"ศิลปินแห่งชาติโค่นต้นไม้ใหญ่ สร้างงานศิลปะ" อีกหนึ่งกระแสดราม่าที่กำลังกระพือพัดไปทั่วทุ่งทั่วท่า พร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่า การนำต้นไม้อายุร้อยปีมาทำงานประติมากรรมเช่นนี้ มีประโยชน์อย่างไร? หากปล่อยให้ต้นไม้ยืนต้นอยู่ต่อไป จะสร้างคุณูปการแก่ป่ามากกว่านี้หรือไม่? หรือแม้แต่คำถามชวนขบขันที่ว่า ปลวกกินไม้ยังสวยกว่าอีกไหม? แล้วคุณล่ะ มีความเห็นถึงเรื่องนี้อย่างไร?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาคุณเดินทางไปยลยินความงดงามภายใต้งานศิลป์ เสพสุนทรียรสที่คุณไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยหัวใจ พร้อมดื่มด่ำ เปรมอาร์ตไปกับ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ที่จะไขโจทย์ทุกข้อที่คนไทยกำลังข้องใจเกี่ยวกับประติมากรรมต้นไม้มีรู...

...

ตอบโจทย์ที่คุณอยากรู้! งานศิลป์โค่นมะหาดร้อยปี คุณค่าอยู่หนใด ?
อ.เฉลิมชัย ศิลปินผู้มีชื่อเสียง เริ่มเรื่องจากการเล่าถึงศิลปะของคนไทย ว่า โดยปกติแล้วนั้น คนไทยไม่มีพื้นฐานที่จะเข้าใจในเนื้องานศิลปะได้ แต่จะเข้าใจเพียงว่า งานศิลปะที่มีคุณค่า อันจะบ่งบอกว่าศิลปินผู้นั้นมีฝีมือสูง ต้องเป็นงานศิลปะที่มีความสวยสดงดงาม ต้องวาดเขียน หรือแกะสลักไม้ออกมาด้วยความประณีต ฉะนั้น เมื่อคนไทยมาเจองานศิลปะของ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ แล้ว สมองสั่งการของคนไทยจะคิดไปในทันทีว่า

“งานแบบนี้ ลูกกูก็ทำได้ เตี่ยกูก็ทำได้ หมาก็ทำได้ เอาต้นไม้สวยๆ มาตัดเป็นท่อน กูว่าต้นไม้ก็อยู่ของมันดีๆ ยังสวยกว่าเอามาตัดอะไรแบนี้ นี่มันทำลายธรรมชาติชัดๆ แต่ถ้าพี่กมล เอาต้นไม้ที่ว่านี้ มาตัดเป็นเรือสุพรรณหงส์ พญาครุฑ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นงานไทย เชื่อสิ ไม่มีใครเขาด่า จะมีก็แต่ชื่นชม และไม่มีใครเสียดายต้นไม้ ส่วนผลงานของพี่กมลนั้น ไม่ใช่ไม่สวย แต่นี่เป็นความสวยแบบ abstract (นามธรรม) สวยที่รูปอารมณ์ ไม่ใช่สวยที่รูปร่าง” อาจารย์เฉลิมชัย ชี้แจงโผงผางตามสไตล์

ทว่า งานศิลปะของ ดร.กมล นั้น เป็นงานศิลป์ประเภทจัดวาง (Installation art) ไม่เน้นรูปร่าง รูปทรง แต่เน้นที่ความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งงานศิลปะประเภทนี้จะต้องนำผลงานไปวางไว้ในบริเวณที่มีพื้นที่กว้างๆ ส่วนผลงานชิ้นที่ ดร.กมล นำต้นมะหาดมาทำเป็นงานประติมากรรมกลางแจ้งนั้น เมื่อนำไปจัดแสดงไว้ที่ชายหาด จะแสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของศิลปะ โดยเฉพาะในยามที่พระอาทิตย์อัสดง แสงและเงาที่ทอดผ่านช่องต่างๆ ของไม้ จะทะลุลงมาบนผืนทราย จนทำให้เกิดมิติ และความงดงามอย่างที่สุด


