หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ “เสี่ยวหมี่” (Xiaomi) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนดาวรุ่งจากประเทศจีนกันมาเยอะแล้ว คราวนี้ผมขอแนะนำบริษัทอีกแห่งที่ชื่อเสียงอาจไม่โด่งดังเท่า แต่มีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

บริษัทนี้มีชื่อว่า “ไซยาโนเจน” (Cyanogen) ส่วนที่มาที่ไปของบริษัทนี้ ต้องเท้าความกันยาวสักหน่อยครับ

ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพนซอร์ส โดยกูเกิลในฐานะผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เปิดเผยโค้ดต้นฉบับ และอนุญาตให้ใครก็ตามที่สนใจ สามารถนำไปดัดแปลงแก้ไขได้

ในช่วงที่แอนดรอยด์ออกใหม่ๆ ก็มีโปรแกรมเมอร์อิสระหลายคน นำโค้ดของแอนดรอยด์ไปดัดแปลงแก้ไขเอง เพิ่มความสามารถนู่น

นี่ที่ตัวเองอยากได้เข้ามา อย่างไรก็ตาม กูเกิลแจกโค้ดอย่างเดียว แต่ไม่สนใจรับโค้ดจากบุคคลภายนอก ทำให้โปรแกรมเมอร์เหล่านี้ รวมตัวกันสร้างแอนดรอยด์รุ่นพิเศษของตัวเอง และใช้ชื่อแบรนด์แตกต่างกันไป (เพราะชื่อ “แอนดรอยด์” เป็นเครื่องหมายการค้าของ กูเกิล)

Cyanogen ทางเลือกใหม่ของวงการแอนดรอยด์?

ในบรรดาโปรแกรมเมอร์เหล่านี้ มีโปรแกรมเมอร์อยู่คนหนึ่ง ชื่อ สตีฟ คอนดิค (Steve Kondik) ที่ตั้งนามแฝงของตัวเองว่า Cyanogen เขาทำแอนดรอยด์เวอร์ชั่นของตัวเอง ชื่อ CyanogenMod (คำว่า mod หมายถึง “โมดิฟาย” หรือปรับแต่ง)

...

ทำไปทำมา โครงการ CyanogenMod โด่งดังกว่าแอนดรอยด์ดัดแปลงรุ่นอื่นๆ และมีโปรแกรมเมอร์อิสระมาเข้าร่วมกับโครงการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมือถือแอนดรอยด์มีจำนวนมหาศาล โปรแกรมเมอร์แต่ละคนจึงเข้ามาช่วยพัฒนาให้ CyanogenMod สามารถทำงานได้บนมือถือรุ่นที่ตัวเองใช้งาน ปัจจุบัน CyanogenMod สามารถทำงานได้บนมือถือจำนวนมากเป็นร้อยรุ่น แต่คุณภาพก็แตกต่างกันไปตามแรงงานของโปรแกรมเมอร์ที่รับผิดชอบรุ่นนั้นๆ

ความโดดเด่นของโครงการ CyanogenMod กระจายไปถึงนักธุรกิจคนหนึ่ง ชื่อ Kirt McMaster เขาเคยทำงานในบริษัทไอทีมาหลายแห่ง (เช่น โซนี่) เขาใช้แอนดรอยด์ และค้นพบว่า CyanogenMod ใช้งานได้ดีมาก จนเริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจของโครงการนี้ เขาจึงติดต่อไปยัง Kondik เพื่อทำความรู้จักกัน จนสุดท้ายทั้งสอง ก็ออกมาเปิดบริษัทในชื่อ Cyanogen, Inc. อย่างเต็มตัว โดย Kondik ดูแลงานด้านเทคนิค ส่วน McMaster เป็นซีอีโอดูแลธุรกิจ

แนวทางธุรกิจของ Cyanogen คือ พัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่นของตัวเอง (เรียกว่า Cyanogen OS ซึ่งไม่เหมือนกับ CyanogenMod ซะทีเดียว) ให้กับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์มือถือบางราย ที่อยากได้แอนดรอยด์ที่ยืดหยุ่นกว่าแอนดรอยด์เวอร์ชั่นของกูเกิล เพราะในการใช้งานแอนดรอยด์เวอร์ชั่นกูเกิลนั้น มีเงื่อนไขค่อนข้างจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์บางตัวที่เป็นคู่แข่งโดยตรงของกูเกิลได้

ตอนนี้ Cyanogen Inc. เพิ่งเริ่มกิจการได้ไม่นาน แต่ก็พอมีลูกค้าเป็นบริษัทมือถือรายย่อยๆ บ้างแล้ว เช่น OnePlus จากจีน (ตอนหลังดันมาแตกคอกัน), Micromax ของอินเดีย, Alcatel และ Blu เป็นต้น ล่าสุด บริษัทเพิ่งระดมทุนมาได้อีก 80 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไป

Cyanogen ทางเลือกใหม่ของวงการแอนดรอยด์?

สิ่งที่น่าสนใจของ Cyanogen คือ บริษัทใช้ “ช่องโหว่” ของตลาดแอนดรอยด์ ที่ผูกติดกับกูเกิลเพียงรายเดียว ให้เป็นประโยชน์ บวกกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดบริษัทมือถือหน้าใหม่ที่เน้นทำตลาดเป็นบางประเทศเท่านั้น (คล้ายกับ i-Mobile ของบ้านเรา) ซึ่งบริษัทเหล่านี้เก่งเรื่องช่องทางการขายและการตลาด แต่กลับขาดแคลนทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนั้น ถ้า Cyanogen สามารถสร้างระบบปฏิบัติการทางเลือกให้บริษัทฮาร์ดแวร์เหล่านี้ได้ ย่อมเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีมากอีกช่องทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม อนาคตของ Cyanogen ก็ไม่ได้เรียบง่ายนัก เพราะกูเกิลเคยมีประวัติ “กีดกัน” การเติบโตของแอนดรอยด์รุ่นดัดแปลงมาก่อนแล้ว ตอนนั้นบริษัท Alibaba ของจีน พยายามทำแอนดรอยด์ของตัวเอง ชื่อ Aliyun OS และไปจับมือกับเอเซอร์เพื่อผลิตสินค้าให้สถานการณ์กลายเป็นว่า กูเกิลยื่นคำขาดให้เอเซอร์เลือกว่าจะใช้ Aliyun OS หรือแอนดรอยด์รุ่นมาตรฐานของกูเกิลกันแน่ ถึงขั้นว่าเอเซอร์กลับลำแทบไม่ทันเลยทีเดียว

มาร์ค Blognone