จากกรณีที่ 'ตั๊ก บงกช คงมาลัย' อดีตนางเอกหนังชื่อดัง โพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ ถึงเคล็ดลับการลดน้ำหนัก 13 วัน 13 กิโลกรัม โดยเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานต่ำ เพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจมีผลทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและเกิดผลกระทบตามมาในภายหลังนั้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายไปยังกูรูผู้เชี่ยวชาญเรื่องการลดน้ำหนัก ว่าเคล็ดลับดังกล่าวสามารถทำได้จริงหรือไม่และปลอดภัยแค่ไหน...
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ตามปกติร่างกายมนุษย์มีความต้องการพลังงานสำหรับผู้หญิง 1,600-1,800 กิโลแคลอรี่ ผู้ชาย 2,000-2,400 กิโลแคลอรี่ ถ้าหากจะลดน้ำหนักนั้น จะต้องควบคุมแคลอรี่ไม่ให้เกิน 1,200 กิโลแคลอรี่สำหรับผู้หญิง ส่วนผู้ชายไม่ให้เกิน 1,600 กิโลแคลอรี่
ทั้งนี้ หากการควบคุมแคลอรี่ โดยการกินอาหารจากกรณีดังกล่าว อาจารย์สง่า ยืนยันว่า สามารถลดน้ำหนักได้อย่างแน่นอน แต่หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ผลข้างเคียงที่ตามมา นั่นคือ YOYO Effect (การเหวี่ยงตัวขึ้นของน้ำหนักหลังจากทำการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว โดยการอดอาหารหรือลดการกินอาหารมากเกินไป) จะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก สำหรับผู้ที่ลดน้ำหนักแบบฮวบฮาบ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ไม่แนะนำให้ทำตาม เนื่องจากเป็นการลดผิดวิธีตามธรรมชาติ
...
“การกินแบบนั้นแล้วคุณจะทำได้ทุกวันไหม?” อาจารย์สง่า ตั้งคำถาม พร้อมอธิบายต่อว่า หลักการลดน้ำหนักที่ถูกต้องนั้น เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน ไม่ให้กลับมาอ้วนใหม่ และเป็นการลดน้ำหนักเพื่อที่จะทำให้มีสุขภาพดี ในการลดน้ำหนักนั้น จุดมุ่งหมายไม่ได้มองแค่น้ำหนักที่ลดลงและมีรูปร่างสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากคนที่ไม่เคยกินผักก็หันมากินผักมากขึ้น จากคนที่ชอบดื่มน้ำอัดลมก็หยุดดื่ม จากคนที่ขี้เกียจออกกำลังกายก็หันมาออกกำลังกาย จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย และนี่คือจุดหมายปลายทางของการลดน้ำหนักที่แท้จริง
อาจารย์สง่า กล่าวต่อว่า การลดน้ำหนักต้องอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ควรจะลดอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป อยากกินอะไรก็สามารถกินได้ แต่ต้องควบคุมแคลอรี่ด้วย รวมถึงผู้ที่จะลดน้ำหนักต้องมีความใจเย็น เนื่องจากความอ้วน ได้สะสมไขมันไว้ในร่างกายนานแล้ว การที่จะรีดไขมันออกภายใน 1-2 เดือนนั้น ทำไม่ได้
นอกจากนี้ ที่ปรึกษากรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำในการลดน้ำหนัก โดยยึดหลัก 3 อ. ดังนี้
1.อารมณ์ : การลดน้ำหนักต้องมีแรงจูงใจ เช่น อยากสวย กลัวเป็นโรค ลดเพื่อคนที่รัก แรงจูงใจนี้ต้องแรงมากจึงจะทำได้ โดยต้องคำนึงถึง 3 คำนี้ คือ ‘สกัด สะกด สะกิด’ เมื่อเจอของอร่อยก็ต้องสกัด และสะกดใจตัวเองไว้ เวลาขี้เกียจออกกำลังกายก็ต้องสะกิดตัวเองให้ไปออกกำลังกายให้ได้
2.อาหาร : ลดอาหารประเภทที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะของทอด ของมัน หันไปกินอาหารประเภทต้ม น้ำพริก หรือยำแทน รวมถึง หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวานจัด เพราะน้ำตาลเปลี่ยนเป็นไขมันได้ และลดแป้ง คือ ลดปริมาณข้าว หันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้รสไม่หวาน
3.ออกกำลังกาย : อย่างน้อยต้องทำให้ได้วันละประมาณ 4-5 นาที ด้วยการเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน
ขณะที่ ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้คำยืนยันทางด้านการแพทย์ว่า การจะลดน้ำหนักนั้น จะต้องทราบถึงประวัติแต่ละบุคคล เช่น อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก อาชีพ และกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน ซึ่งในการลดน้ำหนักที่ดีนั้น ไม่มีสูตรใดสามารถใช้กับทุกคนได้ จะต้องมีสูตรที่เหมาะสมกับแต่ละคน
จากสูตรดังกล่าว ศ.นพ.ประวิตร มองว่า สามารถทำให้น้ำหนักลดได้อย่างแน่นอน แต่เป็นสูตรที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการขาดน้ำตาล การเป็นลมหน้ามืด หรือสภาวะที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากพลังงานในร่างกายอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน หากบางคนเป็นโรคเบาหวานแล้วมาใช้สูตรนี้ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำตาล จนถึงขั้นช็อกได้ ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงและอันตรายมาก แม้ว่าเป็นคนปกติทั่วไปนั่งอยู่เฉยๆ อาจจะพอดำเนินชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ใช้แรงมากการกินแค่นี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
...
อย่างไรก็ตาม การจะลดน้ำหนักนั้น จะต้องค่อยๆ กินอาหารและค่อยๆ ปรับลดแคลอรี่ลง แต่อาหารควรจะมีความสมดุล มีผัก เนื้อ ไขมัน แป้ง แต่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสัดส่วนไป และระยะเวลาในการลดน้ำหนักไม่มีใครแนะนำแค่ 13 วัน ซึ่งอันตรายมาก ส่วนใหญ่จะค่อยๆ ลดเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวได้
“ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องรีบลดความอ้วน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ลดแล้วอยู่ยาวๆ ดีกว่าลดแบบฮวบฮาบใน 13 วัน ซึ่งมันอันตรายมากกว่า” ศ.นพ.ประวิตร ทิ้งท้ายได้อย่างน่าคิด.