ความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมานานนับทศวรรษ จนนำไปสู่ความเคลื่อนไหวของม็อบสองกลุ่มใหญ่ๆ กระทั่งลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง เลยไปจนกระทั่งถึงการก่อเหตุวินาศกรรมปั่นป่วนหลายจุด ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จะมาสิ้นสุดลงในยุคที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า "ขอเข้ามาคืนความสุขให้กับชาวไทย" ได้สมดังที่ตั้งใจหรือไม่ วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาท่านผู้อ่านไปฟังมุมมองและคำตอบจากปากผู้ที่คลุกคลีวงใน ข่าวกรองขั้นเทพของประเทศ จนได้รับฉายา "ซีไอเอเมืองไทย" น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ

เหตุป่วนสงบยาก ตัวการยังอยู่ แนะใช้ความเด็ดขาดรวดเร็ว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : ประเมินสถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้ ประเทศไทยพ้นจากสารพัดเหตุปั่นป่วนทางการเมืองแล้วหรือยัง

น.ต.ประสงค์ A : ส่วนตัวมองว่า ความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา ที่เกิดมานานหลายปี จนกระทั่งต้องใช้กำลังทหารเข้าทำการรัฐประหาร เพื่อช่วยให้ประชาชนเค้าออกมาต่อสู้ได้ประสบผลตามเป้าหมาย คือไม่ต้องการรัฐบาลตามระบอบทักษิณ ซึ่งการเข้ามาของคณะรัฐประหาร จะสังเกตเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็รู้สึกพอใจ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปได้เปลาะหนึ่ง แต่พอเวลาล่วงเลยไป จากการที่ผมได้เฝ้าติดตามเหตุการณ์ และได้สัมผัสกับความรู้สึกของประชาชนหลายๆ กลุ่มมาโดยตลอด พบว่าความรู้สึกพอใจมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ 22 พ.ค.57 จนถึงวันนี้ ความพอใจของประชาชนก็เริ่มค่อยๆ ลดลงๆ ตามลำดับ เหมือนกับสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ แล้วหากถามว่า ความพอใจของประชาชนลดลงเพราะอะไร ในจุดนี้เมื่อได้วิเคราะห์ตามประสบการณ์ของผมที่ผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายต่างๆ ในบ้านเมืองมาหลายครั้งหลายหน ก็คิดว่า ความไม่พอใจของประชาชน เกิดจากทั้งไม่ทันใจ แล้วก็ผิดหวังในเรื่องการทำงานควบคู่กัน

...

น.ต.ประสงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อยากจะให้ย้อนกลับไปดูว่า ความมุ่งหมายของคณะรัฐประหาร ที่เข้ามาก็เพราะเข้าไปกำจัดความไม่ถูกต้องชอบธรรมทั้งหลาย ที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายมาเป็นเวลานานจากระบอบทักษิณ และนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อเข้ามาแล้ว แทนที่จะมุ่งหน้าจัดการกับสิ่งเฉพาะหน้าที่เป็นมูลเหตุ เป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหาย เพราะการตั้งรัฐบาลในลักษณะนี้ ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล หรือเฉพาะเหตุการณ์ที่ต้องใช้อำนาจเข้ามาแก้ไข ซึ่งรัฐบาลเฉพาะกาลในลักษณะนี้ มีหน้าที่เพียงจัดการปัญหาต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

