'จาตุรนต์' อัด 'บวรศักดิ์' ร่างรัฐธรรมนูญล้าหลังไปอีก 30-40 ปี หวั่นทำเศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้น ปิดกั้นอธิปไตยประชาชน ถ้าจริงใจควรเปิดทำประชามติพิสูจน์ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย อย่าร่างเอื้อผู้มีอำนาจ เพราะจะทำให้ขัดแย้งกว่าเดิม...
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2558 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุนักการเมืองวิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะอำนาจนักการเมืองพรรคการเมืองเท่านั้นว่า ความจริงคนที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญมีหลากหลาย มีการทำโพลมาจะเห็นว่าประชาชน ผู้ที่ออกเสียงในโพลส่วนใหญ่เห็นว่า นายกรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรออกมาจากการเลือกตั้ง แต่นายบวรศักดิ์ไม่ยอมฟัง ให้ไปทำโพลใหม่
อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่ิงที่นักการเมืองและพรรคการเมืองวิจารณ์อยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องของอำนาจนักการเมืองเท่านั้น ประเด็นสำคัญร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ อธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน ไม่ได้มีอำนาจโดยเฉพาะกำหนดการปกครองและบริหารประเทศ ที่นายบวรศักดิ์คุยนักคุยหนาจะเพิ่มอำนาจพลเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ความจริงเป็นเพียงการทำให้ข้างนอกสุกสดใส ข้างในเป็นโพรง กำลังจะให้อำนาจที่สำคัญๆ กลับเป็นขององค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ทั้งองค์กรอิสระเดิม องค์กรอิสระใหม่ๆ และ ส.ว.ลากตั้ง
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการร่าง รธน.ใหม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้ และไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการแข่งขัน เรื่องที่เขียนให้คนนอกเป็นนายกฯ จริงๆ แล้ว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนเพื่อเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้ นายบวรศักดิ์รู้ดีอยู่แล้วว่า จะทำให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง จนในที่สุดคนนอกได้เป็นนายกฯ นายบวรศักดิ์อาจจะหงุดหงิดที่มีเสียงไม่เห็นด้วยมากกว่า เพราะเห็นว่านายบวรศักดิ์กำลังทำให้ประเทศล้าหลังไปอีก 30-40 ปี เศรษฐกิจเสียหายไม่มีวันโงหัวขึ้นได้ ในขณะนี้ ประชาชนเปลี่ยนไปมาก ประเทศพัฒนามากขึ้น ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น แต่นายบวรศักดิ์กำลังสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญล้าหลัง จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนจำนวนมากและหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้
...
อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายบวรศักดิ์ระบุว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจ ทั้งที่เป็นแนวคิดแบบเผด็จการ เป็นการปฏิรูปที่ออกแบบโดยผู้ยึดอำนาจ จึงไม่มีความชอบธรรมในการปฏิรูป โดยเฉพาะกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการต่อไป ในอนาคตหลังการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้พวกของนายบวรศักดิ์มาเป็นคนกำหนด เพราะเป็นแนวคิดล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนที่บอกว่าถ้าผ่านไปไม่ดีก็แก้ ความจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนไว้ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา โดยที่เกือบ 1 ใน 3 ของ ส.ว.มาจากการลากตั้ง หรือการที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือให้ลงประชามติ ฉะนั้นเป็นการหลอกประชาชน ทางที่ดีควรเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก่อนบังคับใช้ มิฉะนั้นจะนำไปสู่ความล้าหลัง ขัดแย้ง วิกฤติกว่าเดิม
“ถ้านายบวรศักดิ์จะได้ประโยชน์จากผู้มีอำนาจในขณะนี้ แต่กลายเป็นโทษ เป็นความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน นายบวรศักดิ์เป็นคนชอบทำตามกระแส เมื่อปี 40 ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็ตามกระแสและได้ดีจากรัฐธรรมนูญนั้น แต่มาตอนนี้อาจหลงกระแสคิดว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญอย่างที่กำลังร่างอยู่ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และไม่ได้ฟังความเห็นประชาชน ถ้าจะให้ดีว่าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ ส่ิงที่ควรทำคือผลักดันให้มีการทำประชามติ จะได้เป็นการพิสูจน์กันใครคือเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยกันแน่” นายจาตุรนต์ กล่าว.