สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....วาระ 1 แล้ว  ด้วยคะแนน 182-2 งดออกเสียง 5 

วันที่ 12 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีเนื้อหาที่มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับค้ำประกันและจำนอง

โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การค้ำประกันและจำนองเพื่อให้มีความเหมาะสมแก่การประกอบธุรกิจในปัจจุบัน สมควรกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ รวมทั้งสามารถทำข้อตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ หากเป็นสถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล สามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม และไม่มีสิทธิในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน

นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงิน หรือ ค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้ รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันร่างกฎ หมายมีผลใช้บังคับเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่กำไว้ก่อนดังกล่าว และกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไข

...

ที่ประชุมได้มีการลงมติเห็นชอบรับหลักการต่อร่างกฎหมายดังกล่าวโดยมีมติ เห็นด้วย 182 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยมีการตั้งคณะ กมธ. เพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าว 15 คน.