แต่รัฐบาลเฉพาะกาลนี้ กลับไปทำงานเหมือนกับรัฐบาลปกติ ไปคิดเรื่องโน้น ไปคิดเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ มันก็เป็นแบบใช้ฟอร์มเดิมๆ ซึ่งเจตนาก็อาจจะดีหรอก แต่คนที่ได้รับการแต่งตั้งมันคละกัน คนเค้าก็มองออก เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องผุดขึ้นมาหลายเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การแต่งตั้งลูกเมียอะไรต่างๆ ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นทั้งสองสภา ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนสะสมความผิดหวังมากขึ้นๆ แล้วเมื่อมาประกอบกับการที่รัฐบาล ไม่ขุดรากถอนโคนต้นเหตุสำคัญๆ เข้ามาแล้วไม่คำนึงว่าตัวเองเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล แต่ไปบริหารจัดการเหมือนรัฐบาลปกติ เรื่องสำคัญหลายๆ เรื่อง ที่สามารถจัดการได้ภายใต้อำนาจของตัวเอง ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยเฉพาะ ม.44 ซึ่งได้ให้อำนาจไว้เต็มที่ แม้กระทั่งยกเลิกคดีที่ศาลตัดสินไปแล้วก็สามารถทำได้ มาจัดการปัญหาสำคัญๆ ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เอาเรื่องเดียวเท่านั้นก็ได้คือ "ยศยังไม่ถอด พาสปอร์ตยังไม่ถอน ปล่อยตะลอนไม่ตามจับ" ซึ่งเมื่อไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ จึงทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความสงสัย ว่า มีการเจรจาต่อรองอะไรกันหรือเปล่า ซึ่งในเรื่องนี้ ผมพูดไปตามหลักการ ไม่ได้มีอคติอะไรกับใครใดๆ ทั้งสิ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : แปลว่า ท่านมองว่า คสช.จะล้มเหลวใช่หรือไม่

น.ต.ประสงค์ A : คือเมื่อก่อน ในการปฏิวัติปี พ.ศ.2549 เราใช้คำว่าเสียของ เพราะเจตนาเข้ามาคล้ายกัน คือเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ในขณะนั้น ยังดีที่ยังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ขึ้นมา ซึ่งก็ทำงานทันที ตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง มีคณะทำงาน แต่ของ คสช. กลับไม่มีหน่วยงานในลักษณะแบบนี้เลย ซึ่งเมื่อไม่มี ก็อาจทำให้คนเกิดความสงสัยได้ ซึ่งผมไม่อยากให้มีใครมองแบบนั้น ควรจะเคลียร์ไปดีกว่า นอกจากนี้ การทำงานของ สนช. เอง ก็น่าผิดหวัง เรื่องการจะถอดถอนนักการเมือง ตัวเองมักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ทั้งๆ ที่ สนช. ก็ใช้อำนาจในฐานะสมาชิกวุฒิสภาอยู่ เพราะปัจจุบันไม่มีวุฒิสภา เมื่อตัวเองบอกว่า รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ยกเลิกไปแล้ว แล้วพวกคุณทำไมยังใช้อำนาจเค้าอยู่ล่ะ เอาล่ะ เมื่อบอกเลิกไปแล้ว ถอดถอนไม่ได้ อ้างโน่นอ้างนี่ อะไรต่างๆ แต่หลายเรื่อง บางเรื่องก็มีการถอดถอน มันทำให้ผู้คนเกิดความสงสัย เอ๊ะ มันอะไรกันหรือว่ามีคนคอยกำกับว่าเรื่องนี้ควรถอด เรื่องนี้ไม่ควรถอด คนเค้าก็สงสัยว่า เมื่อสงสัยก็ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นมา และในรายต่อๆ ไป นับจากนี้ อย่าให้ผมได้ยินอีกนะว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ยกเลิกไปแล้ว ถอดถอนไม่ได้ ขอเลย ขออย่าให้ผมได้ยินแบบนี้ เพราะหากอ้างว่ายกเลิกไปแล้ว

