เรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจของหนึ่งในเครื่องบินขนส่งทางทหารแบบใบพัด ที่มีบทบาทมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน ท่ามกลางยุคสมัยของเครื่องยนต์เจ็ต แต่ยังคงบินอย่าทระนง องอาจมานานกว่าศตวรรษ รวมทั้งยังเป็นม้างานสำคัญของ ทอ.ไทย ...
นับตั้งแต่เครื่องบินลำเลียงรุ่นต้นแบบ วายซี-130 เฮอร์คิวลิส (YC-130 Hercules) ที่มีรูปลักษณ์อันสะดุดตากับลำตัวอ้วนป้อมพร้อมยาวตรงปีกขนาดใหญ่ ที่มีเครื่องยนต์ใบพัด 4 เครื่อง ได้ทะยานขึ้นสู่ฟ้าเป็นครั้งแรก ในวันที่ 23 ส.ค.ปี 1954 ที่ล็อกฮีด แอร์เทอร์มินัล ในเบอร์แบงก์ แคลิฟอร์เนีย จนถึงเวลานี้มี เฮอร์คิวลิส ได้บินไปแล้วทั่วทุกมุมโลก เรื่องนี้ไม่ได้โม้ เพราะมันถูกใช้งานในการขนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้วโลกเหนือที่หนาวจัด ทะเลทรายที่ร้อนระอุในตะวันออกกลาง หรือป่าฝนร้อนชื้นแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสมรภูมิ ทั้งสงครามเวียดนามจนถึงปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน
...
ด้วยการใช้งาน 'เฮอร์คิวลิส' ในภารกิจที่ไม่ใช่แค่การขนส่ง แต่ยังถูกใช้งานในการทิ้งระเบิด (เดซี่คัทเตอร์) เพื่อเปิดพื้นที่ป่าให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอด การเก็บกู้แคปซูลที่บรรจุฟิลม์ถ่ายภาพจากดาวเทียมจารกรรมกลางอากาศ การทำหน้าที่จารกรรมหาข่าวกรอง และการโจมตีภาคพื้นดินด้วย เครื่องบิน ซี-130 ที่ดัดแปลงให้สามารถติดตั้งปืนใหญ่และปืนกลนานาชนิด ขณะที่ เฮอร์คิวลิส ก็ถูกใช้เป็นเครื่องบินขนส่งของเอกชนในด้านเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการดับไฟป่า โปรยสารเคมี กำจัดคราบน้ำมัน เป็นต้น จึงถือเป็น 1 ใน 3 เครื่องบินที่มีการใช้งานมายาวนานของสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-52 สตราโตฟอร์เทรส และเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ เคซี-135 สตราโตแทงเกอร์
แต่ที่เหนือกว่าเครื่องบิน 2 แบบนั้น คือ การที่ ซี-130 ยังมีการเปิดสายการผลิตอย่างต่อเนื่องมากว่าครึ่งศตวรรษ (ราวๆ 60 ปี) จากจำนวนยอดการผลิตและสั่งซื้อกว่า 2,500 ลำ จาก 63 ชาติ และมี 70 ประเทศใช้งาน ซี-130 ในรุ่นต่างๆ ที่หลากหลายรวมแล้วถึง 70 รุ่น มันเคยบินขึ้นและร่อนลงจอดในพื้นที่ที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาหิมาลัย หรือลงจอดเรือบรรทุกเครื่องบินที่ลอยลำอยู่กลางทะเล มันได้พิสูจน์ถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติการ ตามภารกิจที่ได้มอบหมายทุกที่ทุกเวลา
จุดเริ่มต้นของ เฮอร์คิวลิส จอมพลัง
หลังจากที่สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามเกาหลี กองทัพอากาศได้ตระหนักว่า ยังไม่มีเครื่องบินขนส่งทางทหารที่แท้จริง ที่สามารถทำภารกิจการขนส่งทางอากาศ ที่มีพิสัยเกินระดับกลาง และสามารถขึ้นลงในสนามบินที่มีทางวิ่งสั้นได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดลางในปี 1951 ล็อกฮีท แอร์คราฟ์ คอร์ปอเรชั่น ได้นำเสนอต้นแบบเครื่องบินลำเลียงแบบ วายซี-130 จำนวน 2 ลำ ในเดือน ก.ค.ปี 1951 และ ทำการบินครั้งแรกในเดือน ส.ค.ปี 1954 มันเป็นเครื่องบินลำเลียง 4 เครื่องยนต์ที่เป็นเครื่องใบพัดแบบเทอร์โบพร็อบ สามารถบินขึ้นได้โดยใช้ทางวิ่งเพียง 800 ฟุต และยังมีขีดความสามารถเหนือกว่าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุในความต้องการไว้อีกด้วย จนทำให้ชนะโครงการคัดเลือก และได้รับสัญญาสั่งซื้อในที่สุด
ล็อกฮีดย้ายสายการผลิตเครื่องบิน ซี-130 เอ มาอยู่ที่โรงงานใหม่ในเมืองมาริเอต้า รัฐจอร์เจีย ในเดือน เม.ย.ปี 1955 เครื่องบินซี-130 เอ ลำแรกออกจากสายการผลิตเป็นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เทอรืโบพร็อบ แอลลิสัน T56-A-IA ให้กำลังแรงมาที่ 3,750 แรงม้า มี 3 ใบพัดแบบอิเล็กทริกรีเวิร์ส ผลิตโดย บริษัท เคอร์ติส-ไรท์ แต่ลอตแรกๆ มีปัญหาในการเปลี่ยนระดับความสูงในการบิน จึงเปลี่ยนมาใช้ใบพัดแบบ 4 ใบ ของแฮมมิลตันแทน
...
