หน.อุทยานฯ กุยบุรี ยืนยัน มี "กระทิงแดง" ลูกผสมวัวแดงกับกระทิง ในป่ากุยบุรีหากินอยู่กับฝูง จนท.เจอตั้งแต่ช่วงที่มีกระทิงตาย ขณะที่ชาวบ้านทุ่งตะโก จ.ชุมพร เฮ กก.มีมติให้ "เจ้าเบิร์ด" กระทิงป่าหลงฝูง อยู่ผสมพันธุ์กับวัวบ้านต่อไป...

ตามที่อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกระทิงและวัวแดง ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับแจ้งมีกระทิงและวัวแดงในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีการผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์ 2 ชนิด แต่อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกัน คือ กระทิงตัวผู้ผสมพันธุ์กับวัวแดงตัวเมีย จนตั้งท้องตกลูกออกมาเป็นตัวเมีย มีลักษณะรูปร่างออกไปทางกระทิง และเดินตามฝูงกระทิงไปหากินตามที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีแค่วัวแดงผสมกับวัวบ้าน หรือกระทิงผสมกับวัวบ้านเท่านั้น

เพื่อความกระจ่างเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้สอบถามรายละเอียดกับ นายประวัติศาสตร์ จันทรเทพ หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรี ป่าที่พบวัวลูกผสมข้ามพันธุ์ ที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘กระทิงแดง’ อีกครั้ง นายประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดถึงกันตั้งแต่ช่วงก่อนที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งช่วงนั้นอุทยานฯ กุยบุรี กำลังมีปัญหากระทิงป่าตาย เมื่อออกไปเฝ้าดูฝูงกระทิง ก็จะเห็นวัวลูกสมผสมตัวนี้ อายุตอนนั้นประมาณ 3-4 ปี เจ้าหน้าที่จึงถ่ายรูปมา ซึ่งรูปที่ปรากฏในข่าวที่เป็นวัวสีแดง ตัวใหญ่ เขาโง้ง ก้นขาว ตัวนั้นไม่ใช่วัวลูกผสมวัวแดงกับกระทิง แต่เป็นวัวแดงตัวผู้ ส่วนลูกผสมหรือ ‘กระทิงแดง’ อย่างที่เรียกกัน จะเห็นในภาพที่ตัวเล็กกว่า เดินกินหญ้าอยู่ข้างฝูง

...

การตรวจสอบที่ดีที่สุด คือ ตรวจดีเอ็นเอ แต่คงไม่ไปไล่จับ หรือยิงยาสลบเพื่อเก็บเนื้อเยื่อ เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะกระทบกับฝูง ทางที่ดีที่สุด คือ เก็บมูลที่ยังใหม่นำมาตรวจ ส่วนความเป็นไปได้ของการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างวัวแดงกับกระทิงนั้น เป็นไปได้มากกว่า วัวบ้านผสมกับกระทิงเสียอีก เพราะวัวแดงกับกระทิงอยู่ในป่าเดียวกัน มีพื้นที่หากินเดียวกัน ที่ผ่านมาก็พบทั้งที่ห้วยขาแข้งและที่อื่นๆ" หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรี กล่าว

ส่วนกรณีที่มีกระทิงโทนเพศผู้ หลงฝูงมาอาศัยอยู่ที่สวนปาล์มหลังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุ่งตะโก ในหมู่ 8 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เป็นเวลากว่า 2 ปี และผสมพันธุ์กับวัวบ้าน จนมีลูกออกมาถึง 11 ตัว จนเป็นที่ฮือฮาของชาวบ้าน รวมถึงแวดวงนักวิชาการ ขณะเดียวกัน ได้มีข้อถกเกียงตามมาว่า กระทิงซึ่งเป็นสัตว์ป่า ควรจะอยู่ในป่า หรือจะให้อยู่ในหมู่บ้านตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง จนมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อหาทางออกกรณีดังกล่าวนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ก.พ. 58 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุ่งตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร คณะกรรมการที่จังหวัดชุมพร แต่งตั้งขึ้น ประกอบไปด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร พร้อมด้วยผู้นำชุมชน และตัวแทนชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้าน ใน อ.ทุ่งตะโก ที่กระทิงป่าหลงฝูงเข้าไปอาศัยอยู่ในชุมชน ร่วมกันประชุมเพื่อหาทางออก และข้อสรุปในกรณีดังกล่าว นำข้อคิดเห็นของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือกันนานกว่า 2 ชั่วโมง จึงสามารถหาข้อสรุปได้

ทั้งนี้ นายวิบูลย์ อาชานกูล ปลัดอำเภอทุ่งตะโก แถลงว่า ขณะนี้คณะกรรมการชุดที่จังหวัดชุมพรแต่งตั้งขึ้นและชาวบ้าน ได้มีมติให้กระทิงตัวดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ โดยจะให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ทำหนังสือเพื่อเสนอต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อขออนุญาตทำการศึกษาทางวิชาการ และจัดงบประมาณมาดูแลกระทิงป่าหลงฝูงตัวดังกล่าว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "เจ้าเบิร์ด" โดยต้องเป็นไปตามระเบียบของราชการ มีผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันดูแล

พร้อมกันนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังในระดับหมู่บ้าน มีนายประสาน ขาวสุข กำนันตำบลตะโก เป็นประธาน ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวจะคอยดูแลกระทิง โดยเฉพาะคอยประสานกับปศุสัตว์อำเภอทุ่งตะโก และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ชาวบ้านต้องการจะนำแม่วัวมาผสมพันธุ์กับกระทิง แม่วัวจะต้องผ่านการตรวจโรคก่อน และต้องเป็นไปตามระเบียบที่วางไว้เท่านั้น.