1. ทำไม สนช.จึงยังใช้อำนาจในฐานะสมาชิกวุฒิสภาอยู่ 2. ทำไมองค์กรอิสระต่างๆ จึงยังอยู่ ทั้งๆ ที่ตั้งขึ้นตาม รธน.ปี 50 ทั้งสิ้น เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้ผมเข้าใจได้ว่า เวลาที่พวกคุณอยากทำอะไร คุณก็อ้างว่าทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่พอเวลาไม่อยากทำอะไร ก็อ้างว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ยกเลิกไปแล้ว ถ้ายกเลิกไปแล้วคุณก็ไม่ต้องใช้อำนาจวุฒิสภา และสิ่งที่ทำมาคุณผิดทั้งหมด คนดีๆ มีเยอะแต่ความรู้สึกของผม คล้ายๆ กับว่า คนส่วนใหญ่ยังต้องคอยรอรับโผ มาจากไหนไปหากันเอาเอง ผมไม่อยากจะพูด เหมือนตอนต้นเข้ามาใหม่ๆ บอกไม่อยากจะแจ้งบัญชีทรัพย์สิน บอกคล้ายๆ ว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว แบบนี้อ้าง อีกจุดอ่อนหนึ่งของ สนช. คือตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารเลย เช่น การตั้งกระทู้ถามไปยังกระทรวงต่างๆ แต่เห็นไหมว่า เคยตรวจสอบอะไรกันบ้าง


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : เค้าอาจจะอ้างได้ไหมว่า เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลไม่ปกติ

น.ต.ประสงค์ A : อ้าว ทำไมไปอ้างแบบนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลไม่ปกติ คุณก็ต้องทำงานแบบไม่ปกติด้วยสิ ไอ้สิ่งต่างๆ เนี่ย คุณก็ไม่แก้ไขเลยหรือ ถูกไหม สภาปฏิรูป หรือ สปช. ก็เหมือนกัน ผมดูๆ ไปแล้ว มันท่าจะปฏิเลอะมากกว่าปฏิรูป คือไอเดียกระฉูด ความเห็นต่างๆ ไม่เป็นระบบเท่าไหร่ โดยเฉพาะการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยเหตุผลว่ายึดอำนาจแล้วต้องยกเลิก อันนี้เพื่อยึดอำนาจแล้วไม่ต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะมิเช่นนั้นจะมีความผิด แต่คณะรัฐประหารชุดต่อๆ ไป อยากแนะนำ ว่า เมื่อยึดอำนาจแล้วรัฐธรรมนูญที่จะสร้างขึ้นใหม่ กับรัฐธรรมนูญที่ล้มลงไปแล้ว หากคิดที่จะทำให้มัน พูดง่ายๆ ว่า จะให้เกิดของดีขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องมาทำให้ใหญ่โตขนาดนี้ แบบร่างกันใหม่ทั้งฉบับ เพราะคุณระงับการใช้ไว้ชั่วคราวได้ เพราะเรียกว่าไม่มีเหมือนกัน เพราะอะไร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลายหมวด หลายมาตรา ของเดิมทั้งนั้น แต่ควรใช้วิธียกเว้นไว้บางมาตราเพื่อการแก้ไข โดยมาดูในช่วงที่มีการยึดอำนาจนั้น มีเรื่องอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมา แล้วก็มาฟังเสียงประชาชน และนักการเมืองว่า อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราไหน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เปิดให้สามารถแก้ไขได้ใช่ไหม ไม่ต้องมาตั้งอะไรใหญ่โตขนาดนี้ เอาคณะเล็กๆ เข้ามาดูก็เพียงพอ เพราะไอ้เรื่องที่ทำให้เกิดความเสียหายส่วนใหญ่ มันไม่พ้นเรื่องการเมืองหรอก การเข้ามาของนักการเมือง ก็คือการเลือกตั้ง องค์กรที่จัดตั้งขึ้น ระบบของมันเป็นอย่างไรบ้าง ควรแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร แค่ไหน เฉพาะบางเรื่องพอ

หนุนทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ค้านเปิดทางมีนายกฯ คนกลาง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : แปลว่าที่สุดแล้ว ท่านเชื่อว่า รัฐธรรมนูญใหม่ จะแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ ปฏิรูปไม่ได้ใช่หรือไม่

