จนท.กรมอุทยานฯ ลงพื้นที่วัดป่าหลวงตาบัวที่กาญจนบุรีอีกครั้ง ตรวจสภาพความเป็นอยู่ของเสือโคร่งที่ฝากเลี้ยงไว้ พบเสือของกลาง 100 ตัว ตายไป 3 ตัว แต่ผสมพันธุ์กันจนปัจจุบันเพิ่มเป็น 144 ตัว ทางวัดใช้เงินเดือนละ 2 ล้าน ซื้อโครงไก่ต้มให้กิน...

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา นายเชิดชัย จริยะปัญญา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3 บ้านโป่ง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำเจ้าหน้าที่ สปป.ที่ 1 (ภาคกลาง) หน.อุทยานฯ ในพื้นที่กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพระศรีนครินทร์ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนา จ.กาญจนบุรี และสื่อมวลชน ร่วมลงพื้นที่ วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีพระวิสุทธิสารเถร หรือเจ้าคุณหลวงตาจันทร์ เป็นเจ้าอาวาสและประธานมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการดูแลเสือโคร่งของกลางของกรมอุทยานฯ

เมื่อเจ้าหน้าที่ และคณะสื่อมวลชน เข้าไปยังบริเวณวัด ทางเจ้าหน้าที่ของทางวัดได้เชิญไปยังโบสถ์เพื่อไปรับฟังข้อมูล จากนายสัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย สัตวแพทย์ผู้ดูแลเสือโคร่ง ซึ่งเป็นผู้นำคณะทั้งหมดเข้าตรวจสอบสภาพที่อยู่และรับทราบข้อมูล ส่วนท่านเจ้าคุณหลวงตาจันทร์ ติดภารกิจไม่อยู่ที่วัด

นายสัตวแพทย์สมชัย ได้ชี้แจงถึงที่มาในการรับเสือโคร่งมาดูแลว่า แรกเริ่มมีการรับเสือมาดูแลจำนวน 7 ตัว จากนั้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2544 กรมป่าไม้ โดยสำนักงานป่าไม้ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ได้ทำการตรวจยึดสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นของกลาง และฝากของกลางทั้งหมดไว้ให้ นายสัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย เป็นผู้ดูแลที่วัดฯ

...

ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 กรมอุทยานแห่งชาติฯ แจ้งว่าสัตว์ป่าของกลางนี้ได้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และให้วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จัดทำโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่า และดำเนินการตรวจสอบฝังไมโครชิพเสือโคร่งในวัดทุกตัว จำนวน 100 ตัว ซึ่งถึงขณะนี้มีเสือเสียชีวิตไป 3 ตัว เหลือเสือโคร่งของกลางอยู่ในความดูแลของมูลนิธิวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จำนวน 93 ตัว แต่ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์จนเพิ่มเป็น 144 ตัว

ต่อจากนั้น นายสัตวแพทย์สมชัย ได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บริเวณสถานที่เลี้ยงเสือโคร่ง และได้ให้พนักงานของทางวัดใช้เครื่องตรวจไมโครชิพที่ระบุ ชื่อ เพศ ของเสือ ให้เห็นว่าตรงตามข้อมูล พร้อมทั้งได้ดูสภาพความเป็นอยู่ของเสือโคร่งที่อยู่ในการดูแลของวัดอีกด้วย

ด้านนายเชิดชัย จริยะปัญญา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวว่า ได้เข้ามาตรวจเสือของกลางประจำปี โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อดูสภาพของกลางและสถานที่ในการเลี้ยงดู นำข้อมูลและภาพประกอบในการเลี้ยงดูเสือโคร่ง รายงานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อให้อธิบดีได้พิจารณาว่า ควรให้ทางวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งนี้ ดูแลเสือต่อไปหรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะรับมาดูแลเอง

"ในความเห็นส่วนตัวมองว่า สภาพเสือของกลางมีความสมบูรณ์ และหากกรมอุทยานฯ มีการเคลื่อนย้ายเสือไปดูแลเอง ก็จะต้องมีการเขียนโครงการและเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องงบประมาณในการเลี้ยงดู อย่างค่าอาหารที่ต้องซื้อไก่มาต้มให้สุกและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มีค่าใช้จ่ายตกประมาณอาทิตย์ละ 500,000 บาท รายจ่ายตรงนี้เท่ากับเดือนละ 2,000,000 บาท ตอนนี้มีเสือในบัญชี 144 ตัว ดังนั้น ทางมูลนิธิฯ จึงต้องเก็บเงิน เพื่อนำไปใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเสือทั้งหมด รวมถึงต้องจัดสถานที่ สร้างกรงเลี้ยง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีองค์ประกอบในการพิจารณา เพื่อความเหมาะสมต่อไป" นายเชิดชัยกล่าว.