จากเหตุการณ์ หัวหน้า รปภ. หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก่อเหตุยิงลูกบ้านเสียชีวิต และยังทำร้ายร่างกายซ้ำ ขณะเดียวกันมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์ ก่อนก่อเหตุ ฝ่ายผู้เสียชีวิต ได้มีการทำร้ายฝ่ายผู้ต้องหาเช่นกัน โดยฝ่ายผู้ต้องหามีการกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำบันดาลโทสะ ทั้งนี้ คำให้การดังกล่าวมีน้ำหนักมากน้อยเพียงไร ข้อหาเจตนาฆ่าผู้อื่น และการบันดาลโทสะ มีหลักพิจารณาอย่างไร วันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะมาไขคำตอบ 

เจตนาฆ่าผู้อื่น ต้องดูที่พฤติการณ์ !!

ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความชื่อดัง อธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า เจตนาการฆ่า ต้องดูที่พฤติการณ์ เช่น คนสองคนไม่รู้จักกัน แต่เอาปืนเข้าไปยิงจนเขาเสียชีวิต หรือเพื่อหวังผลอย่างอื่น ถือว่าเข้าข่ายเจตนาฆ่า นอกจากนี้ ยังต้องสังเกตจากลักษณะทิศทางการยิง อาวุธที่ใช้ เช่น ยิงโดนศีรษะ หรือหัวใจ แต่ถ้าหากยิงถูกแขน ขา และเท้า ส่วนใหญ่จะเป็นเจตนาเพื่อการทำร้าย แต่ถ้าหากเกิดเสียชีวิตขณะที่ยิงโดนขา แขน ก็จะถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

...

แบบไหนถึงเรียกบันดาลโทสะ ?

ทนายวิรัช ให้ความรู้ว่า การบันดาลโทสะ ต้องอยู่บนความเหมาะสม อาทิ การถูกข่มเหงรังแก ทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น เห็นภรรยากำลังนอนกับผู้ชายอื่น แล้วเกิดอารมณ์โมโห จึงบันดาลโทสะนำปืนยิงจนเสียชีวิต หรือด่าบุพการี แล้วใช้อาวุธทำร้าย ก็ถือว่าเป็นการบันดาลโทสะเช่นเดียวกัน

ในส่วนของการต่อสู้กันแล้วบันดาลโทสะ ต้องเป็นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ไม่ใช่ว่ากำลังต่อยกันอยู่ แล้ววิ่งหนีออกมาหยิบปืนนำไปยิง ถือว่าเป็นอีกกรณีหนึ่ง และไม่เข้าข่ายการบันดาลโทสะ หรือจะเป็นกรณีการบันดาลโทสะใช้อาวุธปืนยิง แต่ยิงเข้าไปจนกระสุนหมด หรือมากกว่า 1 นัด ไม่สามารถอ้างเหตุผลว่าเป็นการบันดาลโทสะได้ หรือแม้กระทั่งในการใช้อาวุธปืนป้องกันตัว ขณะที่บางรายมีการชกต่อยกันธรรมดา แต่เกิดอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ก็อาจจะโดนข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

แบบไหนถึงจะเรียกทำไปเพื่อป้องกันตัว ?

ทนายวิรัช อธิบายเหตุการณ์ง่ายๆ ว่า ถ้าหากมีคนจะใช้ไม้มาตีเรา แต่เราชกหน้าเขากลับ หรือหยิบไม้จากมือเขามาตีกลับ ถือเป็นการป้องกันตัว หรือแม้กระทั่งจะมีคนมายิงเรา แล้วเราโต้ตอบด้วยการยิงปืนกลับ แล้วเขาเสียชีวิต ยังถือเป็นการป้องกันตัวเช่นกัน

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 ระบุว่า "ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"

ทนายความชื่อดัง กล่าวต่อว่า ถ้าหากมีคนจะมาชกเรา แต่เราคว้าปืนยิง ก็ถือว่าเป็นการป้องกันตัว แต่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ หรือแม้แต่การที่มีผู้ร้ายถือมีดจะทำร้าย แต่เราได้ตอบโต้จนผู้ร้ายไม่สามารถจะถือมีด หรือไม่สามารถจะทำร้ายเราได้อีกแล้ว ถือว่าอันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าเราไปทำร้ายซ้ำเติมอีก จะถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

เจตนาฆ่าผู้อื่น กับบันดาลโทสะ ต่างกันอย่างไร ?

