กูเกิลสานต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา จัด Digital for Education ใช้ยูทูบเติมความรู้นอกห้องเรียน ตั้งเป้าขยายเครือข่ายสถานศึกษาและผู้ประกอบการที่สนใจ เพิ่มโอกาสให้เยาวชน...
นายอริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ ประจำประเทศไทย กูเกิล กล่าวว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ทั้งสาระและประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลก ถือเป็นโอกาสดีที่จะเปิดกว้างโอกาสทางการศึกษาจากการเข้าถึงวิดีโอออนไลน์ผ่านยูทูบ ซึ่งกูเกิลก็มีโครงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิตอล อีโคโนมี โดยเห็นควรสนับสนุนให้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นเพื่อส่งผลไปยังนักเรียน นักศึกษาในประเทศไทย ระบบการศึกษาควรได้รับการปรับปรุง ซึ่งวันนี้ก็รู้สึกยินดีที่เกิดขึ้นจริงโดยเริ่มต้นจากพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมโครงการ Digital for Education กับกูเกิล
นายจอช เองเกล พันธมิตรด้านเนื้อหา ยูทูบ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ยูทูบสนับสนุนครูในฐานะผู้ใช้วิดีโอ เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลในการเรียนการสอนและพร้อมสนับสนุนให้ขยายสู่การเป็นผู้สร้างวิดีโอ เนื่องจากเชื่อว่าโครงการสนับสนุนในลักษณะดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนโฉมประสบการณ์การเรียนรู้ในประเทศไทย ซึ่งผู้เรียนทั่วโลกสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียมกันผ่านบริการยูทูบ
ส่วน นายวีรชัย มาตรหลุบเลา ครูชำนาญการพิเศษ วิชาดนตรี โรงเรียนบ้านหนองย่างงัว จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในอดีตวิดีโอเทปถูกนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกเวลาทุกสถานที่ จึงมีการนำวิดีโอเทปดังกล่าวมาอัพโหลดขึ้นสู่ยูทูบ พร้อมผสานรายละเอียดส่วนอื่น เช่น เนื้อหาการเรียนการสอน จนสามารถสร้างเป็นบล็อกสอนเป่าแคน ที่มีเนื้อหาให้ใช้งานได้ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นและระดับสูง ทำให้ทุกคนที่สามารถเข้าถึงยูทูบสามารถเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวได้จากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เยาวชนที่นำเสนอ ทั้งยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมดังกล่าวไปยังทั่วโลกได้อีกด้วย
นายวีรชาติ มาตรหลุบเลา ครูวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนโพนเมืองประชารัฐ “ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อนุสรณ์” จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากข้อจำกัดของอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลทำให้ทางโรงเรียนไม่สามารถมีและใช้อินเทอร์เน็ตได้ในจำนวนมาก แต่ในช่วงที่มือถือเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนและมีความเร็วอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ยูทูบในการเข้าถึงข้อมูลและต้องดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ ก็มีการพัฒนาสู่การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเด็กได้มีโอกาสใช้ความรู้และเทคโนโลยีผสมผสานกันก็จะทำให้เกิดการวิเคราะห์และเชื่อมโยงความรู้ที่ได้ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และคิดอย่างสร้างสรรค์จากองค์ความรู้ของเด็กๆ ได้ดี
นายสวรรค์ ดวงมณี ครูชำนาญการพิเศษ วิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในฐานะผู้สอนคอมพิวเตอร์ ในอดีตยังมีข้อจำกัดอยู่มาก การเรียนการสอนในวิชาคอมพิวเตอร์ยังคงเป็นตัวหนังสือ ภาพนิ่ง และเสียง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาและมีเครื่องมือในการสอนได้หลากหลายขึ้น เช่น สมาร์ทคลาสรูม ซึ่งทำให้เด็กสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการต่อยอดความคิดและความรู้ได้มากขึ้น
นายนิติการณ์ ประกอบธรรม ผู้ก่อตั้งออมสกูล (Orm School) กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเสริมสร้างความรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชน จนเป็นที่มาของคลิปวิดีโอความรู้ของ Orm School ซึ่งเราพยายามสร้างเนื้อหาอย่างครอบคลุมหลากหลายหลักสูตรการเรียน โดยปัจจุบันมีจำนวนคลิปวิดีโอบนยูทูบแล้วกว่า 10,000 คลิป และยังได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากเยาวชนในการเข้าชมเนื้อหา ทำให้ยอดคลิกชมวิดีโอต่างๆ นั้นสูงถึง 43,584,217 นาที เมื่อนำความยาวทั้งหมดมารวมกัน เราจึงตั้งเป้าหมายสร้างคลิปเพื่อความรู้ให้ครบ 1 แสนคลิปในเร็วๆ นี้ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มเติมความรู้ให้แก่เด็กๆ
นางสาววรินทร์เนตร เติมศิริกมล ผู้ร่วมก่อตั้ง Choc Chip สถานีออนไลน์ของเยาวชนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กๆ สามารถเข้าถึงเนื้อหาและวิดีโอออนไลน์ได้โดยง่าย จากแนวคิดดังกล่าวจึงก่อเกิดเป็นช่อง Choc Chip บนยูทูบ เพื่อให้มีสถานีโทรทัศน์ออนไลน์สำหรับเด็ก ซึ่งพ่อแม่สามารถไว้วางใจปล่อยให้ลูกรับชมได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเนื้อหาซึ่งมีทั้งความบันเทิงและสาระเพื่อเด็กๆ ทั้งยังสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้จากทุกที่ทุกเวลา
ด้านสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ และเป็นผู้พัฒนาคอนเทนต์ อย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนายกิติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากจำนวนนักศึกษากว่า 40,000 คน และหลักสูตรการเรียนกว่า 330 หลักสูตร แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนไปด้วย โดยมหาวิทยาลัยได้นำ Google Apps foe Education มาใช้สนับสนุนการเรียนการสอน และปัจจุบันยังมีเนื้อหาวิดีโอราว 1,000 รายการอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เราเผยแพร่ไปบนยูทูบนี้ได้ขยายไปสู่บุคคลภายนอก รวมถึงผู้ที่เห็นประโยชน์จากการใช้ข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังมีแนวคิดที่จะจัดสร้างไลบรารี่ ฟอร์ ออลล์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของคนในอนาคตที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตอีกด้วย
นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนภายใต้ชื่อ Chula Engineering Education 4.0 ซึ่งอาจารย์จะมีบทบาทเป็นผู้ให้บริการ คอยสร้างแรงบันดาลใจและให้ความสำคัญกับบริบทในการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้นิสิตไปค้นคว้าต่อและสร้างนวัตกรรมออกมา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
นายอภิเทพ แซ่โค้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เรามีความเชื่อว่าเทคโนโลยีออนไลน์จะสามารถเพิ่มพูนศักยภาพด้านการศึกษาได้ จึงได้สร้าง StamfordEDU Youtube Channel เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซึ่งนำเสนอเนื้อหาความรู้ที่แตกต่างจากการเรียนภายในห้องเรียน สอดคล้องกับการสนับสนุนองค์ความรู้นอกห้องเรียน.
...