กว่าจะเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักบินรบ F-16 ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกกระบวนการคัดกรองยากเย็นเข็ญใจเสียยิ่งกว่าสิ่งใด เรียกได้ว่า ใจต้องพร้อม กายต้องพร้อมควบคู่กัน วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รับหน้าที่เปิดเส้นทางท้าฝัน “นักบินรบแห่งทัพฟ้า” จะลำบากแสนเข็ญ ยากเย็นเพียงใด ต้องดู!

ในปีๆ หนึ่ง มีผู้ที่สามารถสอบผ่านได้บินเครื่องบินรบ ที่มีสมรรถภาพสูงที่สุดของกองทัพอากาศไทย ได้เพียง 3-4 คน รู้หรือไม่ เขาเหล่านั้นจะต้องเป็นเพียงคนธรรมดาๆ ไม่มีอีโก้ที่สูงจนเวอร์ และต้องเชื่ออุปกรณ์มากกว่าตัวเอง และที่สำคัญจะต้องเก่งให้ได้ภายในระยะเวลาที่จำกัดจำเขี่ยสุดประมาณ หากคุณมีคุณสมบัติเหล่านี้ คุณถึงจะได้ไปต่อ เป็น TOP GUN THAILAND…

ชายงาม - ชำแหละด่านอรหันต์สุดหิน กว่าจะเป็นนักบินขับไล่ ต้องผ่านด่านอะไรบ้าง ?
ด่านที่ 1 : จะต้องผ่านการตรวจร่างกาย เพื่อเช็กว่าเหมาะแก่การเป็นนักบินหรือไม่ วัดกันกระทั่งความยาวของแขน ขา เรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรกับการประกวดชายงาม เพราะถ้าบางคนขาสั้นก็ไม่สามารถเหยียบ rudder pedal (ตัวห้ามล้อเครื่องบิน) เพราะขาไม่ถึง หากแขนขายาวไปก็จะทำให้เก้งก้างไม่สะดวกต่อการทำการบิน ดังนั้น แขนขาของนักบินจะต้องไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป โดยอยู่ในระดับที่กำหนดไว้แล้ว เนื่องจากเครื่องบินถูกกำหนดออกมาให้สอดคล้องกับสัดส่วนมาตรฐานของมนุษย์

...

“ขณะที่ F16 คันบังคับจะอยู่ด้านขวา ซึ่งเป็นเครื่องบินไม่กี่แบบในโลกที่คันบังคับไม่ได้อยู่ตรงกลางเหมือนเครื่องบินทั่วไป เพราะฉะนั้น เวลาบินจะให้อารมณ์เหมือนขับรถสปอร์ต คือ นอนขับ ฉะนั้น เครื่องบินรบก็เช่นกัน คือ นอนบิน” ระวิน ถนอมสิงห์ นักบิน F-16 มือวางอันดับต้นๆ ของกองทัพอากาศไทยอธิบายถึงท่าทางการบิน

ด่านที่ 2 : คือการตรวจ Aptitude Test ซึ่งเป็นการทดสอบวุฒิภาวะ โดยข้อสอบมีจำนวนกว่า 500-1,000 ข้อ โดยภายในจำนวนกว่าหลายร้อยข้อ จะมีข้อเดิมๆ ซ้ำๆ กันประมาณ 3 ข้อ เพื่อทดสอบความมั่นคงในการตัดสินใจ เช่น ข้อที่ 7 ถามว่า คุณชอบสีอะไร ข้อที่ 259 ถามอีกครั้งว่า คุณชอบสีอะไร แต่ข้อที่ 700 ก็ถามคำเดิมซ้ำอีก แต่ถ้าภายใน 3 ข้อ ตอบไม่เหมือนกันเลย เท่ากับว่า คุณเริ่มแปลกแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งสำหรับคนที่คิดในลักษณะหรือแปลกออกไป จะถูกบันทึกชื่อเอาไว้ และหมอจิตวิทยาจะสอบถามตอนที่สอบสัมภาษณ์ว่าเหตุใดถึงตอบคำถามเช่นนี้