น.ต.ประสงค์ A : ผมเชื่อเช่นนั้น คือ รัฐธรรมนูญเนี่ยหลักการสำคัญ จะไปร่างใหม่ หรือจะไปแก้ไขใหม่ อะไรต่างๆ ผู้ร่างหรือผู้พิจารณาเรื่องนี้ ควรจะคำนึงถึงคือ หลักประชาธิปไตย ซึ่งหลักประชาธิปไตย ที่สำคัญ ที่คุณทิ้งไม่ได้เลยในการร่างรัฐธรรมนูญคือ 1. การร่างรัฐธรรมนูญ คุณต้องยึดถือหลักประชาธิปไตยของประเทศชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข 2. เรื่องของการบริหารปกครอง นั่นคือ หลักประชาธิปไตย เนี่ย ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ที่ประชาชนเห็นดีเห็นชอบ สนับสนุน แล้วก็เป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ใช่ไปหาใครที่ไหนมาเป็น ซึ่งหากขาดนี้ไป มันก็เรียกว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย คุณต้องให้เป็นเรื่องของผู้ปกครองต้องมาจากประชาชน พูดง่ายๆ คือ ตัวนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าฝ่ายปกครอง ต้องมาจากประชาชนเป็นผู้เห็นดีเห็นชอบ เพราะหลักการของการบริหารปกครอง นั้น ผู้ปกครองจะปกครองไม่ได้ หากประชาชนไม่ยอมรับ แต่ถ้าประชาชนยอมรับ เค้าก็ปกครองได้ 3. แนวทางของการบริหารปกครอง จะต้องยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม และธรรมาภิบาล 4. การมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องไหนก็ตามที่เป็นความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน ควรมีการทำประชามติ หรือฟังดู โดยเฉพาะกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่าไปเสียเวลากับการคิดว่า ควรจะทำหรือไม่ทำประชามติดีหรือไม่ อย่าไปเสียเวลาคิด หรือลังเล ต้องทำประชามติเพื่อถามประชาชน เพราะคะแนนเสียงของประชาชนจะเป็นเกราะคุ้มครอง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 แต่หากประชาชนเค้าไม่ยอมรับ ก็ต้องยกเลิกแล้วทำใหม่

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : แปลว่า ท่านมองว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ดีพออยู่แล้วใช่หรือไม่

น.ต.ประสงค์ A : ในการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ผมเป็นประธาน ได้เปิดช่องไว้เหมือนกันว่า ผมก็ไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญมันจะดีทุกมาตราตลอด เหตุการณ์มันเปลี่ยนผ่านได้ตลอด มันต้องแก้ไขได้ ก็เปิดโอกาสให้แก้ไข แล้วแต่ว่าจะแก้ไขตรงไหน ไอ้ตรงนี้ไงที่ผมอยากจะพูดว่า คุณงดใช้ชั่วคราว แต่คุณมาแก้ไขไอ้สิ่งที่คุณเอาคณะมาดูว่ามันเรื่องอะไร 5-6 เดือนก็เสร็จ ไม่กินเวลาแรมปี แบบนี้ แล้วก็ไม่ต้องมาฟุ้งซ่านกันเรื่อง เดี๋ยวไปดูงานเยอรมนี จะเอาของเยอรมนีมาใช้ ของอังกฤษ ของฝรั่งเศส ลืมไปว่าเรากำลังร่างรัฐธรรมนูญใช้กับคนไทย ทำไมไม่ดูภายในของเรา ดูจากของเก่า อะไรที่มันสำคัญๆ กระบวนการเข้าสู่วงการเมือง ระบบราชการ อะไรเนี่ย มันเป็นช่องทางไง และข้อสำคัญที่สุดประชาชนมีส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เกิดนักการเมืองเข้าสู่สภา เพราะว่าการศึกษาความรู้ความเข้าใจ ข้อมูลข่าวสาร มันไปไม่ค่อยถึงประชาชน ยังไม่มีข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกัน ความยากจน มันเกี่ยวพันกันหมด เพราะฉะนั้นจึงควรมานั่งดูกันตรงนี้ว่า นี่คือสิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจึงมาสู่การปฏิรูปนั่นเอง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นต้นแบบสำคัญ ในการกำหนดทิศทางของบ้านเมืองจะไปทางไหน คือจะปฏิรูปอะไรให้มันดีขึ้นมา ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ คนที่ทำงานเรื่องรัฐธรรมนูญ มันควรจะมีคนที่มาจาก สนช. มาจากฝ่ายบริหาร มาจากฝ่ายราชการปกติ มาจากฝ่ายวิชาการ ไม่ใช่มาตั้งกันทำงานแบบชนิดเอาใครมาก็ไม่รู้แบบทุกวันนี้ แล้วเงินเดือนก็แพงๆ สภาหนึ่งก็มีคนตั้ง 200-300 คน 2 สภา 600 กว่าคน แต่ละคนเงินเดือน แล้วก็ค่าเบี้ยตอบแทนค่าประชุมอะไรอีกสารพัด คิดดูสิว่า เดือนๆ หนึ่งเป็นเงินเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้แหละ คือเป็นการทำให้ประชาชนผิดหวัง ไม่สมหวัง สะสมมากขึ้นทุกวัน

