ศาลฎีกาพิพากษา ไม่จ่าย‘ค่าชดเชย’
ผู้พิพากษาเตือนอุทาหรณ์คนชอบแชต อาจซวย ถูกเลิกจ้างโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าได้ หากแชตเพลินในเวลางาน ยกคดีตัวอย่าง ที่ลูกจ้างฟ้องนายจ้าง เลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ระบุนายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้ตามกฎหมาย หากนำเวลางานไปคุยเล่นเรื่องส่วนตัว ส่งผลให้บริษัทนายจ้างได้รับความเสียหาย
อุทาหรณ์คนชอบแชตถูกนายจ้างเลิกจ้างได้ถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องนี้เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวเตือนพวกลูกจ้างที่ใช้โปรแกรมแชตต่างๆในเวลาทำงานอาจถูกเลิกจ้างจากนายจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกา สำนวนหนึ่งเป็นคดีตัวอย่าง เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีคดีที่ศาลแรงงานกลาง เลขคดีดำที่ 2564/2557 เมื่อ นางสาวดี (นามสมมุติ) เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทที (นามสมมุติ) จำกัด เรื่องคดีแรงงาน
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และไม่ได้บอกล่วงหน้า โจทก์ได้ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท โจทก์มีสิทธิ์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 59,000 บาท และขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขณะที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย เบียดบังเวลาทำงาน ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ทำงานในหน้าที่บกพร่องต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ การเลิกจ้างของจำเลยไม่ต้องบอกล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างโดยชอบธรรมขอให้ยกฟ้อง คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน
โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ทดลองงาน เมื่อวันที่ 25 ม.ค.53 กำหนด 3 เดือน ต่อมาวันที่ 2 เม.ย.53 จำเลยบอกเลิกจ้าง เนื่องจากโจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทจำเลยเล่นอินเตอร์เน็ตพูดคุยเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็มี ถือว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยในเรื่องไม่เกี่ยวกับงานทั้งที่อยู่ระหว่างการทดลองงาน โจทก์ทำงานด้านบัญชีจะต้องมีความละเอียดรอบคอบมิฉะนั้นจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วง โดยถูกต้องและสุจริต จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
...
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์ไม่ได้ผิดร้ายแรง และจำเลยไม่ได้รับความเสียหาย ศาลฎีกา เห็นว่าการอุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของจำเลยแชตในเรื่องส่วนตัวนั้น การวินิจฉัยประเด็นนี้ทำให้เห็นว่าจำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์นำเวลางานไปคุยเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน ทำให้งานในหน้าที่บกพร่องและล่าช้า เหตุดังกล่าวเชื่อมโยงกันมิใช่นอกประเด็นแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง
นายสราวุธกล่าวว่า คดีนี้ลูกจ้างทำหน้าที่ด้านบัญชีย่อมต้องใช้ความระมัดระวัง การที่ลูกจ้างใช้เวลางานไปแชตคุยเล่นเรื่องส่วนตัวในเวลางาน ทำให้บริษัทนายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างย่อมมีสิทธิ์บอกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า และจำเลยไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหาย กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ให้แก่บรรดาลูกจ้างทั้งหลายในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กให้รู้จักเวลาในการคุยแชตโปรแกรมต่างๆทางอินเตอร์เน็ต เพื่อไม่ให้กระทบเวลางาน ควรเล่นในเวลาที่เหมาะสม.