ช่องอาซาฮี ทีวีญี่ปุ่น ชี้ "คิตตี้ รีสอร์ท" จ.เลย ละเมิดลิขสิทธิ์ใช้รูปแบบตัวการ์ตูนดัง เลียนแบบ KITTY THEME PARK เมืองจีน ด้าน ซานริโอ้ ยันไม่เคยได้รับการขอลิขสิทธิ์ เร่งดำเนินการทางกฎหมาย...

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประเด็นที่ คิตตี้รีสอร์ท ในจังหวัดเลย กำลังถูกสื่อในประเทศญี่ปุ่น วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการละเมิดลิขสิทธิ์ และถูกกล่าวหาว่าไปเลียนแบบ KITTY THEME PARK ที่เพิ่งเปิดตัวไปในประเทศจีน

สำนักข่าวอาซาฮีในญี่ปุ่นจึงได้ทำการส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ อ.ภูเรือ จ.เลย หลังทราบมาว่า มีการเปิดคิตตี้ รีสอร์ท ที่ประเทศไทย จึงมาดูให้เห็นกับตาว่าคิตตี้รีสอร์ทที่ลือกันนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจากการสำรวจภายในรีสอร์ทก็พบทั้งป้าย KITTY RESORT รูปปั้น รถยนต์ เต็นท์ที่พัก เตียงนอน ห้องอาบน้ำ ไฟ ที่มีรูปคิตตี้อยู่อย่างชัดเจน และที่สำคัญคิตตี้บางตัวก็ดูไม่เหมือนคิตตี้ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์

ขณะที่ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอาซาฮี อีกรายที่รายงานอยู่ภายใน KITTY THEME PARK สวนสนุกที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ของประเทศจีน ได้รายงานย้ำว่า ที่นี่ได้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องและยกคำสัมภาษณ์เจ้าของ THEME PARK แห่งนี้ มาอธิบายว่า สาเหตุที่สร้างสวนแห่งนี้แบบถูกลิขสิทธิ์ถูกต้องทุกอย่าง ก็เพราะรู้ว่าแฟนๆ ของคิตตี้จะดีใจและมีความสุขมากกว่าถ้าได้ชื่นชมกับของจริง

นายเบาหวิว มณีแจ่ม เจ้าของ คิตตี้ รีสอร์ท ภูเรือ เปิดเผยว่า คิตตี้ที่อยู่ภายในรีสอร์ทตั้งใจเอามาไว้เพื่อโชว์เฉยๆ ไม่ได้นำเป็น เทรดมาร์ก เป็นสัญลักษณ์การค้าเชิงธุรกิจ ผู้คนเกิดความเข้าใจผิดกันเอง แต่ตอนนี้ก็กำลังทำเรื่องขอลิขสิทธิ์อยู่

จากนั้นสำนักข่าวอาซาฮีจึงได้สอบถามไปยังซานริโอ บริษัทซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบและให้ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เราไม่อนุญาตให้รีสอร์ทแห่งนี้ใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของซานริโอทั้งนั้น และตอนนี้กำลังดำเนินการทางกฎหมายกับรีสอร์ทแห่งนี้อยู่

...

ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยว่า เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์จะละเมิดหรือไม่นั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีก่อนเเละต้องดูว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ถูกต้องตามลิขสิทธิ์หรือไม่ โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ปรับตั้งเเต่หนึ่งเเสนถึงแปดเเสนบาท จำคุกไม่เกินสี่ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เเละอีกเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นดังในโลกโซเชียลฯ ที่เจ้าของรีสอร์ทออกมาโฆษณารีสอร์ทในเรื่องของความสวยงามเเละสะดวกสบาย เเต่กลับมีสมาชิกเว็บไซต์เเห่งหนึ่งออกมาเเสดงความคิดเห็นลงในกระทู้ว่า ผิดกับความเป็นจริง ไม่ได้รับความสะดวกสบายอย่างที่เจ้าของรีสอร์ทกล่าวไว้ ถ้าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายถ้าผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกสบายอย่างที่กล่าวไว้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภค มีความผิดทั้งทางแพ่งเเละทางอาญา เรื่องของการโฆษณาเกินจริง สามารถไปร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค.