. สนธิกำลัง ปปง.สคบ.บุกจู่โจม 3 จุดแต่เช้าตรู่ จับ 4 ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นคนไทยดำเนินคดี ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เร่งล่า 3 ชาวมาเลเซียตัวการใหญ่ และอีก 1 คนไทยที่เหลือ เผยเหตุเข้าตรวจค้น เพราะมีประชาชนร้องเรียนจำนวนมาก ตะลึงค่าเสียหายกว่าหมื่นล้าน มีผู้เสียหายนับหมื่นคน ทั้งคนไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดนกันถ้วนหน้า ขณะที่ ปปง.เผยยึดทรัพย์เครือข่ายนี้ไปแล้ว 250 ล้านบาท

การทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ยึดทรัพย์ 250 ล้านบาทครั้งนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 10 เม.ย. พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำหมายค้นศาลอาญา แยกย้ายเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ทำธุรกิจขายเครื่องสำอาง อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกจำนวนมาก หลังพบว่าเข้าข่ายหลอกลวงเป็นแชร์ลูกโซ่ มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

จุดแรกที่บ้านเลขที่ 9/2 ซอยรามอินทรา 62 แยก 1 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว เปิดเป็นบริษัทตัวแทนขายตรง บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด จับกุม ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช วรงค์ อายุ 40 ปี ที่อยู่ 295 หมู่ที่ 11 ต.หญ้าปล้อง อ.เมืองศรีสะเกษ ตามหมายจับศาลอาญาข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดชให้การว่า มีอาชีพเป็นทนายความ มาพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ ของนายอาทิตย์ ปานแก้ว อายุ 47 ปี น้องเขย โดยยอมรับว่าเป็นผู้ถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ของ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ส่วนรายละเอียดอย่างอื่นไม่ขอให้การจุดที่ 2 ตรวจค้นบ้านเลขที่ 4001 หมู่บ้านลาดพร้าว ซอยโยธินพัฒนา 11 แยก 7 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ ของนายรัฐวิชญ์ ฐิติอรุณวัฒน์ อายุ 34 ปี เป็นบ้านเดี่ยวสองชั้น พบรถเก๋งสปอร์ตหรู ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู สีดำ ทะเบียนป้ายแดง อ-6110 กรุงเทพมหานคร ราคากว่า 12 ล้านบาท และรถเบนซ์ รุ่น 300 อี ทะเบียนป้ายแดง ค-4899 กรุงเทพมหานคร จอดอยู่ในโรงจอดรถ ในห้องนอนชั้นบน พบกระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดังนับสิบใบ นาฬิกาแบรนด์เนมหรูราคาแพงกว่า 40 เรือน เจ้าหน้าที่อายัดไว้ตรวจสอบ ส่วนนายรัฐวิชญ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกชุดจับกุมได้ที่บ้านอีกหลังใน จ.เชียงใหม่ ก่อนนำขึ้นเครื่องบินเข้ามาที่กรุงเทพฯ โดยนายรัฐวิชญ์เปิดเผยกับสื่อมวลชนขณะมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิว่า มั่นใจในธุรกิจที่ทำนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และกำลังขยายเครือข่ายไปอีกหลายประเทศ

...

ไล่เลี่ยกัน เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนายไชธร ทองหล่อเลิศ อายุ 40 ปี ได้ที่ห้องเลขที่ 39/147 ชั้น 11 อาคารบางนาคอมเพล็กเรสสิเด้นท์ เป็นจุดที่ 3 ภายในห้องพบเอกสารการเคลื่อนไหวทางการเงินจำนวนครั้งละหลักแสนบาท ได้เก็บไว้เป็นหลักฐานทางคดี ก่อนจะควบคุมตัวนำมาตรวจค้นรถยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอัลพาร์ด สีขาว หมายเลขทะเบียน ฎง 2813 กรุงเทพ-มหานคร และธนบัตรสกุลริงกิตของประเทศมาเลเซียจำนวนหนึ่ง

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด เลขที่ 974/174 ซอยบางนาตราด 25 แขวงและเขตบางนา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ร่วมแถลงผลการดำเนินการตรวจค้น และเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด โดยการตรวจค้นวันนี้ ได้จับกุมนายรัฐวิชญ์ ฐิติอรุณวัฒน์ อายุ 34 ปี ผู้ชักชวนและเป็นแม่ทีมลำดับต้นบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด นายไชธร ทองหล่อเลิศ อายุ 40 ปี ผู้ถือหุ้นบริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช วรงค์ อายุ 40 ปี นิติกรและผู้ถือหุ้นบริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ทีมลำดับต้นของบริษัท

พล.ต.ท.สุวิระ ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์แก้ไขปัญหาความมั่นคงเป็นจำนวนมาก ว่า บริษัทดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายดำเนินธุรกิจลักษณะแชร์ลูกโซ่ เพราะไม่ได้เงินปันผลกำไรมาตั้งแต่ปี 57 ได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาระยะหนึ่งพบว่าฉ้อโกงประชาชนจริง ได้เพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทนี้ไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย.58 พร้อมยื่นหลักฐานเสนอศาลอาญา อนุมัติออกหมายจับผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด แล้ว 8 ราย เป็นชาวมาเลเซีย 3 รายและชาวไทยอีก 5 ราย ประกอบด้วย 1. นายเท คิม เลง อายุ 40 ปี ผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท 2. นายลี ควน มิง อายุ 38 ปี กรรมการบริษัท 3. นายวอน ชิง หัว อายุ 42 ปี ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท 4. นายอาทิตย์ ปานแก้ว อายุ 47 ปี ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท 5. นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า อายุ 40 ปี แม่ทีมลำดับต้นของบริษัท 6. นายรัฐวิชญ์ ฐิติอรุณวัฒน์ อายุ 34 ปี แม่ทีมลำดับต้นของบริษัท 7. นายไชธร ทองหล่อเลิศ อายุ 40 ปี ผู้ถือหุ้นบริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ 8. ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช วรงค์ อายุ 40 ปี ผู้ถือหุ้นบริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

พล.ต.ท.สุวิระกล่าวต่อว่า พฤติกรรมจะโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุน จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้ง ที่ได้รับแจ้งเบาะแสแจ้งว่า บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ประกอบธุรกิจในลักษณะมีแนวโน้มเป็นไปในรูปแบบ การชักชวนให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาลงทุนในจำนวนสูงพอสมควร โดยโฆษณาชักชวนวิธีการลงทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ www.u-fun-u-token.com  และ www.youtube.com  รวมทั้งเว็บไซต์อื่นๆหลายเว็บไซต์ ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาชักชวน อาทิ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องขายสินค้า ไม่ต้องรักษายอด ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง เป็นต้น สำหรับรูปแบบการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนมี 5 ระดับ หรือ 5 ตำแหน่ง คือ ระดับ 1 ดาว 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 17,500 บาท ระดับ 2 ดาว 1,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 35,000 บาท ระดับ 3 ดาว 5,000 ดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินไทย 175,000 บาท ระดับ 4 ดาว 10,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 350,000 บาท และระดับ 5 ดาว 50,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1,750,000 บาท

...

ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า อีกแนวทางคือการชักชวนบุคคลทั่วไปให้นำเงินมาลงทุน สามารถสมัครร่วมลงทุนกับบริษัทฯได้ 2 แบบ คือ สมัครแบบที่ 1 เป็นการสมัครแบบเน้นซื้อ U-TOKEN (สกุลเงินสมมติที่ไม่มีอยู่จริง) หรือสมัครแบบที่ 2 เป็นการสมัครแบบเน้นซื้อสินค้า เมื่อสมัครสมาชิกตามตำแหน่ง 5 ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น สมาชิกจะได้คะแนน S POINT และ P POINT ใช้เป็นส่วนลดการซื้อสินค้า (S POINT) หรือสำหรับใช้แลกสินค้าฟรี (P POINT) เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนแผนการลงทุน และการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าว พบว่า แม่ทีม หรือแกนนำที่ชักชวนไม่ได้กล่าวถึงสินค้าตามที่บริษัทฯแจ้งจดทะเบียนขายตรงไว้ แล้วมุ่งเน้นในการขายสินค้า เพื่อให้เกิดรายได้จากยอดขายสินค้า อีกทั้งการบรรยายแต่ละครั้ง มุ่งเน้นเฉพาะแผนการพัฒนาการตลาดแบบขยายทีม หรือการหาสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และพูดถึงเรื่องผลตอบแทนสูง เป็นรถยนต์ หรือทองคำแท่ง เมื่อสามารถหาสมาชิกรายใหม่เพิ่มเข้ามาได้ ทำให้ผลตอบแทนที่บริษัทนำมาจ่ายให้แก่สมาชิกก็คือเงินของสมาชิกรายใหม่ ที่นำมาจ่ายหมุนเวียนให้กับสมาชิกรายเก่านั้นเอง