ทีเด็ดของการสอบข้อสอบ Aptitude Test ของนักเรียนการบิน คือ ที่นี่จะวัดว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักบินสามารถแยกประสาทได้หรือไม่ ยกตัวอย่างการสอบสัมภาษณ์ เช่น จะมีช่องให้ผู้สอบสัมภาษณ์เคาะตามช่อง ช่องที่ 1, 2, 3,..…เคาะพร้อมกับนับไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องใช้สมาธิในการเคาะให้ถูกทาง โดยระหว่างเดินจะมีผู้สัมภาษณ์คอยถามคำถามต่างๆ เช่น สั่งให้ท่อง A-Z พร้อมกับเดิน เพื่อให้เราตอบโดยแยกสมองในการเดินและตอบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นแบบทดสอบว่า คุณจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง

“เมื่อนักบินขึ้นทำการบิน นักบินต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ต้องแยกประสาทให้ได้ ซึ่งนักเรียนการบินบางคนที่สามารถตีกลองชุดได้ นักเรียนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีฝีมือการบินที่ดี เพราะสามารถแยกประสาทได้ยอดเยี่ยม” ผบ.กองบิน 1 โคราช ยกตัวอย่างความสามารถพิเศษของศิษย์ให้ฟัง

ด่านที่ 3 : ขั้นตอนนี้จะคัดเลือกจากคะแนนพฤติกรรมเมื่ออยู่ในโรงเรียน ซึ่งผู้ที่โดนตัดคะแนนความประพฤติ อาจเสี่ยงที่จะไม่สามารถเป็นนักบินได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว

ด่านที่ 4 : นักเรียนจะเข้าไปเรียนภาคทฤษฎีที่โรงเรียนการบิน ประมาณ 3 เดือน เมื่อเรียนจบหลักสูตรในภาควิชาการแล้ว ก็จะมีการสอบ โดยนำคะแนนมาเรียงลำดับสูง-ต่ำ จากนั้นจะเริ่มทำการบินกับเครื่องบินใบพัดขั้นต้น ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นการทดสอบว่า คุณจะได้มีโอกาสทำการบินกับเครื่องลักษณะใด โดยมีครูการบินคอยสังเกตบุคลิกลักษณะของนักเรียนแต่ละคนว่า เป็นคนที่มีนิสัยแบบใด บินเป็นอย่างไรบ้าง และเหมาะกับเครื่องประเภทไหน บางคนเป็นนักเรียนที่มีฝีมือบินได้ดีมาก แต่มุทะลุ ครูก็จะแนะนำว่า บินคนเดียวไม่ได้ ซึ่งการบินในด่านนี้ที่ถือว่าเป็นการบินระดับประถม หรือบินเพียงระดับมาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น

“ในเรื่องของการบินนั้น คนบินดีจะมีภาษีมากกว่าคนที่สามารถทำข้อสอบภาคทฤษฎีได้ดี บางคนบินได้ดีมาก แต่กลับอาเจียนบนเครื่อง ซึ่งคนประเภทนี้จะได้บินกับเครื่องบินประเภทที่ไม่ผาดแผลง หรือเปลี่ยนแปลงท่าทางการบินไม่มากนัก” ผู้บังคับการกองบิน 1 นครราชสีมา เล่าถึงบททดสอบสุดหิน

ต่อมาจะมีการเรียกนักบินมาพูดคุยกับคณะกรรมการว่า คุณอยากเลือกเครื่องบินประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 95% ของนักเรียนต้องการจะบินกับเครื่องบินรบขับไล่ เพราะทุกคนถูกปลูกฝังตั้งแต่เข้ามาเป็นนักเรียนนายเรืออากาศแล้วว่า คุณเข้ามาที่นี่เพื่ออยากเป็นนักบินรบ แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ที่ฝีมือบินดีบางคนที่เลือกเครื่องบินเกรดต่ำกว่าเครื่องบินรบ เพราะทำการบินได้ง่ายและสบายกว่า ซึ่งบางทีคณะกรรมการก็จะพูดคุยปรับทัศนคติว่า คนนั้นๆ เหมาะกับเครื่องบินเกรดดีๆ มากกว่า เพราะสามารถบินได้ดี มีข้อผิดพลาดน้อยนิดเท่านั้น แต่ถ้านักบินไม่ยอม บางครั้งคณะกรรมการก็หักคอโดยการเลือกให้เอง