ต่อมรสนิยมคนไทยต่ำ จึงไม่เข้าใจงานอาร์ตไม้มีรู (จริงหรือ?)
กระนั้น ศิลปะชิ้นนี้จึงเป็นศิลปะแบบนามธรรม มิหนำซ้ำยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีคนที่รู้ซึ้งถึงศิลปะสากล ซึ่งเป็นศิลปะประเภทที่คนไทยไม่เข้าใจ เพราะคนไทยรู้จักแต่เพียงศิลปะที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น

“งานศิลปะชิ้นนี้ ถูกจัดแสดงไว้ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีรสนิยมในการเสพงานศิลปะเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้น งานชิ้นนี้เขาไม่ได้สร้างให้คนไทยดู แต่เขาสร้างเพื่อให้ฝรั่งที่เข้าใจเป็นผู้ดู ส่วนคนไทยได้ดูบ่อยๆ เข้า ก็พัฒนาเอง ซึ่งรสนิยมคนไทยห่างขั้นกับรสนิยมฝรั่งถึง 50 ขั้น หรือล้าหลังกว่าเขา ถึง 30-50 ปี เพราะคนไทยเราเข้าใจ เพียงแค่วาดดอกบัวสวยๆ แกะสลักพระสวยๆ วาดคนสวยๆ แต่จะไม่เข้าใจศิลปะแบบนามธรรม ซึ่งเป็นศิลปะที่ถือได้ว่า เป็นหน้าเป็นตาของประเทศชาติ และเป็นศิลปะที่ทำให้ฝรั่งมองประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว” อ.เฉลิมชัย ศิลปินแห่งชาติ สะท้อนทรรศนะรสนิยมคนไทย

อ.เฉลิมชัย บอกเล่าอีกว่า การพัฒนาของประเทศชาตินั้น ไม่ใช่พัฒนาเพียงแค่ถนนหนทาง ระบบขนส่ง เศรษฐกิจ แต่การพัฒนาที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติ หรือการพัฒนาชนชาติที่กระจอกจนๆ อย่างเรา ก็คือ การพัฒนาทางศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรทำอย่างมาก เพื่อให้ต่างประเทศได้เห็นว่า ประเทศเล็กๆ และยากจนอย่างเรา ก็มีศิลปินที่มีคุณค่าและมีความรู้ทางศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง

...


สมควรแล้วหรือ ? โค่นต้นไม้ ทำประติมากรรมประดับหอศิลป์อันดามัน
“ถ้าต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ในเขตสงวนที่มีคุณค่ามากๆ อยู่ในป่าลึกๆ แล้วพี่กมลกับพวกๆ เสือกไปลักตัดต้นไม้มาทำงานศิลปะ อย่างนี้พี่กมลเลว เพราะไม่ว่าจะเอาไม้มาสร้างงานศิลปะที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ระดับโลกขนาดไหนก็ไม่ควร และเป็นสิ่งที่ศิลปินไม่ควรคิดทำเช่นนั้น แต่เมื่อเจ้าของเขายินดีจัดการตัด หาไม้มาให้แล้ว ก็สมควรที่จะทำอย่างยิ่ง ซึ่งการสร้างงานศิลปะนั้น จะทำให้คนที่เข้าใจ ได้อิ่มเอิบ พึงพอใจ เห็นความงามแล้วเป็นความสุขใจ เพราะเอาไม้มาสร้างงานศิลปะให้คนได้ช่ืนชม ยังจะดีเสียกว่าเอาไม้มาสร้างบ้าน” เฉลิมชัย ศิลปินแห่งชาติ เชื่อเช่นนั้น

...

