ชาวน่านเป็นห่วง มหัศจรรย์แห่งลำน้ำมาง ปรากฏการณ์‘ปลากอง’ที่พบเพียงแหงเดียวที่มี‘ปลาปีกแดง’ มาผสมพันธุ์วางไข่ กำลังเกิดปัญหาจากการขุดลอกลำน้ำ ทำให้จุดทำรังวางไข่เต็มไปด้วยโคลน แม่ปลาต้องใช้แรงในการตีแปลงมาก และไข่ไม่ถูกผสม...   


จากความมหัศจรรย์ ของลำน้ำมาง ลำน้ำว้า และลำนำสาขาของแม่น้ำน่าน ใน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน คือ ‘ปลาปีกแดง’ ได้มาออหรือรวมตัวกันเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ ที่เรียกกันว่า ปรากฏการณ์‘ปลากอง’ ซึ่งหนึ่งปีมีครั้งเดียว ในช่วงวันขึ้น14คำ และ15ค่ำของเดือนมีนาคม จึงเป็นสิ่งหาดูได้ยาก และมีเพียงแห่งเดียวที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เนื่องจากมีระบบนิเวศเหมาะสม ลำธารน้ำเป็นลำธารธรรมชาติ ที่ยังไม่ถูกรบกวน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายางานเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า ขณะนี้ ได้เกิดความเป็นห่วงของชาวน่าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในอ.บ่อเกลือ รวมถึงนักอนุรักษ์ทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมามีโครงการขุดลอกลำน้ำมาง ซึ่งทำให้สภาพทางกายภาพของลำน้ำเปลี่ยนแปลง เกาะแก่งบางแห่งหายไป และมีโคลนจากการขุดลอกไหลไปตามน้ำ ส่งผลกระทบต่อการวางไข่ของปลาปีกแดง โดยเฉพาะในปีนี้ เห็นได้ชัดเจนมาก

...

โดย นายทวน อุปจักร เจ้าของบ่อเกลือวิว รีสอร์ต อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กล่าวว่า หลังจากทางกรมทรัพยากรน้ำภาค9 จัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำลำน้ำมาง ช่วง 2 บ้านบ่อหลวง หมู่ 1 ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ดำเนินขุดลอกลำน้ำมาง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนได้คัดค้าน ขณะนี้ได้สร้างผลกระทบต่อการวางไข่ของปลาปีกแดง เป็นอย่างมาก

ดร.ทวน กล่าวด้วยว่า โคลนที่เกิดจากการขุดลอก ได้ไปพอกไข่ของปลา ทำให้น้ำเชื้อที่ปลาตัวผู้พ่นผสมลงไปไม่สามารถก่อให้เกิดการปฏิสนธิได้ เมื่อไม่มีการผสม ไข่ปลาก็ลอยฟูขึ้น นอกจากนี้ ลำธารในลายๆจุด ก็มีแต่โคลนตมจากการขุดลอกลำน้ำมาง จนทำให้ปีนี้จุดทำรังและวางไข่ของปลา แทบไม่มีเลย ซึ่งกว่าจะหมดช่วงเวลาของการวางไข่ คงทำลายปลาแม่พันธุ์ไปเยอะ เพราะสังเกตดู แม่ปลาใช้แรงในการตีแปลงทำรังมากกว่าปกติ

"ตัวเมียจะขึ้นมาตีแปลงทำรัง คือ ใช้ครีบหางปัดให้พื้นเรียบสะอาดแล้ววางไข่ไว้พร้อมปล่อยกลิ่นเอาไว้ พอตัวผู้ได้กลิ่นก็จะพ่นน้ำเชื้อลงไปเพื่อผสมพันธุ์ แต่ก่อนที่ตัวเมียจะวางไข่ ตัวผู้จะมากองรวมกันจำนวนมากเพื่อแย่งกันเป็นผู้ผสมพันธุ์ และเกี้ยวพาราสีตัวเมียเป็นการกระตุ้น จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปลากอง"ดร.ทวน กล่าว ก่อนจะให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า หลังจากปลาฟักตัวจะต้องอาศัยโขดหิน และวัชพืชริมน้ำเพื่ออนุบาลตัวเอง เมื่อถึงช่วงน้ำหลากหากปลายังไม่โตพอ และไม่มีที่หลบกระแสน้ำ เปอร์เซ็นต์ที่ปลาจะรอดมีน้อยมาก.