บีบคั้น - สอบสัมภาษณ์แหวกแนว! interview เช็กความเก่งกาจ ตรวจสอบจิตใจ
นอกเหนือกจากการคัดเลือกในด้านวิชาการแล้ว จะมีการตรวจเช็กในเรื่องของจิตวิทยาการบิน ซึ่งจะต้องคัดเลือกคนที่ปกติที่สุด ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะบางครั้งคนที่ดีเกินไปหรือเก่งเกินไปโอกาสที่จะเป็นนักบินก็อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่คนที่เก่งมากๆ จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ฉะนั้น การจะเป็นนักบินขับไล่ หากมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงจะเกิดอันตราย

“อาชีพนี้จะถูกสอนให้เชื่อมั่นต่อเครื่องวัดประกอบการบิน เชื่อมั่นในลูกหมู่ เชื่อมั่นในหัวหน้าหมู่ ไม่ได้ให้เชื่อตัวเอง ต้องอยู่ในลิมิต ไม่สุดโต่งหรือต่ำจนเกินไป เพราะเวลาที่ออกไปบินกันหลายๆ คน นักบินจะต้องมีการช่วยเหลือกัน ไม่ใช่พยายามที่จะเป็นฮีโร่ หรือพระเอกแต่เพียงผู้เดียว” ผู้การเอก แห่งทัพฟ้าพูดอย่างโผงผาง

หากเป็นคนที่เก่งมากๆ ทำข้อสอบทฤษฎีได้ 100 เต็ม แต่สอบตกข้อสอบทัศนคติ คนประเภทนี้สามารถเป็นนักบินได้ แต่อาจจะได้บินกับเครื่องที่ต้องใช้นักบิน 2 คน เพราะเครื่องบินประเภทนี้ไม่สามารถบังคับได้ตามอำเภอใจแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งนักบินทั้งคู่จะสามารถแนะนำและห้ามปรามกันได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะเก่งทะลุฟ้า จะได้เป็นนักบิน ซึ่งอาชีพนักบิน โดยนิสัยลึกๆ ก็ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีอีโก้สูงอยู่แล้ว และที่สำคัญอาชีพนี้ไม่ใช่อาศัยความเก่งแล้วสอบ ก็จะสามารถเป็นนักบินได้เลย แต่ทุกคนที่มายืนถึงจุดนี้ได้ผ่านคัดกรองมาแล้วหลายด่านหลายชั้น ชนิดที่เรียกว่าละเอียดยิบอย่างที่สุด

จุดสุดยอด - รู้หรือไม่ 1 ปี มีคนสอบผ่านขับเหยี่ยวเวหา ได้แค่ 3-4 คน
แต่เหนืออื่นใด ระดับความยากของการที่จะเข้ามาเป็นนักบินเอฟ 16 ก็คือ ระยะเวลาที่กองทัพมีให้ ซึ่งจะแตกต่างจากนักบินพลเรือน ที่เรียน 100 คน จบเกือบจะครบทุกคน น้อยมากที่จะถูกให้ออกไป แต่สำหรับกองทัพ เรียน 100 คน อาจจะจบสัก 60 คน เพราะเรามีงบประมาณและระยะเวลาจำกัด ในการผลิตคน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกำหนดว่า ภายใน 10 เที่ยวบิน 6 เที่ยวบิน ผู้ฝึกจะต้องถูกปล่อยเดี่ยวไปบินคนเดียวได้ 6 เที่ยวบิน จะแค่เพียงเกือบได้ก็ถือว่าไม่ได้ ไม่ได้ก็แปลว่าตกทันที บางคนอีกแค่เที่ยวบินเดียวก็สามารถทำได้แล้ว ก็ถือว่าไม่ผ่าน เพราะไม่มีการให้โอกาสสำหรับนักบินทหาร เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นักเรียนนายเรืออากาศเฉลี่ยรุ่นหนึ่งจบมา 40-50 นาย เราก็อยากได้ทั้งหมดแต่ในความเป็นจริงแล้ว ปีๆ หนึ่งจะมีผู้ที่สามารถถูกฝึกบินให้สามารถเป็นนักบินเอฟ 16 ได้เพียง 3-4 คนเท่านั้น! โดยทั้ง 3-4 นายนี้ คือผู้ที่สามารถทำคะแนนการฝึกของกองทัพอากาศได้สูงสุดเท่านั้น.

*หมายเหตุ : จุดสุดยอด ในที่นี้หมายถึง ความเหนือสุดกว่าสิ่งใดๆ

อ่านเพิ่มเติม