พล.ต.ท.สุวิระกล่าวอีกว่า การตรวจค้นทั้ง 3 จุด พบว่าประธานหรือเจ้าของบริษัทดังกล่าว มีนายอาทิตย์ ปานแก้ว อายุ 47 ปี ถือหุ้นมากที่สุด 51 เปอร์เซ็นต์ โดยเปิดบริษัท 2 แห่ง คือ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จํากัด ดำเนินธุรกิจขายตรง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา และบริษัท ยูฟัน พร็อพเพอร์ตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด ดำเนินธุรกิจประเภทกิจกรรมของตัวแทน และนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ทั้ง 2 บริษัทนั้น มีชาวมาเลเซียเป็นเจ้าของที่แท้จริง และหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ทั้งนี้ หุ้นจำนวนดังกล่าวได้มอบให้กับ ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช วรงค์ อายุ 39 ปี ถือแทน ตรวจสอบพบว่ามีสมาชิกร่วมลงทุน

...

ดังกล่าวมากกว่า 1 แสนราย มีทั้งคนไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ค่าสมัครรายละ 17,000 บาท เบื้องต้นตรวจยึดเงินในบัญชีผู้เกี่ยวข้อง 4 บัญชี รวม 250 ล้านบาท ตอนนี้คำนวณในช่วงเวลาสั้นๆ มีผู้เสียหายแล้วประมาณ 14,700 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า กรณีของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัดนั้น หลังได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบระบบหรือเส้นทางทางธุรกรรมการเงินของบริษัทดังกล่าว ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ก่อนเข้าตรวจสอบและตรวจยึดในวันนี้ เจ้าหน้าที่ ปปง.ได้ตรวจยึด และอายัดบัญชีธนาคารไปแล้วส่วนหนึ่ง มูลค่ากว่า 250 ล้านบาท ส่วนการเข้าตรวจสอบบริษัท ยูฟัน สโตร์ ในวันนี้นั้น จะรอรับมอบทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดมาได้ ก่อนจะนำไปตรวจสอบอีกครั้ง

ขณะที่ พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รอง ผบก. ปคบ. กล่าวว่า ขณะนี้จับกุมผู้ต้องหาแล้ว 4 ราย คือ 1.นายรัฐวิชญ์ ฐิติอรุณวัฒน์ อายุ 34 ปี 2.นายไชธร ทองหล่อเลิศ อายุ 41 ปี 3.ว่าที่ ร.ต.ฤทธิเดช วรงค์ อายุ 39 ปี และ 4.นายอาทิตย์ ปานแก้ว อายุ 47 ปี รายหลังจับได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

...


ขณะเดินทางกลับจากประเทศออสเตรเลีย แจ้งข้อหาทั้งหมดว่า “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” หลังการเข้าตรวจค้นหลายจุดในวันนี้สามารถยึดและอายัดทรัพย์สินได้หลายรายการ อาทิรถยนต์หรู 9 คัน ทองรูปพรรณจำนวนหนึ่ง และเงินสด 3 ล้านบาท ในส่วนของรายละเอียดนั้น ทาง บก.ปคม.จะแถลงข่าวชี้แจงการตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินทั้งหมดต่อไป