หากเจ้าของต้นไม้เขาสมยอม ภาครัฐสมยอม ก็ควรแล้วที่จะนำต้นไม้ต้นหนึ่งมาสร้างงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ให้ต่างชาติได้ชื่นชมประเทศชาติของเรา “สำหรับผม ผมว่างานศิลปะชิ้นนี้ของพี่กมล คุ้มค่า ส่วนพี่น้องประชาชนที่กำลังด่าพี่กมลอยู่ เขายังไม่เข้าใจในงานศิลปะ และก็จะถามเป็นเสียงเดียวกันว่า ไอเ_ี้ย ตัดหาพ่อมึงหรอ หมายังทำได้เลย ซึ่งผมเข้าใจในงานของพี่กมลดี และถ้างานครั้งนี้เอาวัสดุที่เป็นหิน อลูมิเนียม หรือเหล็กมาทำ ก็คงจะไม่สวย ไม่เหมาะ ไม่เข้ากับสิ่งที่พี่กมลคิดเลย แต่พอเอาไม้มาทำ มันจะได้ฟีลลิ่งและเข้ากับบรรยากาศงดงามของกระบี่มากๆ ส่วนประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และหวงแหนต้นไม้นั้น ก็เป็นสิ่งดี ซึ่งผมเข้าใจ” อ.เฉลิมชัย เข้าใจชาวเน็ตผู้วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างดี

“คุณอย่าเพิ่งคิดว่า งานศิลปะชิ้นนี้ของพี่กมลเจาะง่าย เอาหมู เอาหมา เอาช่างที่ไหนมาเจาะก็ได้ เพราะแท้จริงแล้ว งานศิลปะชิ้นนี้มีความสูงต่ำของต้นไม้ มีจังหวะและองค์ประกอบของการวางต้นไม้ ท่อนไหนอยู่หน้า ท่อนไหนอยู่หลัง ใช้เวลาวางแผน วาดเค้าโครง คิด วัดขนาด จัดองค์ประกอบ เพื่อให้แสงส่องผ่านอย่างสวยงาม" ศิลปินผู้มากประสบการณ์ เจ้าของผลงานสร้างสรรค์วัดร่องขุ่น อธิบายถึงกระบวนการ

...


ไม้มะหาดเจาะรู ว่าที่แลนด์มาร์กกระบี่ ประติมากรรมเช่นนี้ สวยหรือไม่ ?
“ศิลปะมันต้องเรียนรู้และเข้าใจ อย่าไปบอกว่ามันไม่สวย มันเป็นความสวยที่ประชาชนคนไทยมองไม่เห็นความสวยต่างหาก ลองเอาศิลปิน หรือผู้ที่ชื่นชมงานศิลปะมาทั้งโลก เขาจะบอกว่างานศิลปะชิ้นนี้มีความงามและมีความคิด ลองคิดดูว่าถ้าศิลปะชิ้นนี้จัดตั้งเสร็จแล้ว และเราลองไปดูกัน เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า หรือพระอาทิตย์ตก แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบ การเคลื่อนไหวของเงาจะทำให้เกิดความงดงาม ถ้างานศิลปะชิ้นนี้ไปตั้งไว้และไม่มีฝรั่งสักคนมาถ่ายรูป นั่นแหละคือความเ_ี้ยสุดแล้ว แต่เชื่อว่ายังไงก็มีฝรั่งสนใจไปถ่ายรูปแน่นอน”

“งานศิลปะของโลกมีพัฒนาการอันก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งไม่ต่างอะไรจากแฟชั่น และงานศิลปะของพี่กมลก็เป็นเช่นนั้น พี่กมล คือ ตัวนำแฟชั่นที่ทำให้ประเทศของเรามีศิลปะที่หลากหลายมากขึ้น” เฉลิมชัย ศิลปินรุ่นน้องทิ้งท้ายถึงตัวตนศิลปินรุ่นพี่

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน

ร่วมหาคำตอบกับโจย์ร้อนที่ว่า ต้นมะหาดยืนต้น VS ต้นมะหาดเรืองศิลป์ สิ่งใดมีคุณค่ากว่ากัน ติดตามต่อได้ในวันพรุ่งนี้...