ภาพจากกล้องจุลทรรศน์แสดงให้เห็นการเปลี่ยนลักษณะเชิงระนาบ (PDF) เล็กน้อยในหินควอทซ์ หลักฐานการค้นพบหลุมอุกกาบาตใต้โลก (ภาพ: telegraph)

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบรอยแผลลึกในแผ่นเปลือกโลก บริเวณพื้นที่ชนบทของประเทศออสเตรเลีย 2 รอย โดยเชื่อว่าเป็นรอยที่หลงเหลืออยู่ของหลุมอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 250 ไมล์ ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ร่องรอยของหลุมอุกกาบาตดังกล่าวถูกพบในเขตลุ่มน้ำวอร์เบอร์ตัน (Warburton Basin) ระหว่างเขตแดนรัฐเซาท์ออสเตรเลีย, รัฐควีนส์แลนด์ และนอร์ทเทิร์นเทร์ริทอรี ที่ความลึกกว่า 1.2 ไมล์ใต้ผิวโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบหนึ่งในรอยแผลดังกล่าวตั้งแต่เมื่อ 5 ปี ก่อน แต่ในตอนนั้นพวกเขาเชื่อว่่าเป็นเป็นร่องรอยของอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 3 เท่านั้น

แต่จากหลักฐานใหม่ที่พบในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่ารอยแผลในเปลือกโลกมี 2 รอย แต่ละรอยมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 120 ไมล์ และเชื่อว่าเกิดจากอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่แตกออกเป็น 2 ส่วนก่อนตกกระแทกผิวโลก

ดร. แอนดรูว์ กลิคสัน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า รอยแผลที่พบอาจเกิดจากอุกกาบาตก้อนเดียวที่แตกเป็น 2 โดยตัวหลุมอุกกาบาตนั้นเลือนหายไปตามกาลเวลาเมื่อนานมาแล้ว แต่ตัวอย่างที่พวกเขาพบจากรอบแผลทั้ง 2 รอยระหว่างการขุดวิจัยเรื่องความร้อนของโลก ทำให้พวกเขาเชื่อเช่นนั้น

"อุกกาบาตทั้ง 2 ส่วนต้องมีความกว้างมากกว่า 10 กม. และทำให้สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธ์ุในยุคนั้นต้องสูญสิ้นไปจากโลก การตกกระทบขนาดใหญ่เช่นนี้ อาจมีบทบาทสำคัญต่อวิวัฒนาการของโลก มากยิ่งกว่าที่เราเคยคิด" ดร.กลิคสัน กล่าว

ดร.กลิคสันระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตามนี่เป็นเรื่องลึกลับ เราไม่พบเหตุการณ์สูญพันธ์ุครั้งใหญ่ ที่สอดคล้องกับการชนของอุกกาบาตลูกนี้เลย ผมตั้งข้อสงสัยว่าการกระแทกอาจเกิดมานานกกว่า 300 ล้านปี 

อนึ่ง ผลการวิจัยเรื่องนี้จะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร 'Tectonophysics'.

...