เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสถานได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นราชบัณฑิตยสภา ไปเรียบร้อยแล้วตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 ที่มีผลใช้บังคับในวันนั้น
ที่จริงชื่อ ราชบัณฑิตยสภา นั้นเป็นชื่อดั้งเดิมตั้งแต่แรกตั้งขึ้นมา แต่มาสมัยหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงเป็น ราชบัณฑิตยสถาน มายาวนานจนผู้คนเริ่มคุ้นชิน
หน้าที่ของ ราชบัณฑิตยสภา หรือ ราชบัณฑิตยสถาน นั้นมีหลากหลายพอสมควรแต่ที่รับรู้รับทราบกันโดยทั่วไปคือการจัดทําพจนานุกรมที่เรียกว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับล่าสุดคือ พ.ศ.2542 เป็นเวลา 16 ปีมาแล้ว ซึ่งต่อไปถ้ามีการปรับปรุงใหม่ก็ต้องเรียกว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา
มีการชี้แจงแสดงเหตุผลในการประกาศใช้ พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 คือ โดยที่เป็นการสมควรเปลี่ยนชื่อ “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็น “ราชบัณฑิตยสภา” อันเป็นชื่อเดิมที่ใช้เรียกสืบมานับแต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พุทธศักราช 2469 เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ ในโอกาส 120 ปี พระบรมราชสมภพ รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาและการบริหารงานวิชาการของราชบัณฑิตยสภาให้แพร่หลายแก่วงวิชาการของประเทศและประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ฯลฯ
พ.ร.บ.ใหม่กำหนดให้ ราชบัณฑิตยสภา เป็นสถานที่บํารุงสรรพวิชา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน
และให้ สํานักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
...
หน้าที่สำคัญนอกจากการดําเนินงานเกี่ยวกับการจัดทําพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งการจัดทําพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยและงานวิชาการอื่นๆ แล้วก็คือ
กําหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทย มิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น
ให้บริการทางวิชาการแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของเอกชน และประชาชน ตลอดจนให้ความเห็น คําแนะนํา และคําปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ฯลฯ
ราชบัณฑิตยสภา ในปัจจุบันจึงมี ศาสตราจารย์พิเศษสันทัด โรจนสุนทร เป็น นายกราชบัณฑิตยสภา ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็น อุปนายกราชบัณฑิตยสภา คนที่ 1 ศาสตราจารย์อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ เป็น อุปนายกราชบัณฑิตยสภา คนที่ 2 และมี นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็น เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา อันเป็นตำแหน่งฝ่ายราชการประจำ
ทั้งหมดนี้อยู่ในตำแหน่งเดิมมาตั้งแต่ครั้งเป็นราชบัณฑิตยสถานโดยได้อยู่ต่อไปจนครบวาระ.
“ซี.12”