ในส่วนของระวางบรรทุก หรือช่องเก็บสินค้าของ ซี-130 เฮอร์คิวลิส เป็นแบบปรับความดันได้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามภารกิจ ทั้งการใส่เก้าอี้นั่งเพื่อบรรทุกทหาร หรือเปลี่ยนเป็นที่แขวนเปลสนามสำหรับย้ายผู้บาดเจ็บ หรือพาเลทสำหรับตั้งอุปกรณ์ทางทหาร หรืออาวุธที่จะนำไปทิ้งในจุดที่ต้องการ ผ่านทางช่องเปิด-ปิดได้ด้านหลังเครื่อง นอกจากนี้ มันถูกดัดแปลงให้ติดตั้งฐานล้อแบบสกี เพื่อใช้บนเสบียงและสัมภาระสำหรับสถานีตรวจอากาศในทวีปแอนตาร์กติก และดัดแปลงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการใช้ลาดตระเวนทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
...
รุ่นของ ซี-130 เฮอร์คิวลิส นับตั้งแต่ต้นแบบจนถึงรุ่นล่าสุด ที่ออกจากสายการผลิต
ส.ค.ปี 1954 เที่ยวบินแรกของเครื่องต้นแบบ วายซี-130 เอ
ธ.ค.ปี 1956 ซี-130 เอ เข้าประจำการ (ผลิตมาทั้งสิ้น 231 ลำ)
พ.ย.ปี 1958 ซี-130 บี เข้าประจำการ (ผลิตมาทั้งสิ้น 230 ลำ)
มิ.ย.ปี 1961 ซี-130 อี เข้าประจำการ (ผลิตมาทั้งสิ้น 491 ลำ)
ก.พ.ปี 1965 แอล-100 (ซี-130 รุ่นพลเรือน) ผ่านการรับรองของเอฟเอเอ มี แอล-100 ถูกผลิตและส่งมอบให้ลูกค้า 115 ลำ มี.ค.1965 ซี-130 เอช เข้าประจำการ (ซี-130 เอช ผลิตมาทั้งสิ้น 1,202 ลำ ถือเป็นรุ่นที่ขายดีมากที่สุด) ต.ค.ปี 1968 แอล-100-20 ถูกส่งมอบให้ลูกค้าใช้งาน
ธ.ค.ปี 1970 แอล-100-30 ถูกส่งมอบให้ลูกค้าใช้งาน
ก.ย.ปี 1980 ซี-130 เอช-30 (C-130 H-30) เข้าประจำการ ซี-130 รุ่นนี้จะมีลำตัวยาวกว่า ซี-130 เอชรุ่นปกติ
เม.ย.ปี 1996 เที่ยวบินแรกของ ซี-130 เจ ซุเปอร์เฮอร์คิวลิส โดยบินขึ้นจากโรงงานในมาริเอต้า จอร์เจีย
มิ.ย.ปี 1998 ซี-130 เจ ซุเปอร์เฮอร์คิวลิส เข้าประจำการ (ขณะนี้ส่งมอบแล้วกว่า 300 ลำ และยังมียอดสั่งซื้อรอผลิตอีก) เป็น ซี-130 ที่ได้ปรับปรุงใช้เครื่องยนต์แบบใหม่ ใบพัด 8 กลีบ มีขีดความสามารถในการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ ระบบห้องนักบินแบบกลาสค็อคพิท และระบบการเดินอากาศที่ทันสมัย ปลอดภัยมากขึ้น
...
กองทัพอากาศไทย ก็มีเครื่องบิน ซี-130 เอช และ ซี-130 เอช-30 ใช้งานและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของคนไทย ไม่แพ้เครื่องบินรบ อย่าง เอฟ-5 และ เอฟ-16 ในหลายภารกิจมากมายที่คนไทยได้พบเห็นตามหน้าสื่อต่างๆ ถือได้ว่าเป็นดาราหน้ากล้องที่ออกสื่อมากที่สุดของกองทัพ ทั้งในราชการภาคสนาม การบินรับส่งบุคคลสำคัญ พาทหารไทยที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับบ้าน การปฏิบัติการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ และอพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งการเป็นร่มเงาแก่เด็กๆ ในงานวันเด็กแห่งชาติ โดย ซี-130 ของกองทัพอากาศไทยเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2523 ประจำการอยู่ที่กองบิน 6 ฝูงบิน 601 ดอนเมือง
ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทยได้มีการปรับปรุงซี-130 ในส่วนของระบบการเดินอากาศและการสื่อสารแบบใหม่ ไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ซี-130 ที่มีอยู่ มีความทันสมัย พร้อมในการปฏิบัติงาน และยืดอายุให้สามารถใช้งานได้อีกยาวนาน สมกับที่เป็นกำลังหลักในการขนส่งทางอากาศของกองทัพอากาศไทย.
ที่มา : LockheedMartin
: วิกิพิเดีย ซี-130