ยกตัวอย่างกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เคยต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย ทำให้ขายหน้า และอับอาย จนทนไม่ได้ สุดท้ายเป็นเหตุให้ตำรวจชั้นผู้น้อยคว้าปืนยิงใส่จนเสียชีวิต ซึ่งเมื่อไปสู้กันในชั้นศาล ทนายจะยกการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต่อว่าทำให้อับอาย โมโห เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยจึงลงมือกระทำดังกล่าว ถือเป็นการบันดาลโทสะและท้ายที่สุดศาลได้สั่งยกฟ้อง

...

ทนายวิรัช อธิบายว่า ต้องแยกออกจากกัน เนื่องจากไม่ว่าคุณจะฆ่าเขาด้วยเจตนาอะไรก็ตาม คุณต้องโดนตั้งข้อกล่าวหาว่าเจตนาฆ่าผู้อื่น แต่การบันดาลโทสะ ถือเป็นคำให้การกับทางทนายความหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เพื่อทำการสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งถ้าหากมีเจตนาฆ่าผู้อื่น จะเข้าข่ายผิดมาตรา 288 คือมีโทษสูงสุดประหารชีวิต รองลงมาคือ ติดคุกตลอดชีวิต และสุดท้ายคือ จำคุก 15-20 ปี

"แต่ถ้าหากศาลวิเคราะห์เห็นว่าเป็นการกระทำการโดยบันดาลโทสะ ขั้นตอนการลดโทษ ต้องเป็นดุลยพินิจของศาล แต่ต้องจำคุกไม่เกิน 15 ปี หรือในบางรายที่ไม่เคยก่อเหตุ และศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี หรือไม่เกิน ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการรอลงอาญา และในช่วงของการรอลงอาญา ต้องไม่ไปสร้างความผิดอะไรเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ตาม การรับโทษถ้าหากศาลพิพากษาเห็นว่าเป็นการกระทำการโดยใช้บันดาลโทสะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลอีกเช่นเดียวกัน" ทนายความชื่อดังกล่าว

รปภ. พกอาวุธปืนได้ไหม ?

ทนายวิรัช เผยว่า กรณีของหน่วยรักษาความปลอดภัย หรือ รปภ. ไม่สามารถพกพาอาวุธปืนได้ นอกจากจะมีใบอนุญาต ซึ่งก็จะมีออกให้เฉพาะ ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือนบางรายที่มีความจำเป็นต้องใช้ อาทิ เจ้าของร้านทอง ทนายความ หน่วยงานของ อปพร. เป็นต้น แต่ถ้าหากในกรณีที่ไม่มีใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน แต่มีใบอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืน ถือเป็นอีกหนึ่งกรณี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องดูความเหมาะสม เช่น พกพาไปในพื้นที่สาธารณะ หมู่บ้าน หรือในยามวิกาล

รู้ไหม ครอบครองปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษหนัก คุก 3-5 ปี

ทนายวิรัช กล่าวต่อถึงกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ทั้งเจตนาหรือไม่ได้เจตนาว่า ยังมีพระราชบัญญัติอาวุธปืนที่ต้องโดนตรวจสอบ ถ้าหากมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องได้รับโทษความผิดของพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งต้องโทษจำคุก 3-5 ปี และมีความผิดโทษฐานใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะ หรือในชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งมีโทษจำคุก 10 วัน และปรับ 500 บาท

...