เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง กรณีการโค่นต้นมะหาด อายุกว่าร้อยปี เพื่อนำมาให้ศิลปินชาวญี่ปุ่น มารังสรรค์ผลงานประติมากรรม แกะสลักเป็นเสาจำนวน 5 ท่อน และจะนำไปจัดแสดงที่หอศิลป์อันดามัน จ.กระบี่ จึงทำให้ผู้คนในสังคมแสดงความคิดเห็นถกเถียงแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าทำลายธรรมชาติ บ้างก็ว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นของส่วนบุคคลสามารถทำได้ ซึ่งข้อสรุประหว่างงานศิลปะและธรรมชาติจะเป็นอย่างไร ลองมาฟังความจากปากนักอนุรักษ์กันบ้าง
สำหรับสกู๊ปตอนนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายโทรศัพท์ด่วนไปยังกูรูเรื่องป่าไม้ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องของต้นไม้ว่า สามารถทำคุณประโยชน์อย่างไรได้บ้าง และคุ้มค่าแค่ไหนเมื่อต้องแลกต้นไม้อายุกว่าร้อยปีกับงานศิลปะสุดมหัศจรรย์ !!!
ทำความรู้จัก 'มะหาด' คุณประโยชน์นานัปการ
นายธิติ วิสารัตน์ รักษาการในตำแหน่ง ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ให้ข้อมูลต้นมะหาดว่า เป็นไม้กระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักขึ้นอยู่ในป่าดงดิบทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมะหาดถือเป็นไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะใหญ่โต คงทน อีกทั้งยังมีอายุยืนเป็นร้อยปี
สำหรับประโยชน์ของต้นมะหาดมีมากมาย นอกจากจะทำให้เกิดความร่มรื่น ให้ร่มเงา ป้องกันการพังทลายของหน้าดินแล้ว เปลือกของต้นมะหาดยังนำไปทำเชือกได้ เนื้อไม้นำไปทำหมอนรองรางรถไฟ หรือเสา เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง ส่วนแก่น นำมาทำเป็นยาฆ่าพยาธิได้
...
มะหาดร้อยปี ใกล้สิ้นอายุไขแล้วจริงหรือ?
นายธิติ วิเคราะห์ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า หากดูจากลักษณะภายนอกของต้นไม้ จะดูจากใบ ถ้าใบร่วง กิ่งแห้ง ก็แสดงว่าใกล้ตายแล้ว ซึ่งไม้มะหาดเหมือนไม้ผลัดใบเปลี่ยนใบใหม่ได้ และถ้าผลัดใบแล้วใบใหม่ไม่ขึ้นแสดงว่าใกล้ตาย ส่วนลักษณะของเปลือกจะแตกเป็นร่องลึก
“เมื่อพิจารณาคร่าวๆ จากรูปภาพ ผมคาดว่าต้นมะหาดต้นนี้ น่าจะยืนต้นอยู่ได้อีกเป็น 10 กว่าปี หรืออาจจะมากกว่า 30 ปี จากรูปยังถือว่าใบเขียวเข้ม กิ่งก้านน่าจะมีความแข็งแรง ส่วนลำต้นเรียบสวยงาม ไม่เห็นร่องรอยผิดปกติจากการทำลายของโรคและแมลง นอกจากนี้ รอยแผลที่โคนลำต้นจากรถแบ็กโฮก็ดูยังสดมีชีวิตดี เห็นความใหญ่โตของต้นมะหาดต้นนี้แล้ว ผมรู้เสียดายมากๆ ใหญ่ขนาดนี้ หาได้ไม่ง่ายในแผ่นดินนี้” ทรรศนะจากรักษาการ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้
ต้นไม้อายุกว่าร้อยปีในประเทศไทย หาไม่ง่าย !
รักษาการ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ระบุว่า ในปัจจุบันนี้ต้นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นร้อยเซนติเมตรไม่ได้หากันง่ายๆ ซึ่งการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นพันธุกรรม เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อเป็นเรื่องที่ดี คิดว่าเป็นประวัติศาสตร์
ขณะที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสได้พูดคุย กับนักพฤกษศาสตร์ชื่อดังของเมืองไทยท่านหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลการอนุรักษ์ ให้ฟังว่า ไม่สามารถรู้ได้ว่าประเทศมีต้นไม้อายุเกินร้อยปีมากน้อยแค่ไหน แต่ในบางพื้นที่ก็ยังมีการอนุรักษ์ไว้ เช่น ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ยังมีต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ปลูกไว้ตั้งแต่สมัย ร.5 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นต้นไม้อายุหลายร้อยปี แม้ว่า "มะหาด" จะไม่ใช่ไม้ใกล้สูญพันธุ์ แต่ต้นไม้ก็ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิต มีคุณค่าทางจิตใจ
...
การจะตัดต้นไม้ต้องขออนุญาตหรือไม่ ?