เตือนระวังฝ่ายต่อต้าน ยากสงบสุข

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : แล้วเมื่อไหร่ความอดทนของประชาชนจะสิ้นสุดลง

น.ต.ประสงค์ A : ถามแบบนี้ ผมก็ตอบแบบนี้ว่า เมื่อไหร่ที่ความอดทนของประชาชนจะแตก เปรียบเหมือนฝีกลัดหนอง ไปหาหมอ หมอเค้าไม่ให้ยาระงับแก้ปวด อย่างนั้นไม่ต้องไปหาหมอ มาหาผมก็ได้ เอายาแก้ปวดไปกิน พอปวดขึ้นมาก็กิน แต่หมอเค้าจะบอกว่า ต้องใช้วิธีกรีดให้หนองแตกแล้วเอาหัวฝีออก สภาพประเทศไทยเป็นแบบนี้จริงๆ ผู้คนเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาร่วมกว่าปี พอมาถึงแทนที่จะใช้ความรวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด กรีดทันทีเลย แก้ปัญหาต้นเหตุ เอาหัวมันออกซะก่อนใช่ไหม แล้วค่อยมารักษาแผลมันง่าย แต่นี่ทิ้งเอาไว้ ซึ่งไอ้การทิ้งเอาไว้เนี่ยแหละ เราจะเห็นประเดี๋ยวก็บึมที ประเดี๋ยวก็มีขบวนการ ทีนี้แล้วยิ่งไปจัดการกับพรรคพวกเค้าตอนนี้ ดีแต่พูดอย่างเดียวไม่จัดการเค้าจริงจัง ไม่เกินเร็วๆ นี้ ไอ้ปัญหาความวุ่นวายรุนแรง มันจะเกิดขึ้นเพราะว่า 1. ขบวนการทำงานใต้ดินของกลุ่มเก่ายังอยู่ 2. ขบวนการบนพื้นดินยังอยู่ และ 3. ตัวการสำคัญๆ ยังอยู่ แม้กระทั่งในฝ่ายราชการที่ทำหน้าที่ ที่ยังเป็นพรรคพวกกันก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้น อย่าไปหวังว่าบ้านเมืองจะสงบสุข หากยังบริหารจัดการอยู่ในลักษณะอย่างนี้ และที่สำคัญ ในช่วงการดำเนินคดีกับ หนูปู ของคุณนะ ไม่ใช่ของผม (หัวเราะ) ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ อันนี้แหละผมเชื่อว่า ขบวนการทั้งหลายที่ผมพูดไปทั้งหมดนั้น จะไม่หยุดเฉยนิ่งแน่นอน ซึ่งโดยส่วนตัวให้ผมวิเคราะห์ ขอทำนายไว้เลยว่า คุณจะอยู่ไม่เป็นสุขหรอก นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจะรุนแรงขึ้น

คมช.ปฏิวัติเสียของ คสช.ปฏิวัติของเสีย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ Q : สมัย คมช.เรียกปฏิวัติเสียของ แล้ว คสช. จะเปรียบว่าอะไร