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด เป็นบริษัทที่รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ. ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.57 เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (น้ำผลไม้) และเครื่องสำอาง (ครีมบำรุงผิว) ก่อนหน้าการจดทะเบียนนั้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 57 ทางบริษัทได้มีการลงนาม MOA เมื่อวันที่ 16 มี.ค.57 โดยมีนายทหารระดับนาย พล.ท.ผู้หนึ่ง มีชื่อในบริษัทในฐานะผู้ดูแล และมีอำนาจสูงสุดในบริษัท ยูฟัน ประเทศไทย อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวไทยรัฐเฉพาะกิจ และไทยรัฐทีวี ได้ร่วมกันรายงานเบื้องหลังการจับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่รายนี้ว่าการดำเนินการของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด จะมุ่งเน้นในชื่อ ยูฟัน (UFUN) อ้างว่ามีสมาชิก 300,000 คนในกว่า 20 ประเทศ มีการออกสกุลเองเรียกว่า ยูโท เคน ที่ใช้แทนเงินจริงในรูปแบบดิจิตอล สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราทางออนไลน์ โดยยูฟันมีเว็บตลาดกลางขายสินค้า ให้ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกันเอง ชำระค่าสินค้าได้ด้วย ยูโท เคน กับทุกร้านค้าที่รองรับ อ้างว่ามีเงินสำรองร้อยละ 22 อยู่ในสถาบันการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ 1. UDBP ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ที่ประเทศวานูอาตู หมู่เกาะเล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิก 2.ธนาคาร BDG ก่อตั้งเมื่อปี 2553 ที่ประเทศกินีในทวีปแอฟริกา และ 3.บริษัทการเงิน ชื่อ NICO Financial

ต่อมาระยะหลัง มีสมาชิกเริ่มผิดสังเกตว่า อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ เนื่องจากเวลามีการประชุมแนะนำสินค้า จะมีการนำทองคำมาขายกันให้เห็นจริง แต่สมาชิกที่จะใช้ยูโท เคน เพื่อซื้อขายสินค้า ต้องสมัครสมาชิกเป็นแพ็กเกจ เรียกว่า “ดาว” 1 ดาวคือ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยที่ 17,500 บาท ซื้อได้ถึง 5 ดาว 50,000 ดอลลาร์ฯ หรือ 1,750,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อซื้อสินค้ากลับไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นเป็นตัวเงิน ได้เพียงยูพอยต์ (Upoint) ที่สะสมไว้ และยูแคช (Ucash) เพื่อขายต่อเป็นยูพอยต์สะสม หรือหากต้องการเงินสด ต้องหาสมาชิกเพิ่ม 50 คน แล้วนำยูแคชไปแลกเป็นเงินสด จะต้องถูกหักค่าแลกเปลี่ยนอีก และการดำเนินการซื้อขายสมาชิกจะอัพไลน์ซื้อขายกันเองตามช่องทางโซเชียลมีเดีย บริษัทไม่ได้เปิดเว็บไซต์กลางให้ซื้อขาย แต่มีเครือข่ายและสายของบริษัท แจ้งสมาชิกว่าปีที่ผ่านมามียอดเงินหมุนเวียนถึง 26,000 ล้านบาท บรรดาสมาชิกได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการจริงจัง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐและไทยรัฐทีวีได้ติดตามเครือข่ายของ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด จนทราบว่าสมาชิกที่ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่บริษัทนี้ มีหลากหลายอาชีพ อาทิ ทหารและตำรวจ ยศตั้งแต่ชั้นประทวนถึงชั้นนายพล ข้าราชการทุกระดับ แพทย์ นักธุรกิจมีชื่อเสียงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงประชาชนทั่วไป ก่อนประสานข้อมูลให้ พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร.เพื่อเข้าตรวจสอบและจับกุม แต่กระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นส่วนของบริษัทได้โอนเงินออกไปประเทศมาเลเซียประมาณ 1,000 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ ปปง.เห็นว่า หากจะรอจับกุมชาวมาเลเซียอาจไหวตัวทัน และรีบโอนเงินออกไปอีก ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสกัดเส้นทางการถ่ายโอนเงินไปต่างประเทศทันที ด้วยการแจ้งปิดบริษัท และอายัดบัญชีธนาคาร รวมทั้งเส้นทางการเงินของผู้บริหารบริษัท และเครือข่าย และแจ้งตำรวจให้รีบขออนุมัติหมายศาลเข้าตรวจค้นสถานที่พัก และที่ทำงาน ก่อนจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดตามที่เป็นข่าว