นายธิติ อธิบายเรื่องดังกล่าวว่า ต้นมะหาดไม่ได้อยู่ในรายชื่อไม้ควบคุม ไม่ได้เป็นไม้หวงห้าม ฉะนั้น ไม่ต้องขออนุญาต ส่วนกรณี นายสุวรรณ มุคุระ ได้มอบต้นมะหาดที่อยู่ในโฉนดที่ดินของตนเอง ให้แก่เทศบาลเมืองกระบี่ โดยนายกเทศบาลเมืองกระบี่ได้มอบเงินเป็นสินน้ำใจให้แก่นายสุวรรณ จำนวน 100,000 บาทด้วยนั้น มองว่า ต้นไม้อยู่ในที่ดินพื้นนี้เป็นส่วนที่มีเอกสารสิทธิ เจ้าของมีอำนาจในการจัดการ แต่การตรวจเคลื่อนย้ายจะต้องไปแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ก่อน
ด้านนักพฤกษศาสตร์ชื่อดัง มองว่า ถึงแม้ต้นไม้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีเจ้าของ และไม่ใช่ไม้หวงห้าม เจ้าของจะตัด หรือจะทำอะไรมันก็เป็นสิทธิ์ อย่างไรก็ดี เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับ "สามัญสำนึก" ที่มนุษย์ต้องดูแลป่าไม้ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่การทำในลักษณะดังกล่าว ดูมักง่ายไปหน่อย
...
เมื่อต้นไม้แปรสภาพเป็นงานศิลปะ จะยั่งยืนแค่ไหน ?
นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หญิงเหล็กแห่งวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย ร่วมไขคำตอบนี้ โดยเชื่อว่า ต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรือไม่ใช่งานศิลปะ เมื่อนำไม้มาใช้งานแล้ว อาจจะเป็นฝาบ้าน หรือไม้กระดานก็ย่อมมีอายุการใช้งานประมาณหนึ่ง โดยหากเป็นไม้เนื้อแข็ง ชิ้นงานอาจจะอยู่ได้นานเกิน 50 ปี แต่ถ้าเป็นไม้เนื้ออ่อนและตั้งไว้กลางแดดกลางฝน ก็ทำให้อายุการใช้งานไม่ยาวนาน ระยะเวลา 30 ปี อาจจะผุกร่อนได้
ด้านรักษาการ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ให้ความรู้ว่า โดยปกติแล้วไม้แทบทุกชนิด มีโอกาสโดนปลวกทำลายได้หมด แต่หากเป็นไม้มะหาด จะยากและใช้เวลานานกว่า เพราะมะหาดเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่เมื่อนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ หรืองานศิลปะ จะต้องมีการอาบน้ำยากันปลวก เพื่อยืดอายุการใช้งานให้คงอยู่ได้ แต่หากไม่ได้อาบน้ำยา ไม้มะหาดก็สามารถมีอายุอยู่ได้เป็น 10 ปี ส่วนความทนทานเมื่อนำมาตากแดดนั้น งานวิจัยยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะมีอายุการใช้งานขนาดไหน
“ผมคิดว่าเมื่อนำมาตัดเป็นท่อนๆ เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะน่าจะอยู่ได้นานเป็น 10 ปี แต่ถ้าไม่ตัดและไม่มีคนมารบกวน ให้ต้นไม้อยู่ตามธรรมชาติ น่าจะคงอยู่ได้นานกว่านั้น” นายธิติ กล่าว
...
คุ้มค่าหรือไม่? ตัดต้นไม้อายุกว่าร้อยปีมาสร้างงานศิลปะ
หญิงเหล็กแห่งวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ต้นไม้มีคุณค่า งานศิลปะก็มีคุณค่า งานศิลปะสามารถรังสรรค์ผลงานออกมาได้ แต่ต้นไม้เป็นธรรมชาติสร้างขึ้นมาเองไม่ได้ ฉะนั้น ต้องช่วยกันดูแลรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงคิดว่าไม่คุ้มที่จะตัดต้นไม้มาสร้างเป็นงานศิลปะ”
เช่นเดียวกันกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้ ที่มองว่า ไม่คุ้มค่า “ต้นไม้มีอายุมากแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ถ้ายังคงต้นไม้ไว้เหมือนเดิม น่าจะมีประโยชน์มากกว่างานศิลปะ จะทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมบูรณ์ ดำรงคงอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เป็นที่พักพิงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้ หรือหากต้องการโชว์ให้คนมาดูเยอะๆ เป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ก็กั้นที่ไว้ให้อยู่ที่เดิม แล้วเปิดให้คนเข้าชมใต้ต้นไม้ อายุร้อยกว่าปีจะดีกว่า”
ขณะที่นักพฤกษศาสตร์ชื่อดัง แสดงทรรศนะไปในทางเดียวกันกับทั้งสองท่าน “คิดว่าต้นไม้กว่าจะโตมาได้ถึงขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรก็ตาม เขาให้ความร่มเย็น ผลิตออกซิเจน ให้สิ่งมีชีวิตให้สูดอากาศหายใจ คิดว่าน่าจะรักษาเอาไว้ อันนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทย อาจจะเป็นเพราะว่า ชินตากับเรื่องของการมีต้นไม้ที่ปลูกไม่นานเดี๋ยวก็ขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่ ต้นมะหาดเป็นไม้ป่า โตช้า ไม่ใช่มะม่วงที่ปลูกปีสองปีก็ได้ มันอยู่ที่จิตสำนึกของคน”
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงทรรศนะของนักอนุรักษ์ ที่เห็นว่า "ไม่คุ้ม" ที่จะตัดต้นไม้อายุกว่าร้อยปีมาสร้างงานศิลปะ แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไร...
อ่านเพิ่ม